อาคารเสนาสนะและปูชนียวัตถุ ของ วัดอุโมงค์มหาเถรจันทร์

วิหารศิลปะล้านนาที่ย่อมุม ด้านหน้าและด้านหลังมีหลังคาซ้อนเป็นตับ มีมุขยื่นทางด้านเหนือด้านเดียว หางหงส์ประดับด้วยกระจกสี หน้าบันประดับด้วยไม้แกะสลักรูปสัตว์และดอกประจำยามติดกระจกสี โก่งคิ้วประดับไม้แกะสลักลายเครือเถาไม่มีรวงผึ้ง กรอบประตูเป็นซุ้มโค้ง มีพระพทธรูปปูนปั้น เสาประตูประดับลวดลายร่องชาด สร้างขึ้นในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 24–25 เจดีย์องค์ใหญ่ที่อยู่หลังวิหาร สร้างประมาณพุทธศตวรรษที่ 12–22 เจดีย์องค์เล็กที่อยู่ด้านทิศใต้วิหาร อาจจะสร้างขึ้นเมื่อประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ 20 เจดีย์องค์เล็กซึ่งอยู่ด้านทิศใต้วิหาร เป็นโบราณสถานที่สำคัญที่สุดของวัด อาจมีอายุเก่าแก่ราวพุทธศตวรรษที่ 21[2]

อุโบสถสร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. 1839–1840 เป็นลักษณะทรงไทยแบบล้านนา ก่อด้วยอิฐถือปูนขาว เสาและโครงหลังคาเป็นไม้สักทั้งหลัง ของเดิมมุงด้วยกระเบื้องดินเผา ปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็นกระเบื้องเคลือบ

ปูชนียวัตถุที่สำคัญ ได้แก่ พระพุทธเชียงแสนสิงห์หนึ่ง หรือ หลวงพ่อสมใจนึก สร้างขึ้นราว พ.ศ. 1839–1840 เป็นพระประธานในอุโบสถ ปางมารวิชัยนั่งขัดสมาธิราบ หล่อด้วยโลหะปูนผสมเกศาดอกบัวตูม และลงรักปิดทองทับอีก มีขนาดหน้าตักกว้าง 1.90 เมตร สูง 2.20 เมตร พระพุทธปฏิมากร (หลวงพ่อโต หรือ หลวงพ่อใหญ่) สร้างขึ้นราว พ.ศ. 1910–1914 เป็นพระประธานในวิหารหลวง หล่อด้วยปูนลงรักปิดทอง เกศาแบบเปลวเพลิง มีขนาดหน้าตัก 2.90 เมตร สูง 3.70 เมตร ในวิหารหลวงยังมีพระพุทธรูปเชียงแสนสิงห์สามปางมารวิชัย หล่อด้วยโลหะทองสัมฤทธิ์รมดำเกศาดอกบัวตูม มีขนาดกว้าง 77 เซนติเมตร สูง 1.05 เมตร ประดิษฐานหน้าพระประธาน (หลวงพ่อโต) และหลวงพ่อไร่หอม เป็นพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ ปางมารวิชัย สร้างเมื่อ พ.ศ.2057 ประดิษฐาน ณ วิหารหลวง[3]

ใกล้เคียง

วัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม) วัดอุปคุต วัดอุปนันทาราม วัดอุทกเขปสีมาราม วัดอุโมงค์มหาเถรจันทร์ วัดอุทัยธาราม วัดอุดมรังสี วัดอุตตมาราม (ประเทศมาเลเซีย) วัดอุบลวรรณาราม วัดอุทยาน