การสืบทอด ของ วินัย_(นิกาย)

นิกายวินัยรุ่งเรืองอย่างมากในสมัยราชวงศ์ถัง โดยเฉพาะยุคของพระเถระต้าวซ่วน มีการรจนาปกรณ์อธิบายพระวินัยหลายฉบับ ต่อมาโรยราลงอย่างมากในยุคกวาดล้างพุทธศาสนารัชสมัยพระเจ้าถังอู่จง กระทั่งในสมัยราชวงศ์ซ่งเริ่มคึกคักอีกครั้ง มีพระเถระหยุ่นคาน (允堪) รจนาฎีกาอธิบายอรรถกถาของพระเถระต้าวซ่วน และมีการสร้างสีมาอุปสมบทพระอารามสำคัญ[6]

ครั้นถึงสมัยราชวงศ์หยวนและราชวงศ์หมิง นิกายวินัยโรยราอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายสมัยราชวงศ์หมิง มีพระเถระนามว่า กู่ซิน (古心) เดินทางไปยังอู่ไถซาน ภูเขาศักดิ์สิทธิ์แห่งพระโพธิสัตว์มัญชุศรี ท่านเดินทางจาริกด้วยเท้าไปอู่ไถซานานถึง 3 ปี ครั้นแล้วบังเกิดนิมิตว่าพระโพธิสัตว์มัญชุศรีมาสอนพระวินัยแก่ท่านอย่างทะลุปรุโปร่ง ท่านจึงเกิดศรัทธาที่จะพื้นฟูพระวินัยอีกครั้ง โดยฟื้นฟูการศึกษาคัมภีร์ และอุปสมบทวิธี จนท่านได้รับฉายาว่า เป็นพระอุบาลีท่านที่สอง การฟื้นฟูของท่าน กู่ซิน ประสบความสำเร็จอย่างมาก ทำให้นิกายวินัยแพร่หลายไปทั่วจีนอีกครั้ง จากราชวงศ์หมิง สืบต่อมาถึงราชวงศ์ชิง[7]

กระทั่งถึงยุคสาธารณรัฐ พระเถระหงอี (弘一) ได้ฟื้นฟูนิกายวินัยอีกครั้ง ด้วยการศึกษาปกรณ์ของพระเถระต้าวซ่วน ส่งเสริมการรักษาสิกขาบทอย่างเคร่งครัด อีกทั้งตัวท่านยังวัตรปฏิบัติงดงาม มีความพากเพียรในการส่งเสริมพุทธศาสนา ยังศรัทธาให้เกิดแก่สาธุชนจีนอย่างมหาศาล นับเป็นการสืบทอดนิกายวินัยมิให้สูญหายครั้งสำคัญครั้งหนึ่ง [8]