บ่อเกิดของความเห็นพ้อง ของ วิกิพีเดีย:ความเห็นพ้อง

ปกติการบรรลุความเห็นพ้องเป็นกระบวนการธรรมชาติ หลังมีผู้ใช้เปลี่ยนแปลงหน้าครั้งหนึ่ง ผู้อื่นเมื่ออ่านแล้วสามารถเลือกได้ว่าจะแก้ไขเพิ่มเติมหรือไม่ เมื่อผู้เขียนเห็นไม่ตรงกันผ่านการแก้ไข การอภิปรายในหน้าคุยของหน้านั้น ๆ จะดำเนินกระบวนการไปจนบรรลุความเห็นพ้อง

การตัดสินใจความเห็นพ้องหนึ่งจะต้องนำความกังวลอันเหมาะสมที่ยกมาทั้งหมดไปพิจารณาด้วย ในอุดมคติ การบรรลุความเห็นพ้องจะไม่มีข้อคัดค้าน แต่บ่อยครั้งเรามักยอมรับความเห็นพ้องให้กว้างที่สุดเท่าที่จะสามารถบรรลุได้ เมื่อไม่มีความตกลงวงกว้าง การสร้างความเห็นพ้องจะเกี่ยวข้องกับการปรับข้อเสนอเพื่อดึงผู้ไม่เห็นด้วยให้มาสนับสนุนโดยไม่เสียผู้ที่ยอมรับข้อเสนอทีแรก

ผ่านการแก้ไข

แผนภาพอย่างง่ายแสดงขั้นตอนการบรรลุความเห็นพ้อง เมื่อเกิดการแก้ ผู้เขียนอื่นอาจยอมรับ เปลี่ยนหรือย้อนการแก้นั้น "ประนีประนอม" หมายถึง "พยายามหาทางออกที่ยอมรับได้โดยทั่วไป" ไม่ว่าผ่านแก้ต่อหรือผ่านการอภิปราย

ความเห็นพ้องเป็นกระบวนการปกติ และปกติโดยปริยายและมองไม่เห็นทั่ววิกิพีเดีย การแก้ใดที่ไม่มีผู้ใช้อื่นค้านหรือย้อนสามารถสันนิษฐานได้ว่าเกิดความเห็นพ้อง หากการแก้นั้นมีผู้ใช้อื่นทบทวนโดยไม่มีข้อค้าน สามารถสันนิษฐานได้ว่ามีการบรรลุความเห็นพ้องใหม่ ด้วยวิธีนี้สารานุกรมจึงมีการเสริมและปรับปรุงตามเวลา

ควรอธิบายการแก้ทุกครั้ง (ยกเว้นเหตุแห่งการแก้นั้นปรากฏชัดแล้ว) ไม่ว่าโดยใช้ความย่อการแก้ไขชัดเจนที่ระบุเหตุผลของการเปลี่ยน หรือโดยการอภิปรายในหน้าคุยที่สัมพันธ์กับหน้านั้น ความย่อการแก้ไขที่มีสาระสำคัญและใช้แจ้งความบ่งชี้ว่าจำเป็นต้องจัดการปัญหาใดในความพยายามบรรลุความเห็นพ้องในภายหลัง ความย่อการแก้ไขมีความสำคัญเป็นพิเศษเมื่อย้อนงานสุจริตใจของผู้เขียนคนอื่น การย้อนซ้ำ ๆ ขัดต่อนโยบายวิกิพีเดียว่าด้วยสงครามแก้ไข ยกเว้นเนื้อความที่อยู่ภายใต้บางนโยบายเฉพาะ (เช่นข้อยกเว้นของ WP:BLP) และสำหรับการย้อนการก่อกวน

ข้อขัดแย้งด้านเนื้อหาส่วนใหญ่สามารถระงับได้ผ่านการแก้ไขเล็กน้อย แทนที่จะถือจุดยืนแบบแบ่งแยกขาวดำชัดเจน ยกเว้นกรณีที่ได้รับผลจากนโยบายและแนวปฏิบัติด้านเนื้อหา บ่อยครั้งที่การปรับแก้คำเล็กน้อยก็ทำให้ผู้เขียนทุกคนพอใจ ไม่ว่าการเปลี่ยนนั้นมาจากการแก้หรือการอภิปราย วิกิพีเดียควรปรับปรุงผ่านความร่วมมือและความเห็นพ้องมากกว่าการสู้รบและยอมแพ้เป็นดีที่สุด

ขอให้กล้า แต่อย่ามุทะลุ ในกรณีส่วนใหญ่ สิ่งแรกคือควรแก้หน้านั้นก่อน บางทีการแก้จะระงับข้อคัดค้านได้ ใช้ความย่อการแก้ไขชัดเจนที่อธิบายความมุ่งหมายของการแก้นั้น หากการแก้ถูกย้อน พยายามแก้แบบประนีประนอมซึ่งจัดการกับความกังวลของผู้เขียนอื่นด้วย กระนั้นอย่าใช้ความย่อการแก้ไขหลายครั้งเพื่ออภิปรายข้อคัดค้าน ซึ่งมักถือว่าเป็นสงครามแก้ไข หากการแก้ถูกย้อนครั้งหนึ่งและการแก้เพิ่มเติมน่าจะถูกย้อนอีกเช่นเดิม ให้สร้างส่วนใหม่ในหน้าคุยที่สัมพันธ์เพื่ออภิปรายปัญหา

ผ่านการอภิปราย

เมื่อไม่สามารถบรรลุความเห็นตรงกันได้ผ่านการแก้ไขอย่างเดียว กระบวนการสร้างความเห็นพ้องจะชัดแจ้งมากขึ้น โดยผู้เขียนเปิดส่วนหนึ่งในหน้าคุยที่สัมพันธ์และพยายามระงับข้อพิพาทผ่านการอภิปราย ที่ซึ่งผู้เขียนพยายามชักจูงผู้อื่นโดยใช้เหตุผลที่ยึดตามนโยบาย แหล่งข้อมูลและสามัญสำนึก นอกจากนี้ยังสามารถเสนอทางออกทางอื่นหรือประนีประนอมที่อาจช่วยแก้ความกังวลทุกอย่าง ผลอาจให้เกิดข้อตกลงที่อาจไม่ทำให้ทุกฝ่ายพอใจได้ทั้งหมด แต่ทุกฝ่ายยอมรับว่าเป็นทางออกที่สมเหตุผล

ความเห็นพ้องเป็นกระบวนการที่กำลังดำเนินอยู่ในวิกิพีเดีย ในหลายครั้ง การยอมรับข้อสรุปที่อาจไม่ได้เป็นข้อสรุปที่ดีที่สุด โดยพิจารณาต่อไปว่าหน้าดังกล่าวจะมีการปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องย่อมเป็นการดีกว่าการพยายามให้ใช้ตามรุ่นใดรุ่นหนึ่งของหน้าดังกล่าวที่ดีที่สุดโดยทันที เนื่องจากคุณภาพของบทความที่ผู้เขียนมีข้อถกเถียงมักจะด้อยกว่าบทความที่ผู้เขียนพิจารณาประเด็นต่าง ๆ ในระยะยาวได้

เมื่อผู้เขียนประสบความยากลำบากในการบรรลุความเห็นพ้อง มีกระบวนการหลายอย่างสำหรับการสร้างความเห็นพ้อง และกระบวนการที่สุดโต่งกว่านั้นจะต้องใช้มาตรการอำนาจเพื่อยุติข้อพิพาท ทว่า พึงระลึกว่าผู้ดูแลระบบให้ความสนใจกับนโยบายและพฤติกรรมของผู้เขียนเป็นหลักและจะไม่ตัดสินปัญหาด้านเนื้อหาโดยใช้อำนาจ ผู้ดูแลระบบอาจบล็อกผู้เขียนที่มีพฤติกรรมขัดขวางกระบวนการความเห็นพ้อง (เช่น สงครามแก้ไข, การใช้หลายบัญชีในทางที่ผิด, หรือขาดความเป็นอารยะ) นอกจากนี้ยังอาจตัดสินใจว่าการแก้ไขได้ได้รับอนุญาตหรือไม่ภายใต้นโยบาย แต่ปกติไม่กระทำการเกินกว่านั้น

ใกล้เคียง

วิกิพีเดียภาษาไทย วิกิพีเดีย วิกิพีเดียภาษาอังกฤษ วิกิพจนานุกรม วิกิพีเดียภาษาสเปน วิกิพีเดียภาษาคาซัค วิกิพีเดียภาษาอินโดนีเซีย วิกิพีเดียภาษาไซลีเซีย วิกิพีเดียภาษารัสเซีย วิกิพีเดียภาษากาตาลา