ลักษณะสำคัญ ของ วิกิ

วิกิเน้นการทำงานแบบง่าย ซึ่งผู้เขียนสามารถสร้างเนื้อหาบนเว็บได้โดยไม่จำเป็นต้องมีความรู้ในภาษาเอชทีเอ็มแอล โดยข้อมูลถูกเขียนร่วมกันด้วยภาษามาร์กอัปอย่างง่ายโดยผ่านเว็บเบราว์เซอร์ ในแต่ละหน้าจะถูกเรียกว่า "หน้าวิกิ" และเนื้อหาภายในจะเชื่อมต่อกันผ่านทางไฮเปอร์ลิงก์ ซึ่งส่งผลให้ในแต่ละวิกิสามารถทำงานผ่านระบบที่เรียบ ง่ายและสามารถใช้เป็นฐานข้อมูล สำหรับสืบค้น ดูแลรักษาที่ง่าย

นิยามลักษณะของเทคโนโลยีวิกิคือความง่ายในการสร้างและแก้ไขหน้าเว็บ โดยไม่จำเป็นต้องผ่านการตรวจสอบหรือยืนยันจากเจ้าของเว็บนั้น เว็บวิกิหลายแห่งเปิดให้ผู้ใช้บริการทั่วไปในขณะที่บางกรณี ขึ้นอยู่กับการตั้งค่าวิกิบนเซิร์ฟเวอร์ ผู้ใช้อาจจะต้องล็อกอินเพื่อแก้ไข หรือเพื่ออ่านบางหน้า

หน้าวิกิและการแก้ไข

รูปแบบรหัสต้นฉบับบางครั้งก็รู้จักกันในชื่อ "ข้อความวิกิ" ซึ่งประกอบไปด้วยข้อความธรรมดารวมกับภาษามาร์กอัปอย่างง่ายซึ่งใช้ในการกำหนดโครงสร้างของเอกสารและรูปลักษณ์ในการแสดงผล ตัวอย่างที่มักพบบ่อยได้แก่ การใช้เครื่องหมายดอกจัน ("*") ขึ้นต้นบรรทัด เพื่อเป็นสัญลักษณ์บอกว่าบรรทัดนั้นเป็นรายการหนึ่งในรายการแบบจุดนำ รูปแบบและวากยสัมพันธ์สามารถแตกต่างกันออกไปได้หลายแบบขึ้นอยู่กับการนำไปใช้ ในบางระบบอนุญาตให้ใช้แท็ก HTML ได้

การออกแบบข้อความวิกิมีเหตุผลมากจาก HTML ซึ่งแท็กหลายแท็กมีความคลุมเครือ ทำให้จากรหัสต้นฉบับ HTML ผู้ใช้สร้างจินตนาภาพถึงผลลัพธ์ได้ยาก สำหรับผู้ใช้ส่วนมากการอ่านและการแก้ไขเนื้อหาบนรหัสต้นฉบับ HTML โดยตรงเป็นสิ่งที่ทำได้ยากมาก ดังนั้นการส่งเสริมให้แก้ไขบนข้อความธรรมดากับข้อตกลงอีกนิดหน่อยเพื่อการกำหนดโครงสร้างและรูปแบบจึงเป็นสิ่งที่ดีกว่า

นอกจากนั้นการที่ผู้ใช้ไม่สามารถใช้ความสามารถบางอย่างของภาษา HTML เช่น จาวาสคริปต์ และ Cascading Style Sheet ได้โดยตรง ทำให้ได้ประโยชน์คือรูปลักษณ์และความรู้สึก (Look and Feel) ในการใช้งานวิกิมีความสอดคล้องกัน เนื่องจากผู้ใช้แก้ไขรูปแบบได้อย่างจำกัด พร้อมทั้งความปลอดภัยที่เพิ่มขึ้น ในการนำวิกิไปใช้หลายระบบแสดงให้เห็นไฮเปอร์ลิงก์ที่ใช้งานได้เสมอ ไม่เหมือนในการใช้ HTML ซึ่งข้อความที่ไม่สามารถมองเห็นจากการแสดงผลว่าเป็นไฮเปอร์ลิงก์ก็อาจจะเป็นไฮเปอร์ลิงก์ได้

ตัวอย่างเปรียบเทียบคำสั่ง
คำสั่งในมีเดียวิกิคำสั่งเอชทีเอ็มแอลผลลัพธ์ที่แสดงออกมา
'''เพลงพระราชนิพนธ์แสงเทียน''' หรือ ''Candlelight Blues'' เป็น[[เพลงพระราชนิพนธ์]]เพลงแรก ทรงพระราชนิพนธ์ในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๘๙ ครั้งดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช เป็นงานทดลองของพระองค์ในจังหวะ[[บลูส์]] <p><b>เพลงพระราชนิพนธ์แสงเทียน</b> หรือ <i>Candlelight Blues</i> เป็น<a href = "/wiki/เพลงพระราชนิพนธ์" title="เพลงพระราชนิพนธ์">เพลงพระราชนิพนธ์</a>เพลงแรก ทรงพระราชนิพนธ์ในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๘๙ ครั้งดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช เป็นงานทดลองของพระองค์ในจังหวะ<a href="/wiki/บลูส์" title="บลูส์">บลูส์</a></p>เพลงพระราชนิพนธ์แสงเทียน หรือ Candlelight Blues เป็นเพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรก ทรงพระราชนิพนธ์ในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๘๙ ครั้งดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช เป็นงานทดลองของพระองค์ในจังหวะบลูส์
หมายเหตุ: ที่อยู่จริงของการเชื่อมโยงขึ้นอยู่กับไดเรกทอรีที่ติดตั้ง ตัวอย่างที่แสดงเป็นไดเรกทอรีของวิกิพีเดีย