จารึก ของ วัดสรศักดิ์

จารึกวัดสรศักดิ์

จารึกวัดสรศักดิ์
ด้านหน้า
ด้านหลัง
ศรีศุภมัสดุอาทิศักราชได ๑๓๓๔ มะโรงสัปตสัปตจัตวาริ ศกวันพฤหัสบดีเดือนห้า [...] จึงท่านผู้หนึ่งชื่อนายอินทรสรศักดิ์มีศรั-ทธาในพระพุทธศาสนาจึงขอที่อันอยู่นั้นหนขื่อ ได้สี่สิบห้าวาหนแป ได้สามสิบเก้าวานี้แก่พ่ออยู่หัวเจ้าธ ออกญาธรรมราชาองค์ทรงไตรปิฏกนั้นว่าจะสร้างอารามถวายพระราชกุศลแก่พ่ออยู่หัวเจ้าธ ...

— ส่วนเปิดของจารึกวัดสรศักดิ์เป็นคำปริวรรตโดยฉ่ำ ทองคำวรรณ กล่าวถึงนายอินทรสรศักดิ์ขอพระราชทานที่ดินจากพ่ออยู่หัว เพื่อสร้างพระอารามถวาย

จารึกวัดสรศักดิ์ หรือจารึกหลักที่ 49 เป็นแผ่นหินชนวนรูปทรงเสมา โดยมีขนาดกว้าง 96 เซนติเมตร สูง 144 เซนติเมตร หนา 19 เซนติเมตร โดยภายในจารึกมีหนึ่งด้าน โดยมีทั้งหมด 35 บรรทัด จารึกเป็นตัวอักษรไทยสุโขทัย เนื้อหาของจารึกกล่าวถึงนายอินทรศักดิ์ หรืออินทรสรศักดิ์ หรืออินทราสรศักดิ์ ขอพระราชทานที่ดินขนาด 15 x 30 วา จากเจ้าท่านออกญาธรรมราชา หรือพญาไสลือไท เพื่อสร้างพระอารามถวาย สร้างมหาเจดีย์มีช้างประกอบด้วยพระเจ้าหน่อยตีนและวิหารหอพระ สร้างในปี พ.ศ. 1955 และสร้างเสร็จในปี พ.ศ. 1960 ครั้นสร้างสำเร็จแล้วจึงให้นิมนต์พระมหาเถรธรรมไตรโลกฯ จากตำบลดาวขอน ผู้เป็นน้าของออกญาธรรมราชา เจ้าเมืองสุโขทัย ให้มาจำพรรษาที่วัดนี้ด้วย[4][1]:19[2]:63

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 1959 สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 ขณะยังทรงพระเยาว์ได้เสด็จมาบำเพ็ญพระราชกุศล พร้อมพระราชมารดาและพระมาตุจฉาที่เมืองสุโขทัย การเสด็จคราวนี้พระมาตุจฉาได้เสด็จเข้าพำนักหัวสนามเก่าด้านทิศตะวันตกติดกับวัดสรศักดิ์ ความในจารึกวัดสรศักดิ์นี้เองที่ช่วยชี้ตำแหน่งของพระตำหนักหรือวังเจ้านาย ตลอดถึงกษัตริย์ของสุโขทัยว่าควรจะอยู่ตรงบริเวณทิศตะวันตกของวัดสรศักดิ์ เหนือศาลาตาผาแดง และที่ปัจจุบันเป็นถนนจากวัดมหาธาตุผ่านศาลตาผาแดง ผ่านวัดสรศักดิ์ และพระตำหนัก สู่ประตูศาลหลวงด้านทิศเหนือนี้คือ “สนาม” ที่กล่าวถึงในจารึกวัดสรศักดิ์[1]:19

นอกจากนี้ จารึกได้กล่าวถึงการสร้างพระเจ้าหย่อนตีน โดยที่อีกด้านหนึ่งของจารึกได้ปรากฏพระพุทธรูปสลักเป็นพระลีลาอยู่ด้วย ประเสริฐ ณ นคร ให้ข้อคิดเห็นว่าพระเจ้าหย่อนตีนในที่นี้อาจหมายถึงพระพุทธรูปลีลาก็ได้ จึงเป็นหลักฐานที่สำคัญอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าพระพุทธรูปลีลาสมัยสุโขทัยนั้น คงมีมาก่อนหรืออย่างน้อยในช่วงปี พ.ศ. 1960 ก็รู้จักกันดีแล้ว[2]:64

จารึกวัดสรศักดิ์พบที่มุมตะวันตกเฉียงเหนือของตระพังสอ เมื่อปี พ.ศ. 2498 โดยหน่วยขุดแต่งและบูรณะเมืองสุโขทัย กองโบราณคดี กรมศิลปากร

ใกล้เคียง

วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร วัดสระแก้วปทุมทอง วัดสร้อยทอง วัดสระแก้ว (จังหวัดอุบลราชธานี) วัดสร่างโศก (จังหวัดสมุทรปราการ) วัดสรศักดิ์ วัดสระลงเรือ วัดสระบัว (กรุงเทพมหานคร) วัดสระสี่มุม (จังหวัดนครปฐม) วัดสรรเพชญ