อาคารเสนาสนะ ของ วัดอินแปง

สิมมีลักษณะล้านช้างรุ่นหลัง ตั้งอยู่บนฐานบัว อาคารไม่สูงมากนัก มีการซ้อนชั้นหลังคา และมีตับ 2 ตับ ลดชั้นหลังคาเท่ากันทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ป้านลมอ่อนโค้งเล็กน้อย หน้าบันมีการประดับช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ ซึ่งเป็นอิทธิพลศิลปะรัตนโกสินทร์ สันนิษฐานว่าเป็นฝีมือช่างไทยจากจังหวัดอุดรธานี[1] ภายในสิมประดิษฐาน พระเจ้าใหญ่อินแปง มีองค์เล็กเป็นพระพุทธรูปศิลปะล้านช้างอยู่เบื้องหน้า

หอพระไตรปิฎกแบบศิลปะล้านช้างเพียงแห่งเดียยวที่รอดจากการถูกทำลายในสมัยเจ้าอนุวงศ์ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนขนาดเล็กในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ฐานเป็นบัวเข่าพรหมที่มีลวดบัวแบบลาวอย่างซับซ้อน เรือนธาตุด้านหน้ามีประตู อีกสามด้านมีหน้าต่างที่มีรายละเอียดอย่างมาก ผนังด้านนอกประดับด้วยปูนปั้น โดยแบ่งเป็นช่อง ๆ เป็นภาพสวรรค์ ป่าหิมพานต์ ด้านในมีหงส์หันเข้าซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะล้านนา ยอดปราสาทด้านบนและทวารบาลมีรูปแบบคล้ายศิลปะล้านนา[2] บริเวณหน้าบันมีจารึกระบุว่ามีการบูรณะเฉพาะส่วนหลังคา เมื่อ พ.ศ. 2503

วัดมีธาตุขนาดย่อม เป็นธาตุในผังแปดเหลี่ยม ยอดเป็นทรงดอกบัวเหลี่ยมซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะล้านช้าง ฐานเป็นฐานบัวเข่าพรหมในรูปของขาสิงห์ คงได้รับอิทธิพลจากศิลปะอยุธยาตอนกลางและคล้ายคลึงวัดศรีชมภูองค์ตื้อ จังหวัดหนองคาย[3]