เรื่องราว ของ ศรีปราชญ์

เอกสารพม่ามอญ

เรื่องราวของศรีปราชญ์ปรากฏในเอกสารพม่าซึ่งกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงได้มาจากหอพระสมุดแห่งมัณฑะเลย์เมื่อ พ.ศ. 2454 ทรงเชื่อว่า เขียนขึ้นจากการสอบปากคำชาวกรุงศรีอยุธยาที่ถูกจับไปเป็นเชลยเมื่อคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 จึงให้แปลออกเป็นภาษาไทยและใช้ชื่อว่า คำให้การชาวกรุงเก่า[5] เอกสารนี้ระบุว่า ศรีปราชญ์เป็นบุคคลที่พระเจ้าสุริเยนทราธิบดี (พระเจ้าเสือ) ทรงชุบเลี้ยงไว้ เพราะเขารอบรู้ทางศาสนาและโหราศาสตร์ ทั้งยังเก่งทางโคลงกลอน เขาแต่งร้อยกรองถวายพระเจ้าสุริเยนทราธิบดีเป็นที่พอพระทัยเสมอ แต่เขาแอบแต่งเพลงยาวหาสนมนางหนึ่งของพระองค์ เมื่อทรงจับได้ ก็มิได้ฆ่า เพราะเสียดายความสามารถ ทรงเนรเทศเขาไปนครศรีธรรมราชแทน แต่ศรีปราชญ์เป็นคนเจ้าชู้ ไปอยู่นครศรีธรรมราชก็ไปแต่งเพลงยาวหาภรรยาเจ้าเมือง เจ้าเมืองจึงให้ฆ่า คนทั้งหลายห้ามไว้เจ้าเมืองก็ไม่ฟัง ก่อนตายศรีปราชญ์แช่งไว้ว่า "ดาบที่ฆ่าเรานี้ภายหลังจงกลับฆ่าคนที่ใช้ให้ฆ่าเราเถิด" ต่อมา พระเจ้าสุริเยนทราธิบดีทรงรำลึกถึงศรีปราชญ์ ทรงให้เรียกตัวกลับกรุงศรีอยุธยา แต่เมื่อทรงทราบว่า เขาถูกเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชประหารแล้ว ก็มีท้องตราออกไปให้ประหารเจ้าเมืองด้วยดาบเดียวกับที่ใช้ประหารศรีปราชญ์[1]

เอกสารอีกฉบับที่ปรากฏเรื่องศรีปราชญ์ คือ คำให้การขุนหลวงหาวัด ซึ่งกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเชื่อว่า มีที่มาเดียวกับ คำให้การชาวกรุงเก่า แต่ คำให้การขุนหลวงหาวัด เป็นภาษามอญ และรัชกาลที่ 4 ทรงให้แปลออกเป็นภาษาไทย[6] เอกสารนี้ระบุว่า พระเจ้าสุริเยนทราธิบดีโปรดมหาดเล็กคนหนึ่งเพราะมีฝีมือทางร้อยกรอง จึงประทานนามให้ว่า ศรีปราชญ์ แต่ศรีปราชญ์แต่งโคลงหานางใน จึงทรงเนรเทศเขาไปนครศรีธรรมราช ศรีปราชญ์ไปอยู่นครศรีธรรมราชก็ไปแต่งโคลงหาอนุภรรยาของเจ้าเมือง เจ้าเมืองจึงให้เอาไปฆ่า ก่อนตายศรีปราชญ์แช่งไว้ว่า "เรานี้เป็นปราชญ์หลวง แล้วก็เป็นลูกครูบาอาจารย์ แต่องค์พระมหากษัตริย์ยังไม่ฆ่าเราให้ถึงแก่ความตาย ผู้นี้เป็นเจ้าเมืองนคร จักมาฆ่าเราให้ตาย เราก็จักต้องตายด้วยดาบเจ้าเมืองนคร สืบไปเบื้องหน้าขอให้ดาบนี้คืนสนองเถิด" แล้วเขียนโคลงแช่งลงพื้นดินไว้ให้ประจักษ์ ต่อมา พระเจ้าสุริเยนทราธิบดีทรงให้เรียกตัวเขากลับ แต่เมื่อทรงทราบว่า เขาถูกเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชประหารเสียแล้ว ก็มีรับสั่งให้เอาดาบที่ใช้ประหารศรีปราชญ์นั้นประหารเจ้าเมืองตามไป[2]

การขยายความ

เรื่องราวของศรีปราชญ์ได้รับการดัดแปลงและขยายความเป็นอันมากในสมัยรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะในงานเขียนของพระยาตรัง กวีเอกสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และงานเขียนของพระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษมณ์) ข้าราชการสมัยรัชกาลที่ 6[3]

เรื่องราวที่ดัดแปลงนี้ระบุว่า ศรีปราชญ์มีชีวิตอยู่ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ชื่อเดิมว่า ศรี เป็นบุตรชายของพระโหราธิบดี เกิดราว พ.ศ. 2196 ประมาณ 3 ปีก่อนสมเด็จพระนารายณ์ทรงขึ้นครองราชย์[7] วันหนึ่งในราว พ.ศ. 2205 สมเด็จพระนารายณ์ทรงนิพนธ์โคลงค้างไว้ 2 บาทว่า[7][8][9]

อันใดย้ำแก้มแม่หมองหมาย
ยุงเหลือบฤๅริ้นพรายลอบกล้ำ (บางฉบับว่า ลอบย้ำ)

แล้วทรงให้พระโหราธิบดีกลับไปแต่งต่ออีก 2 บาทให้เต็มบท พระโหราธิบดีคิดไม่ออก ศรีจึงแต่งต่อว่า[7][8][9]

ผิวชนแต่จะกรายยังยาก
ใครจักอาจให้ช้ำชอกเนื้อเรียมสงวน

พระโหราธิบดีนำขึ้นถวาย สมเด็จพระนารายณ์พอพระทัยมาก จึงโปรดให้ศรีเข้าเป็นมหาดเล็ก พระโหราธิบดีรู้ว่า ลูกชายเป็นคนอุกอาจ จึงทูลขอพระราชทานโทษไว้ว่า วันใดลูกชายทำผิดถึงตาย ขออย่าได้ทรงประหาร เป็นแต่เนรเทศก็พอ สมเด็จพระนารายณ์ก็โปรดให้ตามนั้น[10][11]

ต่อมา สมเด็จพระนารายณ์เสด็จประพาสป่าแก้ว ฝูงลิงร่วมประเวณีอยู่บนต้นไม้ ตรัสถามศรีว่า ลิงทำอะไรกัน ศรีทูลด้วยโวหารว่า "นั้นคือเสียงมักกโฏ...มันทำสมัครสังวาสผิดประหลาดกว่าธรรมดา" บางฉบับก็ว่า ลิงในป่าแก้วถ่ายมูลรดศีรษะขุนนางผู้ใหญ่ ทุกคนหัวเราะจนสมเด็จพระนารายณ์ตื่นบรรทม ทรงถามว่า เกิดอะไรขึ้น ศรีทูลด้วยโวหารว่า "พยัคฆะ ขอเดชะ วานระ ถ่ายอุจจาระ รดศีรษะ พระยาเดโช" สมเด็จพระนารายณ์เห็นว่า ศรีมีสติปัญญา จึงพระราชทานนามให้โดยตรัสว่า "ศรีเอ๋ย เจ้าจงเป็นศรีปราชญ์ตั้งแต่บัดนี้"[11][12]

ต่อมา พระแสนเมือง เจ้านครเชียงใหม่ เสด็จลงมากรุงศรีอยุธยา ได้พบศรีปราชญ์ และประลองปัญญาโต้ตอบกันเป็นโคลงดังนี้[11][12]

พระแสนเมือง: ศรีเอยพระเจ้าฮื่อปางใด
ศรีปราชญ์: ฮื่อเมื่อเสด็จไปป่าแก้ว
พระแสนเมือง: รังสีบ่สดใสสักหยาด
ศรีปราชญ์: ดำแต่นอกในแผ้วผ่องเนื้อนพคุณ

เรื่องราวที่ได้รับการขยายความนี้มีอีกหลายแห่งที่กล่าวถึงความสามารถของศรีปราชญ์ในการเจรจาเป็นร้อยกรอง เช่น ระบุว่า ศรีปราชญ์ได้รับพระราชทานแหวน เดินผ่านประตูวัง และนายประตูทัก จึงโต้ตอบกันดังนี้[13]

นายประตู: แหวนนี้ท่านได้แต่ใดมา
ศรีปราชญ์: เจ้าพิภพโลกาท่านให้
นายประตู: ทำชอบสิ่งใดนาวานบอก
ศรีปราชญ์: เราแต่งโคลงถวายไท้ท่านให้รางวัล

ต่อมา ศรีปราชญ์ล่วงเกินนางในคนหนึ่ง โดยนางแต่งโคลงต่อว่าเขาว่า[13]

หะหายกระต่ายเต้นชมจันทร์
มันบ่เจียมตัวมันต่ำต้อย
นกยูงหางกระสันถึงเมฆ
มันบ่เจียมตัวน้อยต่ำต้อยเดียรฉาน

และเขาแต่งตอบว่า[14]

หะหายกระต่ายเต้นชมแข
สูงส่งสุดตาแลสู่ฟ้า
ระดูฤดีแดสัตว์สู่ กันนา
อย่าว่าเราเจ้าข้าอยู่พื้นดินเดียว

เรื่องราวดังกล่าวระบุว่า นางในคนนั้น คือ ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ (แจ่ม) สนมเอกของสมเด็จพระนารายณ์ โดยเชื่อมโยงกับ กำสรวลศรีปราชญ์ ที่เชื่อว่า เขาแต่งให้หญิงนาม ศรีจุฬาลักษณ์[15][16] การล่วงละเมิดนางในเป็นความผิดถึงตาย แต่สมเด็จพระนารายณ์ทรงเนรเทศเขาไปนครศรีธรรมราชแทน ตามที่ทรงรับปากไว้กับบิดาของเขา[15][16] เขาถูกเนรเทศไปในเดือนยี่[15]

ที่นครศรีธรรมราช ศรีปราชญ์ถูกกล่าวหาว่า มีสัมพันธ์กับอนุภรรยาของเจ้าเมือง และถูกประหารชีวิตใน พ.ศ. 2226[17][18] ก่อนตายเขาเขียนโคลงสาปแช่งไว้บนพื้นดินว่า[17][18][19]

ธรณีนี่นี้เป็นพยาน
เราก็ศิษย์มีอาจารย์หนึ่งบ้าง
เราผิดท่านประหารเราชอบ
เราบ่ผิดท่านมล้างดาบนี้คืนสนอง

บางแหล่งระบุ 2 บาทแรกของโคลงดังกล่าวไว้แตกต่างออกไปดังนี้[18]

ธรณีภพนี้เพ่งทิพญาณ หนึ่งรา
เราก็ลูกอาจารย์หนึ่งบ้าง

ต่อมา สมเด็จพระนารายณ์ทรงรำลึกถึงเขา จึงรับสั่งให้เรียกตัวเขากลับกรุงศรีอยุธยา แต่เมื่อทรงทราบว่า เขาถูกเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชประหารแล้ว จึงรับสั่งให้เอาดาบที่ใช้ประหารเขานั้นประหารเจ้าเมืองตายตกตามกันสมดังคำสาปแช่งของเขา[17][18][19]

มีผู้เชื่อว่า ที่ประหารศรีปราชญ์ ปัจจุบันคือ โรงเรียนอนุบาลนครศรีธรรมราช "ณ นครอุทิศ" และสระล้างดาบที่ใช้ประหารนั้น ปัจจุบันคือ โรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช[17][18]

การนำเสนอ

เรื่องราวของศรีปราชญ์ได้รับการผลิตซ้ำในฐานะกวีเอกและบุคคลสำคัญของชาติไทย[3][20] ทั้งยังปรากฏในแบบเรียน จนเหมือนเป็นบุคคลที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์[3]

มุมมองทางประวัติศาสตร์

นักประวัติศาสตร์เห็นว่า เรื่องราวของศรีปราชญ์เป็น "จินตนาการ" มากกว่าเป็นความจริง เพราะไม่เคยมีการบันทึกที่น่าเชื่อถือได้[3]

กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเห็นว่า เอกสารพม่ามอญข้างต้นมีหลายส่วนที่เลอะเทอะคลาดเคลื่อน รับสั่งว่า "วิเคราะห์ดูเนื้อเรื่องตอนพงศาวดารเข้าใจว่า คงจะเป็นคำให้การตามที่พวกไทยจำได้คนละเล็กละน้อยช่วยกันปะติดปะต่อ ไม่ได้มีหนังสือพงศาวดารไทยติดไปด้วย อีกประการหนึ่ง จะเป็นด้วยพวกไทยที่ถูกพม่าถามประสงค์จะรักษาเกียรติมิให้พม่าข้าศึกรู้เรื่องอันใดจึงจะเป็นเหตุให้หมิ่นประมาทชาติไทย ไม่ได้ตั้งใจจะแสดงเรื่องราวในพระราชพงศาวดารแม้ที่จำได้ให้แก่พม่าทุกอย่างไป เรื่องพงศาวดารตามคำให้การนี้จึงเคลื่อนคลาดนัก"[21]

เช่นเดียวกับสุจิตต์ วงษ์เทศ ที่กล่าวว่า "คำให้การชาวกรุงเก่า เป็นหนังสือคำให้การของเชลยชาวกรุงศรีอยุธยาหลายคนที่ถูกพม่ากวาดต้อนไปเมื่อคราวกรุงแตก พ.ศ. 2310 แล้วให้การเป็นภาษาไทย แต่แปลเป็นภาษามอญและพม่า แล้วถ่ายกลับมาเป็นภาษาไทยอีกทีหนึ่ง เรื่องราวต่าง ๆ จึงเลอะเลือน 'ใส่สีใส่ไข่' จนสับสนไปหมด"[22]

สุจิตต์ยังเห็นว่า เรื่องของศรีปราชญ์เป็นเพียงนิทานเล่าขานทำนองเดียวกับศรีธนญชัย โดยศรีปราชญ์เป็นตัวแทนของความกล้าหาญ ซื่อตรง แข็งกร้าว และรักความเป็นธรรม ส่วนศรีธนญชัยเป็นตัวแทนของความกะล่อน ปลิ้นปล้อน เจ้าเล่ห์ ขี้โกง และเอารัดเอาเปรียบ[4] สุจิตต์เสนอว่า เรื่องทั้งของศรีปราชญ์และศรีธนญชัยน่าจะได้รับมาจากวัฒนธรรมอินโดนีเซียหรือเปอร์เซียไว้เล่าสู่กันฟังคลายความตึงเครียดในชีวิตประจำวันตามระบอบจารีตประเพณี[4]