ข้อวินิจฉัยในศิลาจารึก ของ วัดศรีชมภูองค์ตื้อ

ในหลักศิลาจารึกข้อที่ 1 ว่า สร้างเมื่อ พ.ศ. 105 นั้น ขัดต่อความเป็นจริง เพราะพระพุทธศาสนาเริ่มแพร่เข้ามาในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 300 ล่วงแล้วเลข พ.ศ. ข้างหน้าที่ลบเลือนนั้นคงจะเป็น พ.ศ. 2150 เพราะในระหว่าง พ.ศ. 2105 อยู่ในระยะรัชสมัยของพระไชยเชษฐาแห่งเมืองเวียงจันทร์ ซึ่งเป็นระยะไล่เลี่ยกันกับที่พระไชยเชษฐา ได้ร่วมกับกรุงศรีอยุธยาสร้างเจดีย์ ศรีสองรักษ์ขึ้นที่อำเภอด้านซ้าย ในจังหวัดเลย ปัจจุบันนี้ก็ยังคงอยู่พอจะอนุมานได้ว่า ผู้สร้างวัดศรีชมภูองค์ตื้อ คงเป็นพระเจ้าชัยเชษฐาแน่

ในศิลาจารึกข้อที่ 2 ที่ว่าพระชัยเชษฐาเป็นลูกพระยาศรีสุวรรณนั้น ขัดกับพระราชพงศาวดาร เพราะพระชัยเชษฐาธิราช ซึ่งเป็นเจ้าผู้ครองเวียงจันทร์นั้น เป็นบุตรพระยาโพธิสาร ดังแจ้งในพงศาวดาว่าพระยามหาพรหมราช เจ้าเมืองเชียงใหม่ถึงแก่พิลาลัยเมื่อ พ.ศ. 2082 พระโอรสทรงนามว่า เจ้าทรายดำ ได้ครองเชียงใหม่อยู่ 3ปีก็ทิวงคต ไม่มีโอรสราชนัดดาสืบสันติวงศ์ เสนาบดีเมืองเชียงใหม่ลงไปเฝ้าพระเจ้าล้านช้าง พระเจ้าล้านช้างพร้อมเจ้าเชษฐาวงศ์ ไปเยี่ยมพระศพถึงเชียงใหม่ และต่อมาในปี พ.ศ. 2091 เสนาพฤฒามาตย์พร้อมกันยกราชสมบัติให้เจ้าเชษฐวงศ์เป็นเจ้าเชียงใหม่ ทรงพระนามว่าพระชัยเชษฐาธิราช พระยาโพธิสารเสด็จกลับหลวงพระบางได้ 2 ปี ก็ทิวงคตในปี พ.ศ. 2093 พระชัยเชษฐษธิราชจึงกลับไปครองนครล้านช้าง (จากหนังสือฝั่งขวาแม่น้ำโขง) ข้อนี้ไม่มีหลักฐาน พระยาศรีสุวรรณกัลป์พระยาโพธิสารอาจเป็นคน ๆ เดียวกันก็ได้

ในศิลาจารึกข้อที่ 3 ว่า พระชัยเชษฐาเกิดที่เมืองเวียงคุก ไม่น่าเป็นไปได้ เพราะพระยาโพธิสารธรรมมิกราชบิดาครองราชย์สมบัติอยู่ที่นครล้านช้าง หลวงพระบาง พระชัยเชษฐาต้องเกิดที่ล้านช้าง ส่วนเวียงคุกนั้นมาเจริญรุ่งเรืองขึ้นทีหลัง เมื่อพระเจ้าชัยเชษฐาได้ขึ้นครองราชย์สมบัติที่เวียงจันทน์แล้ว แล้วที่ว่าภรรยาเกิดที่เมืองจำปาน้ำโมงนั้นไกลความจริงมาก เพราะพระอัครมเหสีของพระเจ้าชัยเชษฐเป็นธิดาพระเจ้าเชียงใหม่ หรือว่าจะเป็นภรรยาน้อย ข้อนี้ไม่มีหลักฐานยืนยัน

ในศิลาจารึกข้อ 4 ชื่อวัดว่า “วัดโกศีล”นั้นน่าจะเป็นโกสีย์มากกว่า แต่ปัจจุบันนี้ ชื่อวัดศรีชมภูองค์ตื้อ

ในศิลาจารึกข้อ 5 เขตวัดทางยาวและทางกว้างแคบกว่าที่กล่าวไว้ในศิลาจารึก ทั้งนี้เข้าใจว่า ทางหน้าวัดน้ำเซาะทางทิศเหนือและทิศใต้ให้แคบลง (เมื่อปี พ.ศ. 2489) ได้ตรวจสอบวัดดูปรากฏว่า แคบไม่ตรงกับศิลาจารึกแต่ปัจจุบันนี้ทางวัดได้ซื้อขยายออกไปมากแล้วทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันตก

ในศิลาจารึกข้อ 6 ว่า กงจักรเกิดขึ้นนั้น คงมีรูปกงจักรอันเป็นรูปธรรมจักร ซึ่งมีตามวัดเก่า ในสมัยก่อน แต่ปัจจุบันนี้หาดูไม่ได้แล้ว

ในศิลาจารึกข้อ 7 พระชัยเชษฐามีบริวารถึง 500 นี้ ต้องเป็นที่เชื่อได้ว่าเป็นพระชัยเชษฐาผู้ครองนครเวียงจันทน์แน่ การนับน้ำหนักและจำนวนในสมัยก่อนนั้น เขานับ สิบ-ร้อย-พัน-หมื่น-แสน-ล้าน-โกฏิ-ตื้อ แต่ถ้าหมายถึงจำนวน ก็เติมอะสงไขยเข้าไปอีกเป็นอันดับสุดท้าย เพราะฉะนั้น คำว่า ตื้อ จึงเป็นน้ำหนักที่มากที่สุดแล้ว การสร้างพระมานานถึง 7 ปี 7 เดือน เห็นจะรวมน้ำหนักที่แน่นอนไม่ได้ พระก็องค์ใหญ่ที่สุดในสมัยนั้น สร้างก็ยาก หมดเปลืองก็มาก เพื่อให้สมกับความยากลำบากจึงกำหนดเอาว่า สร้างด้วยทองหนัก 1 ตื้อ ซึ่งความจริงสมัยนั้นจนถึงสมัยนี้ก็ไม่มีใครรู้จริง ๆ ว่า โกฏิและตื้อนั้นมีค่าเท่าใดกันแน่ คงนับกันไปอย่างนั้นเอง การหล่อพระศักดิ์สิทธิ์ มักจะเป็นพระอินทร์หรือตาปะขาวมาช่วยจึงสำเร็จ ทั้งนี้เพราะเหตุผล 2 ประการ คือ ประการแรกต้องการจะให้คนนับถือ ประการที่สองสมัยนั้น คนดีมีวิชาอยู่ไม่ค่อยได้ เพราะจะถูกรังแก จึงแกล้งปกปิดไว้ว่า เป็นเทวดามาหล่อ

ในศิลาจารึกข้อ 8 ว่า วัดโกศีลตั้งอยู่ริมน้ำโขงนั้น เป็นความจริง เพราะตามธรรมดาแม่น้ำย่อมคดเคี้ยว และเกิดมีคุ้งน้ำขึ้น น้ำโขงซึ่งกว้างราว 1 กม.เศษ ไหลผ่านศรีเชียงใหม่ พุ่งไปปะทะตอนใต้นครเวียงจันทน์ จินายโม่และบ่อโอทะนา เมื่อปะทะฝั่งลาวแล้ว กระแสน้ำก็กลับพุ่งมาปะทะฝั่งไทยตอนใต้ท่าบ่อ กระแสน้ำจะไหลปะทะสลับฝั่งกันเช่นนี้เรื่อยไป เมื่อถึงหน้าน้ำราว ๆ เดอน 7-9 น้ำจะเต็มฝั่งหรือล้นฝั่ง กระแสน้ำในแม่น้ำโขงจะไหลเชี่ยวเร็วประมาณ 15.20 กม. ทีเดียวฝั่งที่ถูกปะทะก็จะพัง ฝั่งตรงข้ามตอนใต้คุ้งน้ำ น้ำจะไหลค่อยและวน ดินจะตกตะกอนเมื่อน้ำลดก็จะเกิดเป็นดินงอกทุกปี วัดน้ำโมงก็เช่นเดียวกัน เดิมตั้งอยู่ริมโขงจริง แต่อยู่ใต้คุ้งน้ำตรงข้ามกับจินายโม่และบ่อโอทะนา ดินหน้าวัดจึงงอกออกเรื่อยมาเราจึงเห็นกันว่า วัดน้ำโมงจะอยู่ห่างจากตลิ่งแม่โขงไปทุกทีอย่างเช่นทุกวันนี้

ในศิลาจารึกข้อ 9 เมื่อหล่อแล้วมีอภินิหารเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ถึง 100 อย่างนั้น ในข้อนี้ ความเชื่อถือของชาวเมืองเชื่อมั่นว่า มีผีหรือเทวดารักษา คนนับถือมาก บางคนเจ็บไข้ได้ป่วยไปขอน้ำมนต์มากินก็หายได้ คนไม่มีลูกไปขอก็มีได้ อะไรต่อมิอะไรร้อยแปดมากกว่า 100 อย่างเสียอีก

ในศิลาจารึกข้อ 10 ว่า การสร้างสิ้นเงินไปถึง 105,000 ชั่ง แต่ถ้าจะคิดถึงค่าราคาแห่งพระพุทธรูปงามองค์นี้ ในปัจจุบันแล้วมีค่าเหลือที่จะคณานับได้ เมื่อผู้ใดเข้าไปใกล้เฉพาะพระพักตร์แล้ว จะหายทุกข์โศกทันที พระพักตร์อมยิ้มนิด ๆ พระเนตรลืมสนิท พระนลาฏกว้างพระร่างอูม ส่วนพระกายนั่งตรงได้ส่วนสัด ประทับอยู่ในท่าสงบ ผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก ทำให้ผู้ได้พบเห็นองค์พระองค์ตื้อ เกิดมโนภาพคล้าย ๆ เข้าไปนั่งอยู่เฉพาะพระพักตร์ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำให้เกิดความปีติและมีศรัทธาขึ้นทันที อันเป็นธรรมาภินิหารเกิดขึ้นแก่ผู้ที่ได้พลเห็น ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีค่ายิ่งกว่าสมบัติใด ๆ ที่ท่านโบราณาจารย์วางราคาไว้ถึง 105,000 ชั่ง ข้าพเจ้าคิดว่ายังถูกไป

ในศิลาจารึกข้อ 11 นั้น แสดงให้เห็นว่า เป็นวัดซึ่งพระเจ้าชัยเชษฐาเป็นผู้สร้างแน่ เพราะมีบริวารถึง 13 บ้าน วัดที่จะมีบริวารได้ต้องเป็นวัดหลวง ชาวบ้านเหล่านั้นต้องส่งส่วยแก่วัดโดยไม่ต้องกระทำกิจใด ๆ แก่ทางราชการ คงเป็นแต่ข้าของพระองค์ตื้อ เช่นเดียวกับข้าพระธาตุพนม ซึ่งยังคงถือเป็นประเพณีมาจนทุกวันนี้ ในวันเทศกาลนมัสการพระองค์ตื้อ ชาวบ้านที่เป็นข้าจะต้องนำเครื่องมาสักการบูชา ถ้ามิฉะนั้น ผีหรือเทวดาผู้รักษาจะลงโทษ


ใกล้เคียง

วัดศรีชุม (จังหวัดสุโขทัย) วัดศรีสุดารามวรวิหาร วัดศรีชมภูองค์ตื้อ วัดศรีโคมคำ วัดศรีธรรมาราม (จังหวัดยโสธร) วัดศรีสุริยวงศารามวรวิหาร วัดศรีบุญเรือง (กรุงเทพมหานคร) วัดศรีเอี่ยม วัดศรีมหาโพธิ์ (จังหวัดสุโขทัย) วัดศรีสุพรรณ (จังหวัดเชียงใหม่)