ประวัติ ของ วัดขนอน

ก่อนจะมาเป็น "วัดขนอน"

วัดขนอน แต่เดิมสร้างมาสมัยใดไม่ปรากฏหลักฐาน จากคำบอกเล่ากล่าวว่าบริเวณริมแม่น้ำซึ่งเป็นหน้าวัดเป็นที่ตั้งด่านเก็บภาษีอากรมีพื้นที่ค้าขายและตลาดแลกเปลี่ยนสินค้า ภายในบริเวณวัดมีนกนานาชนิด โดยเฉพาะ นก กา ลิงและชะนีตลอดจนสัตว์ป่าต่าง ๆ บริเวณโดยรอบวัดเป็นป่าไม้เต็ง ไม้แดง ไม้ยางขึ้นรกครึ้มพอค่ำลงบรรดานก กา ลิง ค่าง ก็จะพากันมาเกาะกิ่งไม้เต็มไปหมด ชาวบ้านจึงพากันเรียกว่า “วัดกานอนโปราวาส” ในปี พ.ศ. ๒๔๕๒ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสต้น ณ มณฑลราชบุรี ทรงบันทึกไว้ในพระราชหัตถเลขา ฉบับที่ ๒ เมื่อวันที่ ๒ กันยายน ร.ศ. ๑๒๘ ตอนหนึ่งความว่า.......พระราชหัตถเลขาตอนนี้แสดงให้เห็นถึงสภาพของวัดวาอารามต่าง ๆ ในมณฑลเมืองราชบุรี ยกเว้นในเมืองราชบุรีซึ่งไม่ถูกผลกระทบของสงคราม คงจะรกร้างหรือเกือบร้าง หรือพังทลายเสียหาย ทิ้งรกรุงรังเป็นส่วนใหญ่ ชาวบ้านเองคงปลูกบ้านห่างวัดมาก และคงไม่ค่อยมีใครสนใจหรืออยากเข้าไปใกล้วัดร้างด้วยเหตุผลของ ความกลัว และวัดร้างในลักษณะนี้ นก กา ลิง ค่าง บ่าง ชะนี หรือแม้แต่สัตว์ป่า จึงกล้ากรายเข้ามาใกล้หรืออาศัยหลับนอน นานไปผู้คนก็คงจะลืมเลือนแม้กระทั่งชื่อวัด โดยเฉพาะวัดขนอนที่รกร้างมากว่า ๑๐๐ ปี สันนิษฐานวาชาวบ้านคงเรียกตามสภาพที่เห็นว่า “วัดกานอนโปราวาส” หรือ “กานอน” เข้าใจง่ายว่าเป็นที่กานอน ส่วนคำว่า โปราวาส (หมายถึงสถานที่โบราณ) มาเติมเป็นสร้อยข้างท้ายนั่นคือ “วัดกานอนโปราวาส” และคงไม่ใช่ชื่อจริงของวัดอย่างแน่นอน

วัดขนอนสร้างขึ้นในปีพุทธศักราช ๒๓๒๗ หรือก่อนหน้านั้น เดิมชื่อวัด "กานอน" แต่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า วัดกานอน ด้วยเหตุที่มีชื่อเช่นนี้เพราะว่า ที่ดินบริเวณนี้มีป่าไม้แดง ไม้ยาง และมีสัตว์นานาชนิดอาศัยอยู่ ได้แก่ เสือ เก้ง กวาง เม่น ลิง ค่าง บ่าง ชะนี นกพันธุ์ต่าง ๆ เช่น นกอ้ายงั่ว นกกาบบัว เป็นต้น แต่มีนกชนิดหนึ่งซึ่งมีจำนวนมากคือ นกกา ในเวลากลางวันจะบินไปอาหารตามลำน้ำแม่กลอง และพักเกาะตามต้นไม้ในวัดซึ่งอยู่ใต้วัดขนอนนี้ประมาณ ๒ กิโลเมตร ในตอนเย็นมักจะกลับมานอนที่วัดขนอน ผู้คนจึงเรียกวัดที่นกกาไปเกาะนี้ว่า วัดกาเกาะ และวัดที่กาไปนอนนี้ว่า "วัดกานอน"

ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มักมีข้าราชการทั้งผู้น้อยผู้ใหญ่มาสำรวจและว่าออกว่าราชการในพื้นที่แถบอำเภอโพธารามบ่อย ๆ และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเสด็จประพาสต้นทางชลมารค จากไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรีเสด็จตามลำน้ำแม่กลอง ผ่านตลาดบ้านโป่งผ่าน ตลาดโพธารามจนถึงเมืองราชบุรีท่านพระครูศรัทธาสุนทร (หลวงปู่กล่อม) เจ้าอาวาสวัดขนอน ในขณะนั้นได้กล่าวว่า "อายหลวงท่านว่า ชื่อวัดวาอารามยังเอาชื่อสัตว์มาตั้ง เห็นควรให้เปลี่ยนชื่อจะดีกว่า" ดังนั้นด้วยเหตุนี้ "วัดกานอน" จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น "วัดขนอนโปราวาส" ตามสถานที่ที่คอยดักเก็บอากรที่ผ่านเขตซึ่งอยู่ติดกับวัดนั่นเอง ประกอบกับชื่อ "ขนอน" ออกเสียใกล้เคียงกับคำเรียกเดิมจึงไม่มีผู้ใดคัดค้าน และชาวบ้านมักเรียกสั้น ๆ ว่า "วัดขนอน" และวัดกาเกาะ ก็เปลี่ยนเป็นวัดเกาะในปัจจุบัน

ใกล้เคียง