ประวัติหลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อ ของ วัดศรีชมภูองค์ตื้อ

พระพุทธรูปองค์นี้ได้ก่อสร้างมาแต่ดึกดำบรรพ์มีพระรูปงดงามน่าเลื่อมใส สร้างในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชครองเมืองเวียงจันทร์ พระสงฆ์ในวัดศรีชมภูองค์ตื้อได้ประชุมปรึกษาหารือกัน ลงมติจะหล่อพระพุทธรูปองค์นี้ขึ้นในบ้านน้ำโมง (เดิมเรียกว่าบ้านน้ำโหม่ง) เพื่อเป็นที่เคารพสักการะแก่อนุชนรุ่นหลังต่อ ๆ มา เมื่อตกลงกันแล้วจึงได้ชักชวนบรรดาพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย เพื่อเรี่ยไรทองเหลืองบ้าง ทองแดงบ้าง ตามแต่ผู้ที่มีจิตศรัทธาจากท้องที่อำเภอและจังหวัดใกล้เคียง ได้ทองหนักตื้อหนึ่ง (มาตราโบราณภาคอีสานถือว่า 100 ชั่งเป็นหมื่น 10 หมื่นเป็นแสน 10 แสนเป็นล้าน 10 ล้านเป็นโกฏิ 10 โกฏิเป็นหนึ่งกือ 10 กือเป็นหนึ่งตื้อ) พระสงฆ์และชาวบ้านจึงพร้อมกันหล่อ เป็นส่วน ๆ ในวันสุดท้ายเป็นวันหล่อตอนพระเกศ ในตอนเช้าได้ยกเบ้าเทแล้วแต่ไม่ติด เมื่อเอาเบ้าเข้าเตาใหม่ ทองยังไม่ละลายดีก็พอดีเป็นเวลาจวนพระจะฉันเพล พระทั้งหมดจึงทิ้งเบ้าเข้าเตาหรือทิ้งเบ้าไว้ในเตาแล้วก็ขึ้นไปฉันเพลบนกุฏิฉันเพลเสร็จแล้วลงมาหมายจะเทเบ้าที่ค้างไว้กลับปรากฏเป็นว่ามีผู้เทติด และตอนพระเกศสวยงามกว่าที่ตอนจะเป็น เป็นอัศจรรย์สืบถามได้ความว่า (มีชายผู้หนึ่งนุ่งห่มผ้าขาวมายกเบ้านั้นเทจนสำเร็จ) แต่ด้วยเหตุที่เบ้านั้นร้อนเมื่อเทเสร็จแล้ว ชายผู้นั้นจึงวิ่งไปทางเหนือบ้านน้ำโมงมีผู้เห็นยืนโลเลอยู่ริมหนองน้ำแห่งหนึ่งแล้วหายไป (หนองน้ำนั้นภายหลังชาวบ้านเรียกว่าหนองโลเลมาจนถึงปัจจุบันนี้ และชายผู้นั้นก็เข้าใจกันว่าเป็นเทวดามาช่วยสร้าง) เมื่อได้นำพระพุทธรูปที่หล่อแล้วมาประดิษฐานไว้ในวัด มีขุนนางชั้นผู้ใหญ่แห่งเมืองเวียงจันทร์มาเที่ยวบ้านน้ำโมงสองท่านชื่อว่า ท่านหมื่นจันทร์ กับ ท่านหมื่นราม ทั้งสองท่านนี้ได้เห็นพระเจ้าองค์ตื้อก็เกิดศรัทธาเลื่อมใสที่จะช่วยเหลือ จึงได้ช่วยกันก่อฐาน และทำราวเป็นการส่งเสริมศรัทธาของผู้สร้าง ครั้นเมื่อขุนนางทั้งสองได้กลับถึงเมืองเวียงจันทร์แล้ว ได้กราบทูลพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชซึ่งครองเมืองเวียงจันทร์ในเวลานั้นพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชได้เสด็จมาทอดพระเนตรก็ทรงเกิดศรัทธาจึงได้สร้างวิหารประดิษฐานกับแบ่งปันเขตแดนให้เป็นเขตข้าทาสบริวารของพระเจ้าองค์ตื้อดังนี้

  • 1 . ทางตะวันออกถึงบ้านมะก่องเชียงขวา( ทางฝั่งซ้ายตรงข้ามอำเภอโพนพิสัย )
  • 2. ทางตะวันตกถึงบ้านหวากเมืองโสม ( อำเภอน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี)
  • 3. ทางทิศใต้ถึงบ้านบ่อเอือดหรือบ่ออาด ( อยู่ในอำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี)
  • 4. ทางเหนือไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน คาดว่าน่าจะเป็น บ้านพานพร้าว อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย และเมือง “กินายโม้” ส.ป.ป.ลาว ในปัจจุบัน

พลเมืองที่อยู่ในเขตข้าทาสของพระเจ้าองค์ตื้อตั้งแต่เดิมมาต้องเสียส่วยสาอากรให้แก่ทางราชการ แต่เมื่อตกเป็นข้าทาสของพระเจ้าองค์ตื้อ โดยผู้ใดประกอบอาชีพทางใดก็ให้นำสิ่งนั้นมาเสียส่วยให้แก่วัดศรีชมพูองค์ตื้อทั้งสิ้น เช่น ผู้ใดเป็นช่างเหล็กก็ให้นำเครื่องเหล็กมาเสีย ผู้ใดทำนาก็ให้นำข้าวมาเสีย ผู้ใดทำนาเกลือก็ให้เอาเกลือมาเสียทางวัดก็มีพนักงานคอยเก็บรักษาและจำหน่ายประจำเสมอ ที่ด้านหน้าของพระวิหารมีตัวหนังสือไทยน้อยหรือหนังสือลาวเดี๋ยวนี้อยู่ด้วย แต่เวลานี้เก่าและลบเลือนมากอ่านไม่ได้ความติดต่อกัน พระเจ้าองค์ตื้อเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ฝีมือช่างฝ่ายเหนือและล้านช้างผสมกัน นับเป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะงดงามมาก เป็นพระประธานซึ่งสร้างด้วยทองสัมฤทธิ์องค์ใหญ่ที่สุดในจังหวัดนั่งขัดสมาธิปางมารวิชัยหน้าตักกว้าง 3 เมตร 29 เชนติเมตร สูง 4 เมตร ประดิษฐานอยู่ที่วัดศรีชมภู องค์ตื้อ ตำบลน้ำโมง อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย เป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์ที่มีประชาชนทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขง เคารพนับถือมาก

ใกล้เคียง

วัดศรีชุม (จังหวัดสุโขทัย) วัดศรีสุดารามวรวิหาร วัดศรีชมภูองค์ตื้อ วัดศรีโคมคำ วัดศรีธรรมาราม (จังหวัดยโสธร) วัดศรีสุริยวงศารามวรวิหาร วัดศรีบุญเรือง (กรุงเทพมหานคร) วัดศรีเอี่ยม วัดศรีมหาโพธิ์ (จังหวัดสุโขทัย) วัดศรีสุพรรณ (จังหวัดเชียงใหม่)