อาคารเสนาสนะ ของ วัดป้านปิง

อาคารเสนาสนะที่สำคัญ ได้แก่ วิหารสร้างเมื่อ พ.ศ. 2024 ศิลปะล้านนา วิหารเคยเกิดไฟไหม้จึงได้สร้างวิหารหลังใหม่ภายหลัง มีซุ้มโขงหน้าวิหาร มีรูปปั้นลักษณะจีน เป็นรูปพญานาคสองตัวหางพันกัน เหนือขนดลำตัวสองฟากเป็นยอดเขาหิมพานต์ พร้อมพระอาทิตย์ พระจันทร์ อุโบสถมีหลักศิลาจารึกที่มีลักษณะใบเสมา ทำจากหินทรายสีเทา ด้านหน้าพระอุโบสถ เป็นสถูปบรรจุอัฐิหลวงพ่อพระครูสังฆกิจวิรุฬห์ (สิงห์คำ ธมฺมทินฺโน) อดีตเจ้าอาวาสวัดป้านปิง[1]

เจดีย์ที่สร้างมาตั้งแต่ต้น เป็นแบบฐานสูงย่อมุมไม้ 28 ทรง 12 เหลี่ยม มีฐานกว้าง 10.20 เมตร สูงประมาณ 25 เมตร เจดีย์เป็นทรงแบบล้านนาฝีมือช่างหลวง ปูชนียวัตถุที่สำคัญ ได้แก่ พระเพชรสิงห์หนึ่ง เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยโลหะสัมฤทธิ์ทั้งสององค์ องค์พระประธานประทับนั่งแบบสมาธิเพชรปางมารวิชัย ด้วยฝีมือช่างหลวงยุคต้นของล้านนา หน้าตักกว้าง 1.70 เมตร องค์รองด้านขวาหน้าตักกว้าง 1.30 เมตร และวัดได้ขุดพบดินจี่ฮ่อฐานกุฏิ เป็นอิฐเผาที่เชื่อกันว่าช่างล้านนาเรียนรู้มาจากจีนฮ่อ มณฑลยูนานที่ติดต่อค้าขายกับอาณาจักรล้านนาในยุคต้น ๆ มีประมาณ 20 ก้อน ที่อยู่สภาพดี แต่ละก้อนยาว 60 เซนติเมตร กว้างและหนา 28 เซนติเมตร[2]