เส้นทางการประพันธ์ ของ วัฒน์_วรรลยางกูร

ในด้านการประพันธ์ เนื่องจากมีโอกาสอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็ก เพราะใกล้ชิดคุณตาที่ชอบอ่านหนังสือมวยและมีนวนิยายอยู่มาก ส่วนบิดาอ่านนิตยสารคุณหญิงที่มีคอลัมน์ “แวดวงกวี” เมื่อเรียนอยู่ชั้นประถมปีที่ 7 จึงเริ่มเขียนกลอนรักให้เพื่อนนักเรียนหญิง ต่อมาได้ออกหนังสือเพื่ออ่านกันในห้องเรียน เป็นหนังสือเขียนด้วยลายมือโดยเป็นผู้เขียนบทบรรณาธิการบริหาร อีกทั้งยังได้เขียนเรื่องสั้นไปลงในหนังสือโรเนียวของโรงเรียนที่ครูมีส่วนร่วมจัดทำขึ้น ใช้นามปากกา “วัฒนู บ้านทุ่ง” พร้อม ๆ กันนั้นได้ส่งผลงานทั้งกลอนและเรื่องสั้นไปยังนิตยสารชัยพฤกษ์ ฟ้าเมืองไทย ฯลฯ

แม้ระยะแรกไม่ได้ลงพิมพ์ แต่ก็ยังเขียนให้เพื่อน ๆ อ่าน จนในที่สุด เรื่องสั้นชื่อ “คนหากิน”ได้ลงพิมพ์เป็นครั้งแรกในหนังสือ ยานเกราะ เมื่อ พ.ศ. 2513 หลังจากส่งไปให้พิจารณาทั้งหมด 4 เรื่อง และแม้ว่าบรรณาธิการจะแก้ไขมากมาย แต่ก็ทำให้มีกำลังใจเพิ่มขึ้น จากนั้นไม่นาน ผลงานกลอนที่ส่งไปประกวดได้ลงพิมพ์ในนิตยสาร ชัยพฤกษ์ และเรื่องสั้นชื่อ “มุมหนึ่งของเมืองไทย”ได้ลงพิมพ์ใน “เขาเริ่มต้นที่นี่”ของนิตยสาร ฟ้าเมืองไทย ที่มีอาจินต์ ปัญจพรรค์ เป็นบรรณาธิการ ขณะนั้นเป็นช่วงปิดภาคเรียนชั้นมัธยมปีที่ 2

หลังจากนั้น มีผลงานกลอนและเรื่องสั้นเผยแพร่ตามนิตยสารต่าง ๆ มากขึ้น เช่น ฟ้าเมืองไทย ชาวกรุง ลลนา ฯลฯ ในนาม “วัฒน์ วรรลยางกูร” (ชื่อเดิม “วีรวัฒน์” ต่อมาเมื่อนามปากกาเป็นที่รู้จักแพร่หลาย ประกอบกับมีปัญหาเรื่องการเบิกค่าเรื่องจึงแก้ไขชื่อในบัตรประชาชน) ระหว่างที่เรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงได้มีโอกาสคลุกคลีกับมิตรสหายในแผนกวรรณศิลป์ ได้รู้จักกับนักเขียนนักกิจกรรมหลายคน และได้รับคำแนะนำให้ไปทำหนังสือพิมพ์อธิปัตย์ ของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2517 จึงได้ฝึกฝนเขียนข่าว บทความ สารคดี เรื่องสั้นและนวนิยายเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะได้เขียนคอลัมน์ประจำชื่อ “ช่อมะกอก” ใช้นามปากกา “ชื่นชอบ ชายบ่าด้าน” ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นเรื่องชุดในชื่อ “ตำบลช่อมะกอก”และกลายเป็นนวนิยายเรื่อง “ตำบลช่อมะกอก”ในที่สุด รวมทั้งมีผลงานรวมเรื่องสั้นและบทกวีพิมพ์ต่อเนื่องมาอีก ๒ เล่มคือ “นกพิราบสีขาว” (พ.ศ. 2518) และ “กลั่นจากสายเลือด” (พ.ศ. 2519) ทำให้ชื่อเสียงของวัฒน์ วรรลยางกูร เป็นที่รู้จักของคนหนุ่มสาวเดือนตุลา (14 ตุลาคม 2516-6 ตุลาคม 2519) อย่างกว้างขวาง

เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองในเหตุการณ์ 6 ตุลารุนแรงมาก นักศึกษาที่ชุมนุมอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถูกทำร้ายอย่างโหดเหี้ยม วัฒน์ วรรลยางกูร ที่ร่วมชุมนุมด้วย จึงต้องหนีภัยการเมืองเข้าไปอยู่ในป่า ในช่วงนั้นได้มีโอกาสเขียนเรื่องสั้น บทกวี และนวนิยายมากมาย และมีผลงานรวมเล่มออกมา 3 เล่มคือ รวมเรื่องสั้นและบทกวี 2 เล่ม คือ “ข้าวแค้น” (พ.ศ. 2522) กับ “น้ำผึ้งไพร” (พ.ศ. 2523) ส่วนเล่มที่ 3 เป็นนวนิยายชื่อ “ด้วยรักแห่งอุดมการณ์” (พ.ศ. 2524)

พ.ศ. 2524 หลังจากสถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลายลง วัฒน์ได้กลับคืนสู่เหย้ามาใช้ชีวิตนักเขียน โดยเริ่มต้นที่การประจำทำงานหนังสือพิมพ์มาตุภูมิ ไฮคลาส และถนนหนังสือ หลังจากทำได้ประมาณ 1 ปีก็ลาออกมาเป็นนักเขียนอิสระเต็มตัว เขียนนวนิยายเรื่อง “คือรักและหวัง” และ “จิ้งหรีดกับดวงดาว” ตีพิมพ์ในนิตยสารลลนา รายปักษ์ เรื่อง“บนเส้นลวด” ตีพิมพ์ในนิตยสารสตรีสารรายสัปดาห์ เรื่อง “มนต์รักทรานซิสเตอร์” ตีพิมพ์ในบางกอก เรื่อง “เทวีกองขยะ” ตีพิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์ เป็นต้น หลังจากตีพิมพ์ในนิตยสารแล้ว เรื่องเหล่านั้นก็ยังได้รวมเล่มอีกหลายครั้งในโอกาสต่อมา นอกจากนี้ ยังมีผลงานเรื่องสั้น สารคดี และบทสัมภาษณ์ตีพิมพ์ในนิตยสารต่าง ๆ อีกมาก

พ.ศ. 2525 เรื่องสั้นชื่อ ความฝันวันประหาร ได้รับการเลือกสรรจากสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ให้เป็นเรื่องสั้นดีเด่นประจำปี หลังจากใช้ชีวิตนักเขียนและช่วยงานนิตยสารหลายฉบับ ได้ไปทำธุรกิจค้าวัสดุก่อสร้างกับภรรยาที่จังหวัดกาญจนบุรีอยู่ระยะหนึ่ง และวนเวียนกลับไปทำงานนิตยสารอีกครั้งหนึ่ง เป็นคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน เป็นบรรณาธิการบริหารนิตยสาร Good Life เป็นต้น และเนื่องจากเคยแต่งเพลงให้คนอื่นร้องไว้หลายเพลง จึงทดลองแต่งและเป็นนักร้องออกเทปเพลงของตนเองไว้หลายชุด แต่ก็ยังคงยึดงานประพันธ์เรื่องสั้น นวนิยาย บทกวี สารคดี ความเรียง และอื่น ๆ เป็นหลักเรื่อยมา

พ.ศ. 2550 กองทุนศรีบูรพามอบรางวัลนักเขียนรางวัลศรีบูรพาให้กับวัฒน์