ลำดับเหตุการณ์ ของ วิกฤตการณ์การเมืองไทย_พ.ศ._2548–2549

เมื่อกลางปี พ.ศ. 2547 มีการรวมตัวของ กลุ่มประชาชนเพื่อชาติและราชบัลลังก์ โดยมีแกนนำประกอบด้วย นาวาอากาศตรีประสงค์ สุ่นศิริ นายเอกยุทธ อัญชันบุตร นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ อัมรินทร์ คอมันตร์ พลโท เจริญศักดิ์ เที่ยงธรรม นายสมาน ศรีงาม นายประพันธ์ คูณมี นายเพียร ยงหนู ได้มีการชุมนุมปราศรัยที่ท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2547[29] และมีการจัดรายการวิทยุ ทางคลื่นวิทยุชุมชน FM 92.25 MHz ของนายประชัย และเว็บไซต์ไทยอินไซเดอร์ของนายเอกยุทธ

การวิพากษ์วิจารณ์ผลงาน และการทุจริตในรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เริ่มขยายสู่วงกว้างขึ้น ตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2548 เมื่อรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ออกอากาศทางโมเดิร์นไนน์ทีวี โดยนายสนธิ ลิ้มทองกุล เริ่มวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ทั้งที่ก่อนหน้านี้เคยเสนอความเห็นในเชิงสนับสนุนรัฐบาลมาตลอด จุดเปลี่ยนของรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ อยู่ที่การออกอากาศในคืนวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2548 เมื่อนายสนธิได้อ่านบทความเรื่อง ลูกแกะหลงทาง[30] บทความซึ่งมีผู้โพสต์เข้าไปเข้าไปในเว็บไซต์ผู้จัดการ ออกอากาศทางโทรทัศน์ ส่งผลให้รายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ถูกถอดออกจากผังรายการอย่างกะทันหัน โดยนายธงทอง จันทรางศุ บอร์ด อสมท. ให้เหตุผลว่าเป็นการจาบจ้วงสถาบัน [31]

โดยการกระทำเช่นนี้ ถูกมองว่าอาจเป็นการคุกคามสื่อ และเป็นการแอบอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเครื่องมือในการปลดรายการว่าจาบจ้วงสถาบันฯ แม้ว่าผู้จัดรายการจะยืนยันว่าเนื้อความดังกล่าวเป็นการยกย่องสถาบันพระมหากษัตริย์ และพูดถึงบางคนที่ไม่ฟังคำเตือนที่ปรารถนาดีของกษัตริย์ว่าเป็นลูกแกะหลงทางเท่านั้น โดยมิได้ระบุถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ การปลดรายการดังกล่าวจึงเป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรม

รายการเมืองไทยรายสัปดาห์ จึงปรับรูปแบบเป็นรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร จัดขึ้นนอกสถานที่ ทุกเย็นวันศุกร์ ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอเอสทีวี และสื่ออื่น ๆ ในเครือผู้จัดการ ต่อมาเมื่อมีผู้ชมรายการมากขึ้นจึงขยับขยายมาจัดที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และย้ายไปจัดที่อาคารลีลาศ สวนลุมพินี

หลังรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรครั้งที่ 14 ในคืนวันศุกร์ที่ 13 มกราคม 2549 มีการเปิดตัวผู้สนับสนุนคือ พลตำรวจเอกประทิน สันติประภพ นาวาอากาศตรีประสงค์ สุ่นศิริ รวมไปถึงสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายค้านหลายคน มีการเดินเท้าเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมจากสวนลุมพินีมาที่ทำเนียบรัฐบาล โดยไม่มีการปิดล้อม ก่อนสลายตัวกลับ แต่ยังมีผู้ชุมนุมบางส่วนยังชุมนุมต่อและถูกใช้กำลังสลายตัวในเช้าวันรุ่งขึ้น[32] เหตุการณ์นี้เป็นเหตุให้รัฐบาลเริ่มเพ่งเล็งและมีมาตรการเด็ดขาดขึ้น

การชุมนุมครั้งใหญ่เกิดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2549 นัดชุมนุมที่สนามหลวง แต่สนามหลวงถูกจองใช้ จึงย้ายมาจัดที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า ถนนราชดำเนินนอก จากด้านหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคมถึงสี่แยกสวนมิสกวัน การชุมนุมครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีการชุมนุมยืดเยื้อข้ามคืน มีการถวายฎีกาแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผ่านทางพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ และสำนักราชเลขาธิการ โดยมี พล.ร.ท. พะจุณณ์ ตามประทีป เป็นตัวแทนรับ และยื่นหนังสือเรียกร้องให้ทหารแสดงจุดยืนต่อ พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทองทัพบก ในครั้งนี้มีการเปิดตัวกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นแกนนำในการชุมนุมครั้งต่อ ๆ ไป นอกจากนี้การชุมนุมครั้งนี้ยังเป็นครั้งแรกที่ใช้ชื่อว่า "การชุมนุมกู้ชาติ" การชุมนุมครั้งนี้มีผู้มาชุมนุมมากกว่าทุกครั้งเนื่องจากความไม่พอใจในข่าวการขายหุ้นทั้งหมดในบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ของครอบครัวนายกรัฐมนตรีให้กับเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ กองทุนเพื่อการลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์โดยไม่ต้องเสียภาษีเนื่องจากเป็นการซื้อขายหุ้นผ่านตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งกฎหมายได้ระบุไว้ว่าให้ยกเว้นภาษี[33]

การชุมนุมครั้งถัดมาจัดที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เมื่อวันเสาร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2549 ใช้ชื่อว่า "ปิดบัญชีทักษิณ" มีผู้ร่วมชุมนุมหลากหลายขึ้นเนื่องจากเปลี่ยนผู้นำการชุมนุม พร้อมได้เปิดตัว พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นครั้งแรก โดยมีแกนนำทั้งหมด 5 คน คือ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายสนธิ ลิ้มทองกุล นายพิภพ ธงไชย นายสมศักดิ์ โกศัยสุข และนายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ในครั้งนี้รัฐบาลได้พยายามขัดขวางโดยให้เหตุผลว่ามีความไม่เหมาะสมและไม่สมควร เพราะสถานที่ที่นี้เป็นเขตพระราชฐาน จึงมีการนัดชุมนุมใหญ่ครั้งต่อไปที่สนามหลวงในวันอาทิตย์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2549 โดยจะเป็นการชุมนุมยืดเยื้อไม่มีกำหนด จนกว่านายกรัฐมนตรีจะลาออกจากตำแหน่ง

การชุมนุมที่สนามหลวงวันอาทิตย์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2549 ได้รับการสนับสนุนจากพล.ต. จำลอง ศรีเมือง ว่าจะนำเครือข่ายกองทัพธรรมและสันติอโศกเข้าร่วมชุมนุม ทางกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจึงเชิญพลตรีจำลองร่วมเป็นหนึ่งในแกนนำด้วย การประกาศตัวของพลตรีจำลองเป็นสัญญาณว่าการชุมนุมนี้จะยืดเยื้อยาวนาน และสร้างความกังวลให้กับพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร[34] จนประกาศยุบสภาในวันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549

การยุบสภาผู้แทนราษฎร

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 พ.ต.ท.ทักษิณ ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549[35] โดยหวังว่าชัยชนะอย่างถล่มถลายในการเลือกตั้งคราวนี้จะยุติเสียงวิพากษ์วิจารณ์ลงได้[36] พรรคฝ่ายค้าน ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยและพรรคมหาชน ประกาศคว่ำบาตรการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์[37] และรณรงค์ให้ผู้ไปใช้สิทธิ์กาในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน[35] อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจความคิดเห็นของสวนดุสิตโพล ระบุว่ามีผู้เห็นด้วยกับการคว่ำบาตรเพียง 28%[38]

มีการชุมนุมยืดเยื้อที่สนามหลวงใช้ชื่อว่า "เอาประเทศไทยของเราคืนมา" สลับกับการเคลื่อนขบวนใหญ่เพื่อกดดันสองครั้ง ในคืนวันอังคารที่ 28 กุมภาพันธ์ 2549 จากสนามหลวงมาที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และในวันอังคารที่ 14 มีนาคม 2549 จากสนามหลวงมาที่ทำเนียบรัฐบาลระหว่างมีการประชุมคณะรัฐมนตรี และย้ายการชุมนุมมาปักหลักบริเวณสี่แยกสะพานมัฆวานรังสรรค์สลับกับสี่แยกสวนมิสกวันและถนนพิษณุโลกช่วงข้างทำเนียบรัฐบาล ประมาณจำนวนผู้เข้าร่วมชุมนุมในครั้งนี้ฝ่ายรัฐบาลประเมินว่ามีผู้เข้าร่วมประมาณสองหมื่นคน ขณะที่ฝ่ายแกนนำผู้ชุมนุมได้ประเมินว่ามีผู้ร่วมชุมนุมราวหนึ่งแสนคน[39]

มีการเคลื่อนขบวนย่อยไปชุมนุมที่สถานที่ต่าง ๆ เช่น สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง สถานทูตสิงคโปร์ ถนนสีลม การชุมนุมครั้งสำคัญสืบเนื่องจาก การเคลื่อนขบวนจากสนามกีฬาแห่งชาติ มาบริเวณสยามสแควร์และถนนสุขุมวิท ในวันอาทิตย์ที่ 26 มีนาคม 2549 จากนั้นแกนนำได้คิดที่จะจัดการชุมนุมใหญ่ ณ บริเวณหน้าศูนย์การค้าสยามพารากอน ในวันพุธที่ 29 มีนาคม 2549 การชุมนุมครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกของการชุมนุมทางการเมืองศูนย์ธุรกิจหลักประเทศ เพื่อต้องการล้มล้างรัฐบาลในขณะนั้น และเป็นการชุมนุมที่สร้างความเสียหายแก่ผู้ประกอบการ สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ และสยามดิสคัฟเวอรี่เซ็นเตอร์ เป็นอย่างมาก เนื่องจากจำเป็นต้องปิดทำการระหว่าง 29-30 มีนาคมพ.ศ. 2549เพราะรัฐบาลให้เสรีภาพในการชุมนุมอย่างเสรีและไม่มีการปะทะกันใดๆ ทั้งสิ้น[40]

การเลือกตั้งทั่วไป เมษายน พ.ศ. 2549 และผลที่ตามมา

ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ เมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2549 พบว่าพรรคไทยรักไทยได้รับที่นั่งในรัฐสภาถึง 460 ที่นั่ง ด้วยคะแนนเสียง 56% ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวอ้างว่าเขาได้รับเสียงถึง 16 ล้านเสียง[41] อย่างไรก็ตาม ผู้ลงสมัครพรรคไทยรักไทยใน 38 จังหวัดเลือกตั้งภาคใต้ ซึ่งเป็นฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ ได้คะแนนเสียงไม่ถึง 20% ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ทำให้คณะกรรมการการเลือกตั้งชะลอผลของการเลือกตั้ง และจัดการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2549[42][43] พรรคประชาธิปัตย์ยื่นฎีกาต่อศาลปกครองกลางให้ยกเลิกการเลือกตั้งซ่อม[44] ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเป็นการถ่วงเวลาการเปิดประชุมสภาและขัดขวางมิให้การจัดตั้งรัฐบาลเสร็จทันกำหนดที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ[45] เช่นเดียวกับ พธม. ที่ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ประกาศจะชุมนุมต่อไปจนกว่าจะได้รับ "นายกรัฐมนตรีที่มาจากการแต่งตั้ง"[46]

เมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2549 พ.ต.ท.ทักษิณ ประกาศจัดตั้งคณะกรรมการไกล่เกลี่ยอิสระเพื่อแก้ไขความขัดแย้งทางการเมือง[47] แต่พรรคประชาธิปัตย์และ พธม. ไม่เข้าร่วมกับคณะกรรมการดังกล่าว และในวันรุ่งขึ้น พ.ต.ท.ทักษิณ ออกมาแถลงไม่เข้ารับการสรรหาบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง โดยให้เหตุผลว่า เพื่อสร้างความสมานฉันท์และความปรองดองในชาติ[48] ต่อมา พ.ต.ท.ทักษิณ ลาราชการและแต่งตั้งให้ พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทน ซึ่ง พธม. ได้เฉลิมฉลองในวันที่ 7 เมษายน และประกาศว่าการกำจัดระบอบทักษิณเป็นเป้าหมายต่อไป[45][49]

วันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 8-6 เสียง ให้เพิกถอนการเลือกตั้งและจัดการเลือกตั้งทั่วไปใหม่ ซึ่งกำหนดไว้เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2549[50] ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางคนยังได้เรียกร้องให้สมาชิกของคณะกรรมการการเลือกตั้งลาออกจากตำแหน่ง และเมื่อสมาชิกดังกล่าวปฏิเสธ ศาลอาญาจึงได้สั่งจำคุกและปลดคณะกรรมการการเลือกตั้งออกจากตำแหน่ง[51]



บรรยากาศภายนอกเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร

หลังจากได้ผ่านพ้นการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 แล้ว กลุ่มผู้ที่ไม่ยอมรับในผลการลงคะแนนเสียงตามระบอบประชาธิปไตยและพยายามผลักดันให้ยกเลิกการเลือกตั้งครั้งนั้น ได้มีการร้องต่อศาลยุติธรรม ซึ่งต่อมาได้มีการตัดสินให้การเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายนเป็นโมฆะ นับเป็นเหตุการณ์หนึ่งที่เป็นผลให้การเคลื่อนไหวต่อต้านนายกรัฐมนตรีรุนแรงมากขึ้น ระหว่างเดือนมิถุนายน 2549 กิจกรรมต่อต้านนายกรัฐมนตรีเบาบางลงชั่วคราว เนื่องจากเป็นช่วงเดือนที่มีกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี และในเดือนกรกฎาคม จึงมีการชุมนุม อภิปราย และสัมมนาขนาดย่อย ๆ อีกหลายครั้งโดยองค์การและสถาบันบางส่วนต่าง ๆ นายสนธิและนางสาวสโรชาได้กลับมาจัดการชุมนุมที่สวนลุมในอีกรูปแบบหนึ่งเรียกว่าเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร "คอนเสิร์ตการเมือง" ในระหว่างนั้นมีคดีที่นายถาวร เสนเนียม รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ความผิดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา อันนำมาซึ่งคำพิพากษาให้คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องโทษจำคุก และออกจากตำแหน่งไปเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม[52] จนมีการสรรหาคณะกรรมการการเลือกตั้งใหม่ และคาดว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ได้ในวันที่ 15 ตุลาคม 2549

ในวันที่ 29 พฤษภาคม 2549 วิรัช ชินวินิจกุล เลขานุการศาลฎีกา ให้สัมภาษณ์ตอนหนึ่งว่า เราต้องการให้ กกต.ทบทวนตัวเองอีกครั้ง[53]ก่อนการประชุมใหญ่ศาลฎีกาในวันที่ 31 พฤษภาคม 2549 ในวันที่ 25 กรกฎาคม 2549[54]ระหว่างที่ศาลได้มีคำตัดสินในกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้งนั้นได้มีกลุ่มผู้สนับสนุนการเลือกตั้งหลายกลุ่มได้มาชุมนุมให้กำลังใจ จนเกิดกระทบกระทั่งกันกับกลุ่มฝ่ายตรงข้าม[55] และต่อมาศาลได้มีคำพิพากษาให้ผู้ที่เป็นเหตุให้เกิดความวุ่นวายรับโทษในกรณีหมิ่นศาล ผู้ดำเนินรายการสถานีวิทยุและเว็บไซต์ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์คำสั่งศาลได้ปิดตัวลง

"แผนฟินแลนด์" และ "ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ"

ก่อนหน้าพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี เพียงหนึ่งวัน หนังสือพิมพ์และเว็บไซต์ ผู้จัดการ ได้ตีพิมพ์บทความส่วนหนึ่งเกี่ยวกับ "แผนฟินแลนด์"[56][57][58] ข้อกล่าวหา ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ และผู้ร่วมก่อตั้งพรรคไทยรักไทย มีแผนสมคบคิดเพื่อโค่นล่มราชวงศ์จักรีและยึดอำนาจการปกครองประเทศ[59][60] พ.ต.ท.ทักษิณ และพรรคไทยรักไทย ได้ฟ้องต่อสนธิ บรรณาธิการ คอลัมนิสต์ และฝ่ายบริหารอีกสองคนในข้อหาหมิ่นประมาท[61]คดีสิ้นสุดในวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2559 โดยศาลฎีกายกฟ้อง[62]สนธิ ลิ้มทองกุล เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ชัยอนันต์ สมุทวณิช ปราโมทย์ นาครทรรพ จำเลยทั้ง 4 คนในคดีนี้

ส่วนเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2549 คำกล่าวของ พ.ต.ท.ทักษิณ มีส่วนหนึ่งซึ่งพาดพิงถึง "ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ"[63] ทำให้นักข่าวคาดกันว่าหมายถึง พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ต่อมาวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2552 ทักษิณ ชินวัตร ได้เปิดเผยว่า เขาหมายถึง พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี[64]

ในวันเสาร์ที่ 19 สิงหาคม ระหว่างที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เดินทางไปเปิดงานในฐานะประธานเปิดตัวหนังสือและซีดีที่ระลึก นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีที่ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน ได้มีเสียงประชาชนกลุ่มเล็ก ๆ จำนวนประมาณ 20 - 30 คน ได้ตะโกนเสียงดังขึ้นมาว่า "นายกฯ....คนเลว...ออกไป" จนในที่สุดเกิดเหตุการณ์ชุลมุนจากทั้งกลุ่มสนับสนุนและต่อต้านนายกรัฐมนตรี เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยทำร้ายร่างกายผู้ตะโกน 2 ราย[65], [66]

หลังจากเหตุการณ์ที่สยามพารากอน ในวันอาทิตย์ที่ 20 สิงหาคม 2549 ได้มีการประชุมต่อเนื่องจากเหตุการณ์ทำร้ายกลุ่มผู้ต่อต้าน โดย ดร. สังศิต พิริยะรังสรรค์ แกนนำเครือข่ายประชาสังคม หยุดระบอบทักษิณ ร่วมกับสมาชิกเครือข่ายจำนวนหนึ่ง ได้จัดแถลงข่าว ที่อาคารสำนักวิทยบริการ ชั้น 8 มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม และได้ให้ประชาชน 6 คน ที่ถูกกลุ่มสนับสนุนนายกรัฐมนตรีทำร้าย ขณะเกิดเหตุการเปิดงานเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ที่ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอนมาแสดงตัว ขณะที่ประชุม ที่ลานข้างล่างหน้าอาคารได้มีกลุ่มผู้สนับสนับสนุนนายกรัฐมนตรีใช้ชื่อว่ากลุ่มตัวแทนองค์กรประชาชนรักความสงบ ราว 50-60 คนที่สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ยืนถือป้ายผ้าและโปสเตอร์ด้วยความสงบเพื่อต่อต้าน ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ และมีการปะทะคารมกัน[67]

เหตุการณ์ยังคงไม่คลี่คลาย มาจนถึงวันที่ 21 สิงหาคม ได้เกิดเหตุในลักษณะเดียวกันอีกครั้ง ทั้งที่มีการวางกำลังตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบอารักขานายกรัฐมนตรี ขณะไปเปิดงานอุทยานเรียนรู้ - ดิจิตอล ทีเคปาร์ค ที่ชั้น 8 เซ็นทรัลเวิลด์ เพราะเกรงว่าอาจถูกลอบสังหารตามที่ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้รายงานมาก่อนหน้า หรือเกรงจะเกิดการปะทะซ้ำรอยเหตุการณ์ที่สยามพารากอน โดยได้มีการปะทะคารมกันของฝ่ายผู้สนับสนุนนายกรัฐมนตรีและฝ่ายต่อต้าน จนเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและชายฉกรรจ์ในชุดสีเข้มไม่ทราบสังกัดทำร้ายร่างกาย เป็นชนวนให้เกิดการปะทะกันรุนแรงขึ้น ผลคือมีการบาดเจ็บกันหลายคน ทราบชื่อได้แก่ น.ส.วศุพร บุญมี นาย อิทธิพล สรวิษศกุล และนาย ขวัญชัย จุ้ยมณี[68] ทั้งกลุ่มผู้ที่ต่อต้านนายกรัฐมนตรีและกลุ่มที่สนับสนุน บางส่วนของผู้ต่อต้านนายกฯ ถูกดำเนินคดีในข้อหารบกวนความสงบเนื่องจากเป็นต้นเหตุการก่อให้เกิดเสียงเอะอะรำคาญ[69] เหตุการณ์ทั้งสองถูกประณามว่านายกรัฐมนตรีและฝ่ายต่อต้านนายกรัฐมนตรีน่าจะต้องมีส่วนรับผิดชอบร่วมกันทั้งสองฝ่ายเพราะเป็นเหตุให้เกิดการทะเลาะวิวาท แต่ทั้งสองฝ่ายก็ไม่ได้แสดงความรับผิดชอบแต่อย่างใด[70]

กรณีคาร์บอมบ์ สิงหาคม พ.ศ. 2549

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2549 รถคันหนึ่งซึ่งขนวัตถุระเบิดกว่า 67 กิโลกรัมได้หยุดบริเวณใกล้ที่พักของ พ.ต.ท.ทักษิณ ในเขตธนบุรี โดยมี ร.ท.ธวัชชัย กลิ่นชะนะ อดีตคนขับรถส่วนตัวของ พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี รักษาการผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน เป็นพลขับ โดยการสืบสวนของตำรวจพบว่า รถคนดังกล่าวได้ออกจากสำนักงานใหญ่ของ กอ.รมน. เมื่อเช้าวันเดียวกัน[71]

พล.อ.พัลลภ ปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว และกล่าวว่า "ถ้าผมทำ นายกฯ หนีไม่พ้นผมหรอก..."[72][73] และกล่าวอ้างว่า "วัตถุระเบิดอยู่ระหว่างการขนส่ง ไม่ได้เก็บรวบรวมมาจุดระเบิด"[72] ในขณะที่ฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาลมองว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นแผนสมคบคิดของรัฐบาล[74]

ร.ต.ท.ธวัชชัย ถูกจับกุมตัว และ พล.อ.พัลลภ ถูกปลดออกจากตำแหน่งในทันที ในภายหลังได้มีการจับกุมนายทหารเพิ่มอีก 5 นาย เนื่องจากสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง[75] แต่นายทหาร 3 นาย รวมทั้ง ร.ต.ท.ธวัชชัย ถูกปล่อยตัว ภายหลังการก่อรัฐประหารในเดือนกันยายน[76]

ในวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2552 ศาลทหารมีคำสั่ง ลงโทษ พ.อ.มนัส สุขประเสริฐ พ.อ.สุรพล สุประดิษฐ์ จำคุก 6 ปี ร.ท.ธวัชชัย กลิ่นชะนะ จำคุก 4 ปี 6 เดือน [77]โดย จ.ส.อ.ชาคริต จันทระ เป็นพยานในคดีนี้

นอกจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นำโดยนายสนธิ ลิ้มทองกุล แล้ว ยังมีเหตุการณ์ต่อต้านนายทักษิณโดยกลุ่มต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ในหลายพื้นที่ รวมทั้งการรวมตัวครั้งใหญ่ เมื่อวันเสาร์ที่ 2 กันยายน 2549 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีกลุ่มที่ใช้ชื่อว่าเครือข่ายแพทย์ เภสัช พยาบาล อาจารย์มหาวิทยาลัย 43 องค์กร 11 มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นกลุ่มคนบางส่วนของหน่วยงานที่อ้างเหล่านั้น ทำการล่าชื่อ ปลุกกระแส ต้าน"ทักษิณ" ออกแถลงการณ์ให้ยุติบทบาทนายกรัฐมนตรีในทันที มีการเสวนาโต๊ะกลมเรื่องการร่วมกันแก้ไขวิกฤตปัญหาของบ้านเมือง เน้นการต่อต้านทักษิณตามแนวทางอหิงสาด้วยกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งการถวายสัตย์ปฏิญญาในฐานะข้าราชการต่อพระบรมรูป 2 รัชกาลที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รัฐประหาร พ.ศ. 2549

การประท้วงขับทักษิณ ชินวัตร สิ้นสุดลง ในวันอังคารที่ 19 กันยายน 2549 หลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 ก่อนจะมีการชุมนุมอย่างยืดเยื้อของกลุ่มพันธมิตรฯและเครือข่าย โดยนายสนธิ ลิ้มทองกุล ประกาศยุติการชุมนุมทันที ทั้งที่ได้มีการนัดหมายกันในวันพุธที่ 20 กันยายน 2549 เวลา 15.00 น. ที่บริเวณลานพระรูป เนื่องจากมีการทำรัฐประหารเป็นที่เรียบร้อยแล้วและอาจจะเป็นการไม่ปลอดภัย[78]

ใกล้เคียง

วิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2556–2557 วิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2548–2549 วิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ วิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 วิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2548–2553 วิกฤตรัฐธรรมนูญออสเตรเลีย ค.ศ. 1975 วิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 วิกฤติหนี้สาธารณะยุโรป วิกฤตการเงิน ค.ศ. 1907

แหล่งที่มา

WikiPedia: วิกฤตการณ์การเมืองไทย_พ.ศ._2548–2549 http://www.theage.com.au/news/business/thai-pm-rin... http://www.bangkapi.com http://www.bangkokbiznews.com/2006/01/23/w001_7061... http://www.bangkokbiznews.com/2006/03/03/w001_8305... http://www.bloomberg.com/apps/news?pid=newsarchive... http://edition.cnn.com/2006/WORLD/asiapcf/04/07/th... http://www.ihtthaiday.com/Politics/ViewNews.aspx?N... http://www.konpanfa.com http://www.managerradio.com http://nationmultimedia.com/2005/11/10/national/in...