การประกอบพิธีทางศาสนาในวันมาฆบูชา ของ วันมาฆบูชา

พระราชพิธี

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

พระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลในวันมาฆบูชานี้ โดยปกติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยเดช เป็นองค์ประธานในการพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศล และบางครั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์เสด็จแทน โดยสถานที่ประกอบพระราชพิธีจะจัดในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม สำนักพระราชวังจะออกหมายกำหนดการประกาศการพระราชพิธีนี้ให้ทราบทั่วไปเป็นประจำทุกปี ในอดีตจะใช้ชื่อเรียกการพระราชพิธีในราชกิจจานุเบกษาแตกต่างกัน บางครั้งจะใช้ชื่อ "การพระราชกุศลมาฆบูชาจาตุรงคสันนิบาต"[21] หรือ "การพระราชกุศลมาฆบูชา"[22] หรือแม้ "มาฆบูชา"[23] ส่วนในรัชกาลปัจจุบัน สำนักพระราชวังจะใช้ชื่อเรียกหมายกำหนดการที่ชัดเจน เช่น "หมายกำหนดการ พระราชกุศลมาฆบูชา พุทธศักราช ๒๕๒๒"[24]

รายละเอียดการประกอบพระราชพิธีนี้ในพระราชนิพนธ์พระราชพิธีสิบสองเดือน[25] ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราชาธิบายเกี่ยวกับการพระราชพิธีในเดือนสาม คือพระราชพิธีบำเพ็ญกุศลในวันมาฆบูชาไว้ มีใจความว่า

“เวลาเช้า พระสงฆ์วัดบวรนิเวศและวัดราชประดิษฐ ๓๐ รูป ฉันในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เวลาค่ำเสด็จออกทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการแล้ว พระสงฆ์สวดทำวัตรเย็นเหมือนอย่างที่วัด แล้วจึงได้สวดมนต์ต่อไป มีสวดคาถาโอวาทปาฏิโมกข์ด้วย สวดมนต์จบทรงจุดเทียนรายตามราวรอบพระอุโบสถ ๑,๒๕๐ เล่ม มีประโคมด้วยอีกครั้งหนึ่ง แล้วจึงมีเทศนาโอวาทปาฏิโมกข์กัณฑ์ ๑ เป็นเทศนาทั้งภาษามคธและภาษาสยาม เครื่องกัณฑ์จีวรเนื้อดีผืนหนึ่ง เงิน ๓ ตำลึงและขนมต่าง ๆ เทศน์จบพระสงฆ์สวดมนต์รับสัพพี ๓๐ รูป”[26]

ในรัชกาลต่อมาได้มีการลดทอดพิธีบางอย่างออกไปบ้าง เช่น ยกเลิกการถวายภัตตาหารพระสงฆ์ในเวลาเช้า หรือการจุดเทียนราย 1,250 เล่ม เป็นต้น แต่ก็ยังคงมีการบำเพ็ญพระราชกุศลในวัดพระศรีรัตนศาสดารามเหมือนเคย โดยในบางปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชจะทรงประกอบพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลมาฆบูชาและทรงเวียนเทียนรอบพุทธศาสนสถานเป็นการส่วนพระองค์ตามพระอารามหลวงหรือวัดราษฎร์อื่น ๆ บ้าง ตามพระราชอัธยาศัย[27] ซึ่งการพระราชพิธีนี้เป็นการแสดงออกถึงพระราชศรัทธาอันแน่นแฟ้นในพระพุทธศาสนา ขององค์พระมหากษัตริย์ไทยผู้ทรงเป็นเอกอัครพุทธศาสนูปถัมภ์มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

พิธีสามัญ

วันมาฆบูชา บางครั้งเรียกกันในภาษาปากว่า วันเวียนเทียน เพราะเป็นวันที่ชาวพุทธในประเทศไทยนิยมไปทำบุญและเวียนเทียนรอบพุทธศาสนสถานที่วัดในเวลาค่ำของวันนี้

การประกอบพิธีทางพระพุทธศาสนาเนื่องในวันมาฆบูชาของพุทธศาสนิกชนชาวไทย โดยทั่วไปนิยมทำบุญตักบาตร ฟังพระธรรมเทศนา เวียนเทียนรอบอุโบสถหรือสถูปเจดีย์พุทธสถานต่าง ๆ ภายในวัด เพื่อเป็นการระลึกถึงวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญของพระพุทธศาสนาในวัน ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3

พุทธศาสนิกชนชาวไทยนิยมนับถือเอาวันนี้เป็นวันสำคัญในการละเว้นความชั่ว บำเพ็ญความดี ทำใจให้ผ่องใส ตามแนวทางพระบรมพุทโธวาท โดยมีแนวปฏิบัติในการประกอบพิธีในวันมาฆบูชาคล้ายกับการประกอบพิธีในวันวิสาขบูชา คือมีการตั้งใจบำเพ็ญกุศลทำบุญตักบาตรฟังพระธรรมเทศนาและเจริญจิตตภาวนาในวันนี้ เมื่อตกกลางคืนก็มีการเวียนเทียนถวายเป็นพุทธบูชาตามอารามต่าง ๆ และอาจมีการบำเพ็ญปกิณณกะกุศลต่าง ๆ ตลอดคืนตามแต่จะเห็นสมควร

การประกอบพิธีวันมาฆบูชาในปัจจุบันนี้นอกจากการเวียนเทียน ทำบุญตักบาตร ในวันสำคัญแล้ว ยังมีหน่วยงานภาครัฐ องค์กรทางศาสนา และภาคประชาชน ร่วมกันจัดกิจกรรมต่าง ๆ ขึ้นมากมาย เพื่อเป็นการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและประชาสัมพันธ์กิจกรรมทางพระพุทธศาสนาต่าง ๆ ให้แก่ประชาชน เช่น กิจกรรมสัปดาห์เผยแผ่พระพุทธศาสนาวันมาฆบูชา ณ ท้องสนามหลวง หรือตามวัดในจังหวัดต่าง ๆ เป็นต้น

แหล่งที่มา

WikiPedia: วันมาฆบูชา http://hilight.kapook.com/view/17818 http://www.learntripitaka.com/History/MakhaBucha.h... http://www.siamturakij.com/home/news/display_news.... http://84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=13&A=107... http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=10&A... http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=10... http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=12... http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13... http://www.84000.org/tipitaka/pitaka1/v.php?B=04&A... http://www.84000.org/tipitaka/pitaka1/v.php?B=04&A...