ชีวประวัติ ของ วิลเฮ็ล์ม_กลีเซอ

กลีเซอเกิดที่เมืองกอลท์แบร์กในเมืองซวอตอรือยาในไซลีเซียซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของโปแลนด์ ตั้งแต่ปี 1933 เขาเริ่มศึกษาด้านดาราศาสตร์ คณิตศาสตร์ และฟิสิกส์ที่มหาวิทยาลัยวรอตสวัฟ และต่อมาที่มหาวิทยาลัยเบอร์ลิน จนกระทั่งต้องเลิกกลางคันเพื่อไปรับราชการทหาร[1] แวร์มัคท์เกณฑ์เขาไปเป็นทหารและส่งไปยังแนวรบด้านตะวันออกเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 1942[1] เขาถูกกองกำลังโซเวียตจับเข้าคุกทางเหนือของปอซนัญเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 1945 และในที่สุดก็สามารถกลับบ้านได้ในวันที่ 11 กันยายน 1949[1] ในช่วงทศวรรษนั้นเขาไม่สามารถทำงานเป็นนักวิทยาศาสตร์ได้ แต่ความกระตือรือร้นด้านวิทยาศาสตร์ของเขาก็ไม่ได้ลดลง[1] ขณะเป็นเชลยศึกเขาได้บรรยายเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และทำการสังเกตการเปลี่ยนแปลงความสว่างของดาวแปรแสงโดยไม่ต้องใช้เครื่องมือ[1]

กลีเซอได้รับการว่าจ้างให้เป็นผู้ช่วยสังเกตการณ์ที่สถาบันการคำนวณทางดาราศาสตร์ซึ่งย้ายไปที่ไฮเดิลแบร์คในเดือนตุลาคม 1949 หลังจากเดินทางกลับประเทศได้ไม่นาน และได้กลายเป็นผู้สังเกตการณ์ในปี 1957 และได้เป็นหัวหน้าผู้สังเกตการณ์ในปี 1965[1] เขามีส่วนร่วมในการแก้ไขหนังสือประจำปีทางดาราศาสตร์จนกระทั่งถึงปี 1954 และได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขสารบัญแฟ้มพื้นฐาน (FK4, FK5) ตั้งแต่ปี 1957 จนกระทั่งเกษียณอายุในปี 1980[1]

เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 1951 เขาได้รับข้อเสนอจากปีต ฟัน เดอ กัมป์ ให้รับหน้าที่จัดระเบียบดาวฤกษ์ในบริเวณใกล้เคียงกับระบบสุริยะ และเริ่มรวบรวมรายชื่อดาวฤกษ์ในบริเวณใกล้เคียง สิ่งนี้ต่อมามีชื่อเรียกว่าสารบัญแฟ้มดาวฤกษ์ใกล้เคียงของกลีเซอ ในปี 1957 มีการเผยแพร่สารบัญแฟ้มดาวฤกษ์ฉบับแรก โดยมีรายชื่อวัตถุมากกว่า 1,000 ชิ้นที่อยู่ในระยะห่างจากระบบสุริยะไม่เกิน 20 พาร์เซก และในปี 1969 ได้ขยายเป็นประมาณ 2,000 ชิ้นในระยะจนถึง 22 พาร์เซก

ดาวเคราะห์น้อย 1823 กลีเซอ ได้รับการตั้งชื่อตามเขา[2]

ใกล้เคียง

วิลเฮลมึส วิลเฮ็ล์ม เรินท์เกิน วิลเฮ็ลมส์ฮาเฟิน วิลเฮ็ล์ม ไคเทิล วิลเฮ็ล์ม วีน วิลเฮ็ล์ม เอดูอาร์ท เวเบอร์ วิลเฮ็ล์ม โมนเคอ วิลเฮ็ล์ม พีค วิลเฮล์ม โยฮันน์เซิน วิลเฮ็ล์ม เกรอเนอร์