ประวัติ ของ วิว-มาสเตอร์

เอ็ดวิน เมเยอร์ ซื้อ ซอว์เยอร์ส

บริษัทซอว์เยอร์ส (Sawyer's) ก่อตั้งโดย คาร์ลตัน ซอว์เยอร์ (Carleton Sawyer) และ เอ อาร์ สเปคต์ (A. R. Specht) ช่วงปี พ.ศ. 2457(1914) โดยให้บริการหลังการถ่ายภาพ (Photo finishing)

เอ็ดวิน ยูจีน เมเยอร์ (Edwin Eugene Mayer) จบการศึกษาด้านเภสัชกรรม หลังกลับจากการเป็นทหารในสงครามโลกครั้งที่ 1 (1914-1918) ก็มาทำงานเป็นเภสัชกรในร้าน Owl Drug มีความชื่นชอบเรื่องกล้องเป็นพิเศษ ตามที่เขาเล่าไว้ในจดหมาย เมื่อ 1 เมษายน พ.ศ. 2497(1954) ว่า เขารวบรวมเงินจากญาติพี่น้อง และภรรยาเพื่อซื้อหุ้นจาก ซอว์เยอร์ และ สเปคต์ ได้ทั้งหมดในปี พ.ศ. 2462(1919) แล้วสานต่อธุรกิจเกี่ยวกับภาพถ่าย ผลิตโปสการ์ดภาพวิว และอัลบั้มภาพที่ระลึก กิจการของซอว์เยอร์ส ได้รับความนิยมเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนต้องเพิ่มผู้ร่วมลงทุน

ปี พ.ศ. 2469(1926) ฮาโรลด์ เจ เกรฟ (Harold J. Graves) ซึ่งเคยทำงานเป็นช่างภาพให้กับกองทัพสหรัฐ ได้เข้ามาร่วมหุ้นกับซอว์เยอร์ส โดยเกรฟ ดูแลทำตลาด ส่วน เมเยอร์ บริหารธุรกิจ มีการเปลี่ยนชื่อกิจการเป็น Sawyer Service, Inc. ต่อมาซอว์เยอร์สได้เริ่มผลิตการ์ดอวยพร และวางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า ขายดีมากจนกระทั่ง ซอว์เยอร์ส ได้ชื่อว่าเป็นผู้ผลิตโปสการ์ดภาพวิวทิวทัศน์รายใหญ่อันดับหนึ่งของสหรัฐอเมริกา ในทศวรรษ 1920 (ช่วงพ.ศ. 2463-2473)

ช่วงทศวรรษเดียวกัน ในปี พ.ศ. 2467 (1924) วิลเลียม บี กรูเบอร์ (William B. Gruber / 1 June 1903 - 16 October 1965)[4] อพยพมาอยู่ พอร์ตแลนด์ โอเรกอน, อเมริกา[5] เดิมเขาชื่อ วิลเฮล์ม กรูเบอร์ (Wilhelm Gruber) ชาวเยอรมัน มีถิ่นกำเนิดในเมืองมิวนิก เป็นช่างซ่อม-ตั้งเสียงเปียโน ชอบคิดประดิษฐ์สร้างสรรค์สิ่งต่างๆ และหลงใหลการถ่ายภาพมาก

วิลเลียม กรูเบอร์ พบกับ ฮาโรลด์ เกรฟ

23 เมษายน พ.ศ. 2481 (April 23,1938) กรูเบอร์ สมรสกับ นอร์มา (Norma)[6] แล้วไปเที่ยวที่ โรงแรมโอเรกอนเคฟ (the Lodge at Oregon Cave)[7]

ขณะที่กรูเบอร์ ถ่ายรูปสามมิติที่ถ้ำโอเรกอน (Oregon Caves)[8] ด้วยกล้องถ่ายภาพนิ่งที่เขาดัดแปลงเองจาก กล้องแบนทัม สเปเชียล ของโกดัก [9] สองตัวยึดกับขาตั้งกล้อง (tripod) และได้เจอกับ ฮาโรลด์ เกรฟ โดยบังเอิญ ซึ่งก็สนใจสิ่งประดิษฐ์ของกรูเบอร์ ทั้งสองพบปะพูดคุยกันอย่างถูกคอ เกรฟจึงชักชวนกรูเบอร์ให้มาร่วมงานกันใน ซอว์เยอร์ส เพื่อผลิตอุปกรณ์ดูภาพสามมิติในเชิงพาณิชย์ [10]

ตัวอย่าง กล้องดูภาพสามมิติโบราณ ใช้ดูภาพคู่

กรูเบอร์ ออกแบบเครื่องสำหรับวางตำแหน่งแผ่นฟิล์มสไลด์ขนาดจิ๋ว (ซอว์เยอร์ส เรียกว่า ชิพ chips) ประกบด้วยกระดาษแข็งวงกลม2แผ่น ผนึกติดกันโดยใช้ความร้อน ออกมาเป็นแผ่นเรียกว่า "รีล (Reel)" วัดเส้นผ่าศูนย์กลางได้ 3.5 นิ้ว หรือ 9 ซม. [11] รวมทั้งออกแบบและผลิตกล้องดูภาพชนิดพิเศษ (special viewer) ด้วยการปรับกล้องสเตอริโอสโคป Stereoscope (กล้องดูภาพสามมิติ)ทรงโบราณ โดยเปลี่ยนจากภาพนิ่งไปใช้ฟิล์มสไลด์ โกดาโครม ขนาด 16 มม. ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ออกใหม่ได้ไม่นาน, ด้วยแผ่นรีลแบบวงกลมของกรูเบอร์ สามารถบรรจุฟิล์มสไลด์ได้ 14 แผ่น หรือ 7 คู่ภาพ ทำให้ดูภาพสามมิติต่อเนื่องได้ 7 ภาพ หรือดูวนซ้ำไปได้เรื่อยๆ , ฟิล์มสไลด์ 2 ภาพสำหรับ ตาซ้าย-ตาขวา จะคล้ายกัน ต่างมุมมองเพียงเล็กน้อย เมื่อมองผ่านกล้องจะเห็นภาพมีมิติตื้นลึก

แผ่นรีลวิว-มาสเตอร์ เส้นผ่าศูนย์กลางยาว 3.5 นิ้ว หรือ 9 ซม. บรรจุสไลด์ได้ 7 คู่ภาพ ไม่เคยเปลี่ยนแปลงรูปแบบเลยตั้งแต่เริ่มผลิต

ซอว์เยอร์ส วิว-มาสเตอร์

จากเอกสารในศาล ปี พ.ศ. 2503 (1960) บันทึกว่า กิจการร่วมค้า กรูเบอร์-ซอว์เยอร์ส (Gruber-Sawyer partner venture) ถือกำเนิดหลังการประชุมครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2481 (1938) โดยระหว่างนี้ เอ็ด เมเยอร์ ยังคงเจรจาในรายละเอียดกับ กรูเบอร์

สามปีต่อมา ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2485 (1942) จึงบรรลุข้อตกลงอย่างเป็นทางการ ว่าให้ออกผลิตภัณฑ์กล้องดูภาพสามมิติภายใต้ บริษัทซอว์เยอร์ส

เอ็ด เมเยอร์ และ ซอว์เยอร์ส ตกลงตั้งชื่อผลิตภัณฑ์ว่า วิว-มาสเตอร์ (View-Master) ซึ่งจริงๆ แล้ว กรูเบอร์ ไม่ชอบชื่อนี้เลย เพราะฟังดูเหมือนเครื่องใช้ในครัว หรือ เครื่องปิ้งขนมปัง (โทสต์มาสเตอร์, Toast-Master) หรือ เครื่องผสมอาหาร (มิกซ์ มาสเตอร์, Mix-Master) ทว่าจากผลการสำรวจภายหลังในปัจจุบัน แบรนด์ "วิว-มาสเตอร์" เป็นชื่อที่คนจำนวนกว่า 65% จากทั่วโลก จดจำได้เป็นอย่างดี

กล้องวิว-มาสเตอร์ เปิดตัวครั้งแรกในงาน นิวยอร์กเวิร์ลสแฟร์ ปี พ.ศ. 2482 (1939 New York World's Fair) มีข้อความบนตัวกล้องว่า "Patent Applied For" (อยู่ระหว่างรอสิทธิบัตร), วิว-มาสเตอร์วางจำหน่ายตามร้านอุปกรณ์ถ่ายภาพ, ร้านเครื่องเขียน และร้านขายของที่ระลึกในแหล่งท่องเที่ยว โดยถูกเสนอเป็นสินค้าทางเลือกใหม่ในกลุ่มโปสการ์ดภาพวิวที่ระลึก, วิวมาสเตอร์ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว ทำยอดขายดีมาก

แผ่นรีลแรกๆ ที่ผลิตขายเป็นภาพสถานที่ท่องเที่ยวเลื่องชื่อ เช่น อุทยานแห่งชาติถ้ำคาร์ลสแบด (Carlsbad Caverns) ในรัฐนิวเม็กซิโก และ แกรนด์แคนยอน (Grand Canyon) ในรัฐอริโซนา ฯลฯ

สิทธิบัตรสำหรับกล้องดูภาพสามมิติของกรูเบอร์ ออกอย่างเป็นทางการวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2483(1940)[12]

ชื่อรุ่นของกล้องวิว-มาสเตอร์ ใช้อักษรอังกฤษเป็นรหัสชื่อรุ่น เรียงไปเรื่อยๆ เช่น โมเดล เอ(A), บี(B) ฯลฯ

ยุครุ่งเรืองของซอว์เยอร์ส

กองทัพสหรัฐ ได้ทำการสั่งซื้อ กล้องวิวมาสเตอร์ รวมแล้วนับ 100,000 เครื่อง อีกทั้งซื้อแผ่นรีลเกือบ หกล้านแผ่น เพื่อใช้เป็นสื่อการเรียน-การฝึกในกองทัพ เพราะช่วยให้เห็นระยะตื้น-ลึกได้สมจริง การจัดซื้อตั้งแต่ปี พ.ศ. 2485 (1942) ไปจนถึงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ปี พ.ศ. 2488 (1945) และสหรัฐเป็นฝ่ายชนะสงคราม

ปี พ.ศ. 2487 (1944) ซอว์เยอร์ส ออกวิว-มาสเตอร์โมเดล บี (B) และต่อเนื่องจนถึง โมเดล เฮช (H ~1966)

ปี พ.ศ. 2494 (1951) ซอว์เยอร์ส ซื้อกิจการ ทรู-วิว (Tru-Vue ) เพื่อขจัดคู่แข่งหลัก และทำให้ได้ไลเซนส์ในการผลิตเนื้อหาจาก วอล์ทดิสนีย์สตูดิโอ (Walt Disney Studio) มาด้วย ซอว์เยอร์สจึงผลิตรีลที่เกี่ยวกับ ตัวการ์ตูนคาแร็คเตอร์ของดิสนีย์ออกมาจำหน่ายอย่างมากมาย รวมถึงภาพถ่ายสถานที่ท่องเที่ยวสวนสนุกดิสนีย์แลนด์ (Disneyland) ซึ่งเปิดตัวครั้งแรกตอนปี พ.ศ. 2498(1955)

ซอว์เยอร์สมีทีมฝ่ายผลิตเนื้อหาสามมิติสำหรับเด็ก เป็นของตนเองด้วย โดยว่าจ้างศิลปินช่างปั้นดินเหนียว มาปั้นตุ๊กตา และสร้างฉากจำลองเล่าเรื่องประกอบนิทาน-ตำนาน-วรรณกรรมต่างๆ ถ่ายเป็นสไลด์สามมิติ จัดเป็นชุดเซ็ท 3 แผ่นจบ พร้อมหนังสือเล่มเล็ก (storybooks, booklet) เล่าเนื้อเรื่องละเอียดขึ้น

การผลิตแผ่นรีลภาพสามมิตินอกเหนือจาก ภาพวิวทิวทัศน์, ภาพนิ่งภาพยนตร์ ภาพจากรายการทีวี การ์ตูน นิทานตุ๊กตาดินปั้น ฯลฯ กรูเบอร์ยังได้ร่วมมือกับ "เดวิด แบสเซ็ตต์ (David L. Bassett)" ถ่ายภาพสามมิติกายวิภาคของมนุษย์ "StereoScopic Atlas of Human Anatomy"[13] เพื่อใช้เป็นสื่อการศึกษาด้านการแพทย์ โครงการนี้เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2491(1948) เสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2505(1962) ได้ภาพถ่ายสามมิติราว 1,554 ภาพ ผลิตแผ่นวิวมาสเตอร์รีล ประมาณ 221 แผ่น เป็นอีกหนึ่งผลงานที่โด่งดังมากเช่นกัน (ดูภาพนิ่งเบื้องหลังการถ่ายทำ จะเห็นกรูเบอร์ ใช้เครื่องโปรเจกต์เตอร์ของวิวมาสเตอร์ เป็นไฟส่องถ่ายภาพด้วย [14])

ปี พ.ศ. 2495 (1952) ซอว์เยอร์ส เปิดสาขา และสร้างโรงงานผลิต ชื่อ Sawyer's Europe ที่ประเทศเบลเยี่ยม

ปีเดียวกันนี้ ซอว์เยอร์ส เปิดสายการผลิต กล้องถ่ายรูปสามมิติ วิว-มาสเตอร์ เพอร์ซันนอล โดยผลิตออกมา 2 รุ่น เพื่อให้ผู้ใช้สามารถถ่ายทำภาพสามมิติได้ด้วยตัวเอง แม้จะประสบความสำเร็จในช่วงแรก แต่ก็ยุติการผลิตลงในสิบปีต่อมา

กล้องถ่ายรูป 3 มิติ รุ่น เพอซันนอล สเตอริโอ

ปี พ.ศ. 2499 (1956) เอ็ดวิน เมเยอร์ เสียชีวิตจากโรคหัวใจ เขาบริหารงานที่ซอว์เยอร์สยาวนานกว่า 30 ปี [15]

ปี พ.ศ. 2501 (1958) ซอว์เยอร์ส เปิดอีก 3 สาขา ที่ ซิดนีย์ ออสเตรเลีย, โตเกียว ญี่ปุ่น และ ฝรั่งเศส (เป็นสาขาย่อยของ Sawyer's Europe) และจะขยายไปอีกหลายประเทศ

เรื่องราวความสำเร็จของ ซอว์เยอร์ส มีถ่ายทำเป็นสารคดีทีวี ชื่อ "Success Story" สัมภาษณ์ "บ็อบ บรอสต์ (Bob Brost)" ประธานบริษัทซอว์เยอร์ส(ราวปี 1959), ชมโรงงาน ดูขั้นตอนการผลิต-ประกอบชิ้นส่วน, จะเห็นภาพกล้องวิว-มาสเตอร์โมเดล อี, โมเดล เอฟ (~1952) รวมถึงสัมภาษณ์กรูเบอร์ด้วย รายการมีความยาว 30 นาที/ขาวดำ ออกอากาศทางช่อง King TV หาดูได้จาก Vimeo[16]

กาฟ วิว-มาสเตอร์

กาฟ วิว-มาสเตอร์ โมเดล จี(G) กับแผ่นรีล

พ.ศ. 2509 (1966) ซอว์เยอร์ส (Sawyer's) ถูกซื้อโดย General Aniline & Film (GAF) Corporation เรียกย่อว่า กาฟ แต่ยังคงใช้ตราซอว์เยอร์สกับสินค้าบางประเภท เช่น เครื่องฉายสไลด์ ฯลฯ, กาฟ ปรับทิศทางการผลิต ลดภาพทิวทัศน์ให้น้อยลง แต่เน้นไปที่เนื้อหาสำหรับเด็ก เช่น ของเล่น คาร์แรคเตอร์ตัวการ์ตูน รายการทีวี กล้องวิว-มาสเตอร์จึงเริ่มมีสีสันสดใส โดยเฉพาะสีแดง ยอดขายวิวมาสเตอร์ยังคงพุ่งแรงอยู่ แต่ต่อมาตลาดกลุ่มผู้ซื้อค่อยๆ หดตัวเล็กลง

พ.ศ. 2510 (1967) ป้ายหินอนุสรณ์เป็นเกียรติแก่กรูเบอร์ซึ่งติดอยู่ที่โรงงานฟิชเชอร์-ไพร้ซ์ แกะสลักว่าเสียชีวิตปี 1967 [17] หลังจากที่โรงงานผลิต ปิดตัวไป ฟิชเชอร์-ไพร้ซ์ได้ส่งมอบป้ายหินนี้ให้เป็นสมบัติของบุตรชายกรูเบอร์ในวอชิงตัน

ปี พ.ศ. 2511 (1968) กาฟ เปลี่ยนชื่อเป็น GAF Materials Corporation

กาฟ สานต่อ วิว-มาสเตอร์โมเดล จี(G), เฮช(H), ทอล์คกิ้ง(Talking) และออกโมเดลใหม่เช่น เจ(J), เค(K), โมเดล12 และ แอล(L)

วิว-มาสเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล

ปลายทศวรรษ 1970 วิดีโอเกม มีบทบาท และพัฒนาการมากขึ้น จนเรียกได้ว่าเป็นยุคทองของ วิดีโอเกม เลยทีเดียว บริษัทผลิตของเล่นชื่อดังหลายแห่งถึงกับต้องปิดกิจการ สินค้าวิว-มาสเตอร์ก็ประสบปัญหาเช่นกัน มีการขายเปลี่ยนมือไปหลายบริษัทภายในช่วงเวลาสั้นๆ

พ.ศ. 2524 (1981) GAF ขาย View-Master ให้กลุ่มนักลงทุนนำโดย อาร์โนลด์ ธาลเลอร์ (Arnold Thaler) ในราคา $20,000,000 และเปลี่ยนชื่อเป็น View-Master International (VMI) Group

วิว-มาสเตอร์ ไอดีล

เครื่องเล่นเกม วิวมาสเตอร์ อินเตอร์แอคทีฟ วิชั่น ผลิตโดย วิว-มาสเตอร์ ไอดีล กรุ๊ป

ประมาณปีพ.ศ. 2527(1984)[18] หรือ พ.ศ. 2528(1985)[19] ซีบีเอส ทอยส์ (CBS Toys) ขาย ไอดีล ทอย (Ideal Toy) ให้ VM Inter และใช้ชื่อรวมกันเป็น View-Master Ideal Group (ไอดีล ทอย เป็นผู้จัดจำหน่าย รูบิค Rubik's Cube)

VM Ideal ออกวิว-มาสเตอร์รุ่นใหม่คือ โมเดล เอ็ม(M)

พ.ศ. 2531 (1988) View-Master Ideal Group, Inc ขยายไลน์ ออกผลิตภัณฑ์ เครื่องเล่นเกมคอนโซล โดยอิงชื่อแบรนด์วิว-มาสเตอร์ View-Master Interactive Vision มีเกมเกี่ยวกับ เซซามี สตรีท, หุ่นมหาสนุก (the Muppet Show), ดิสนีย์ การ์ตูน อาเขต (ไม่ได้เป็นภาพสามมิติ)

ไทโค วิว-มาสเตอร์

พ.ศ. 2532 (1989) View-Master Ideal ถูกซื้อโดย Tyco Toys[20] (ไทโค มีชื่อเสียงในเรื่อง รถแข่งวิทยุบังคับ)

ไทโค ผลิต เฟซ วิวเวอร์ โดยทำชิ้นส่วนเฉพาะใบหน้าคาแร็คเตอร์ต่างๆ ติดเพิ่มที่ชิ้นฝาหลัง(ช่องรับแสง)ของกล้องโดยมากใช้กล้องโมเดลแอล(L) เช่น ใบหน้ามิคกี้เม้าส์, หน้านกบิ๊กเบิร์ด, หน้าแบทแมน ฯลฯ นอกจากนี้ก็ออกผลิตภัณฑ์วิว-มาสเตอร์โปรเจกต์เตอร์ขนาดเล็กสำหรับเด็ก (ภาพไม่เป็นสามมิติ)

พ.ศ. 2535 (1992) ไทโค ออกวิว-มาสเตอร์รุ่นใหม่คือ โมเดล เอ็น (N) รุ่นฟักทอง สีส้ม รับแสงได้ทั้งจากแสงธรรมชาติ และหลอดไฟในตัวเครื่อง

  • พ.ศ. 2536 (1993) Mattel กลุ่มบริษัทที่ทำผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับ ทารก และเด็กก่อนวัยเรียน ต้องการขยายกิจการสู่ต่างประเทศ จึงทำการซื้อ Fisher-Price

พ.ศ. 2540 (1997) ไทโค ออกวิว-มาสเตอร์ทอล์คกิ้ง รุ่นที่ 3 (Talking III) แต่ใช้ตลับฟิล์มพิเศษ ไม่ได้ใช้แผ่นรีล

ฟิชเชอร์-ไพร้ซ และ แมทเทล

27 มีค. พ.ศ. 2540 (1997) ไทโค ทอยส์ (Tyco Toys) ควบรวมกับ แมทเทล (Mattel) ทำให้กลายเป็นบริษัทของเล่นยักษ์ใหญ่อันดับ 3 ของสหรัฐอเมริกา

แบรนด์ ไทโค ยังคงถูกใช้ภายใต้แผนก Mattel Tyco R/C จวบจนถึงช่วงต้นทศวรรษ 2010 (ช่วง พ.ศ. 2553) ก็ปิดตำนานแบรนด์ ไทโค โดยถูกยุบย้ายสินค้า อาทิ เซซามี สตรีท, วิว-มาสเตอร์ไปอยู่ภายใต้แบรนด์ ฟิชเชอร์-ไพร้ซ์ (Fisher-Price) ของแมทเทล (ฟิชเชอร์-ไพร้ซ์ ดูแลสินค้ากลุ่มเด็กและเยาวชน)

ปัจจุบัน กล้องวิว-มาสเตอร์ วีอาร์ ใช้แบรนด์แมทเทล

ใกล้เคียง

แหล่งที่มา

WikiPedia: วิว-มาสเตอร์ http://phsc.ca/MA-W-Sell/view-master-119.jpg http://phsc.ca/MA-W-Sell/view-master-20.jpg http://phsc.ca/View-Master.html http://www.3dstereo.com/Merchant2/merchant.mvc?Scr... http://www.3dstereo.com/Merchant2/merchant.mvc?Scr... http://www.3dstereo.com/viewmaster/ssp-prc.html http://www.3dstereo.com/viewmaster/vvn-mic.html http://auction.catawiki.com/kavels/6817699-view-ma... http://www.collectorsweekly.com/toys/ideal http://www.ebay.com/itm/Talking-View-Master-3-D-Vi...