เหตุการณ์สำคัญที่เกิดในวันมาฆบูชาตามพุทธประวัติ ของ วันมาฆบูชา

จาตุรงคสันนิบาต

กลุ่มป่าไผ่ร่มรื่น ในกลุ่มโบราณสถานวัดเวฬุวันมหาวิหาร สถานที่พระพุทธองค์ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์

คัมภีร์สุมังคลวิลาสินี อรรถกถามหาปทานสูตร ระบุว่าหลังจากพระพุทธเจ้าเทศนา "เวทนาปริคคหสูตร" (หรือทีฆนขสูตร) ณ ถ้ำสูกรขาตา เขาคิชฌกูฎ จบแล้ว ทำให้พระสารีบุตรได้บรรลุอรหัตตผล จากนั้นพระองค์ได้เสด็จทางอากาศไปปรากฏ ณ วัดเวฬุวันมหาวิหาร ใกล้กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ แล้วทรงประกาศโอวาทปาติโมกข์แก่พระภิกษุจำนวน 1,250 รูป โดยจำนวนนี้เป็นบริวารของชฏิลสามพี่น้อง 1,000 รูป และบริวารของพระอัครสาวก 250 รูป[8]

คัมภีร์ปปัญจสูทนีระบุว่า การประชุมสาวกครั้งนั้นประกอบด้วย "องค์ประกอบอัศจรรย์ 4 ประการ" คือ[3]

  1. วันดังกล่าวตรงกับวันเพ็ญเดือน 3
  2. พระภิกษุทั้ง 1,250 องค์นั้น ได้มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย
  3. พระภิกษุเหล่านั้นเป็นพระอรหันต์ทรงอภิญญา 6
  4. พระภิกษุเหล่านั้นไม่ได้ปลงผมด้วยมีดโกน เพราะพระพุทธเจ้าประทาน "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" ด้วยพระองค์เอง

ดังนั้นจึงมีคำเรียกวันนี้อีกคำหนึ่งว่า "วันจาตุรงคสันนิบาต" หรือ วันที่มีการประชุมพร้อมด้วยองค์ 4 ดังกล่าวแล้ว

ด้วยเหตุการณ์ประจวบกับ 4 อย่าง จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า จาตุรงคสันนิบาต (มาจากศัพท์บาลี จาตุร+องฺค+สนฺนิปาต แปลว่า การประชุมอันประกอบด้วยองค์ประกอบทั้งสี่ประการ) หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว 9 เดือน (45 ปี ก่อนพุทธศักราช)

มีผู้เข้าใจผิดว่าเหตุสที่พระสาวกทั้ง 1,250 รูป มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมายนั้น เพราะวันเพ็ญเดือน 3 ตามคติพราหมณ์เป็นวันพิธีมหาศิวาราตรีเพื่อบูชาพระศิวะ พระสาวกเหล่านั้นซึ่งเคยนับถือศาสนาพราหมณ์มาก่อนจึงได้เปลี่ยนจากการรวมตัวกันทำพิธีชำระบาปตามพิธีพราหมณ์ มารวมกันเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแทน[9] แต่ความคิดนี้ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เพราะพระศิวะเป็นเทพที่ชาวฮินดูเริ่มบูชากันในยุคหลังพุทธกาล คือตั้งแต่ พ.ศ. 800 เป็นต้นมา[10]

ประทานโอวาทปาติโมกข์

ดูบทความหลักที่: โอวาทปาติโมกข์

พระพุทธเจ้าเมื่อทอดพระเนตรเห็นมหาสังฆสันนิบาตอันประกอบไปด้วยเหตุอัศจรรย์ดังกล่าว จึงทรงเห็นเป็นโอกาสอันสมควรที่จะแสดง "โอวาทปาติโมกข์" อันเป็นหลักคำสอนสำคัญที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาแก่ที่ประชุมพระสงฆ์เหล่านั้น เพื่อวางจุดหมาย หลักการ และวิธีการ ในการเข้าถึงพระพุทธศาสนาแก่พระอรหันตสาวกและพุทธบริษัททั้งหลาย พระพุทธองค์จึงทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์เป็นพระพุทธพจน์ 3 คาถากึ่ง ท่ามกลางมหาสังฆสันนิบาตนั้น มีใจความดังนี้[7]

  • พระพุทธพจน์คาถาแรกทรงกล่าวถึง พระนิพพาน ว่าเป็นจุดมุ่งหมายหรืออุดมการณ์อันสูงสุดของบรรพชิตและพุทธบริษัท อันมีลักษณะที่แตกต่างจากศาสนาอื่น ดังพระบาลีว่า "นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา"
  • พระพุทธพจน์คาถาที่สองทรงกล่าวถึง "วิธีการอันเป็นหัวใจสำคัญเพื่อเข้าถึงจุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนาแก่พุทธบริษัททั้งปวงโดยย่อ" คือ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง การบำเพ็ญแต่ความดี และการทำจิตของตนให้ผ่องใสเป็นอิสระจากกิเลสทั้งปวง ส่วนนี้เองของโอวาทปาฏิโมกข์ที่พุทธศาสนิกชนมักท่องจำกันไปปฏิบัติ ซึ่งเป็นเพียงหนึ่งคาถาในสามคาถากึ่งของโอวาทปาฏิโมกข์เท่านั้น
  • ส่วนพระพุทธพจน์คาถาสุดท้าย ทรงกล่าวถึงหลักการปฏิบัติของพระสงฆ์ผู้ทำหน้าที่เผยแผ่พระศาสนา 6 ประการ คือ การไม่กล่าวร้ายใคร, การไม่ทำร้ายใคร , การมีความสำรวมในปาติโมกข์ทั้งหลาย, การเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร ,การรู้จักที่นั่งนอนอันสงัด และบำเพ็ญเพียรในอธิจิต

แหล่งที่มา

WikiPedia: วันมาฆบูชา http://hilight.kapook.com/view/17818 http://www.learntripitaka.com/History/MakhaBucha.h... http://www.siamturakij.com/home/news/display_news.... http://84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=13&A=107... http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=10&A... http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=10... http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=12... http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13... http://www.84000.org/tipitaka/pitaka1/v.php?B=04&A... http://www.84000.org/tipitaka/pitaka1/v.php?B=04&A...