ประวัติ ของ ศาลาว่าการกรุงบรัสเซลส์

ศาลาว่าการแห่งนี้ประกอบด้วยส่วนที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ศิลปะทั้งหมดสองส่วนสำคัญ ได้แก่

รายละเอียดของหน้าบันบริเวณเหนือซุ้มทางเข้า ประกอบด้วย (ซ้ายไปขวา); นักบุญเซบาสเตียน, นักบุญคริสโตเฟอร์, นักบุญมีคาเอล, นักบุญจอร์จ และนักบุญเฌรี

ส่วนสถาปัตยกรรมกอทิก

ส่วนของอาคารที่เป็นสถาปัตยกรรมกอทิกที่สร้างในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 15 นั้นถูกแบ่งเป็นสามช่วงหลักๆ คือ

บริเวณปีกซ้ายและบริเวณฐานของหอแขวนระฆังนั้นเริ่มสร้างในปี ค.ศ. 1401 จนถึงค.ศ. 1421 โดยสร้างบนที่เดิมซึ่งเป็นที่พักของเทศมนตรี อำนวยการสร้างโดยสถาปนิกยาโกบ ฟัน ตีเนิน (ศิษย์เอกของฌ็อง ดัวซี สถาปนิกชาวแอโนผู้ริเริ่มสถาปัตยกรรมกอทิกแบบบราบันต์) และฌ็อง บอร์นัว สถาปนิกชาวฝรั่งเศส กับเค. ฟันเดอร์ บรุกเกอ[1]

บริเวณปีกขวาได้มีการวางศิลาฤกษ์โดยชาร์ลผู้อาจหาญ เริ่มสร้างเมื่อปี ค.ศ. 1444 จนถึงค.ศ.​1449 โดยเป็นผลงานการออกแบบของสถาปนิก กีโยม เดอ วอแกล[1] ซึ่งต่อมาได้กลายมาเป็นสถาปนิกเอกประจำนครบรัสเซลส์ในปี ค.ศ. 1452

บริเวณส่วนบนของอาคารรวมทั้งยอดแหลมของหอแขวนระฆังนั้นสร้างขึ้นโดยยัน ฟัน เรยส์บรุก สถาปนิกเอกประจำราชสำนักของฟิลิปที่ 3 ดยุกแห่งเบอร์กันดี ในปี ค.ศ.1449 ถึงค.ศ. 1455[1]

ส่วนสถาปัตยกรรมบาโรก

หลังจากการถูกถล่มโดยกองทัพฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1695 ได้สร้างความเสียหายมากมายให้กับตัวอาคาร และยังทำลายอาคารที่ตั้งอยู่ด้านหลัง คือ ตลาดผ้า หรือ "อาโลดรา" (Halle au Drap) ที่ตั้งอยู่ติดกันกับอาคารนี้ ซึ่งต่อมาจึงได้มีการบูรณะซ่อมแซม รวมทั้งขยายออกไปบริเวณด้านหลังอาคารที่เคยเป็นสถานที่ตั้งของอาโลดรา ได้รับการออกแบบโดยสถาปนิกชาวบรัสเซลส์ กอร์แนย์ วาน แนร์แวน ในแบบสถาปัตยกรรมบาโรก (แบบพระเจ้าหลุยส์ที่ 14) ในระหว่างปี ค.ศ. 1706 ถึงค.ศ. 1717[1] อาคารส่วนที่ต่อเติมมาด้านหลังนี้มิได้สร้างขึ้นในฐานะสถานที่ราชการของบรัสเซลส์ แต่ในฐานะของรัฐบราบันต์ จนกระทั่งปี ค.ศ. 1795

การบูรณะในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 19

อาคารศาลาว่าการแห่งนี้ได้ผ่านการบูรณะครั้งใหญ่มาหลายครั้งในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ภายใต้การควบคุมของสถาปนิกตีลมาน-ฟร็องซัว ซุย ตั้งแต่ปี ค.ศ.​ 1840 และวิกตอร์ ฌาแมร์ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1860[2] เป็นต้นไป โดยได้มีการเฉลิมฉลองครบสองร้อยปีเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ค.ศ. 1897[3] โดยในช่วงนี้เป็นช่วงที่มีการต่อเติมรูปปั้นโดยรอบของอาคารอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

ก่อนหน้านี้ ศาลาว่าการแห่งนี้ไม่ได้ถูกตกแต่งประดับประดาโดยรอบอาคารด้วยรูปปั้นมากมาย มีเพียงแต่คันทวย รูปปั้นของผู้เผยพระวจนะทั้งแปด และรูปปั้นตกแต่งบริเวณป้อมมุมของอาคารเท่านั้น โดยจากหลักฐานของอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์ของเบลเยียม บรัสเซลส์ ฉบับที่ 1 หน้า 126 ได้ระบุว่า จากหลักฐานที่พบตามภาพเขียนในปี ค.ศ. 1564, 1606, 1646 และ 1650 จะพบว่าบริเวณหน้าบันหลักของอาคารรวมทั้งปีกทั้งสองข้างนั้นไม่พบรูปปั้นใด ๆ ประกอบ ยกเว้นบริเวณเหนือซุ้มประตูทางเข้าหลัก บริเวณชั้นสองของหอแขวนระฆัง และบริเวณหอป้อมมุมทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และหน้าที่ 128 ระบุอีกว่า ได้มีการตกแต่งเพิ่มเติมด้านหน้าอาคารฝั่งตะวันออกในระหว่างปี ค.ศ. 1860 จนถึง ค.ศ. 1867

ส่วนงานตกแต่งด้านหน้าอาคารนั้นเป็นผลงานของวิกตอร์ ฌาแมร์ ซึ่งได้เพิ่มส่วนหน้าต่างโค้งมีช่องทางเดินด้านใน รวมทั้งบันไดซึ่งเขาได้ปรึกษาอย่างดีกับเออแฌน วียอแล-เลอ-ดุก ในระหว่างปี ค.ศ. 1844 ถึงค.ศ. 1902 นั้นได้มีการเพิ่มเติมรูปปั้นต่าง ๆ ภายนอกอาคารถึง 150 ชิ้น สลักจากหินปูนสีขาวจากเมืองก็องและเอชายง[2]

ส่วนรูปปั้นผู้เผยพระวจนะนั้นประดับอยู่เหนือมุขทางเข้า ซึ่งเสื่อมโทรมไปตามเวลานั้นได้ถูกย้ายไปเก็บในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นแห่งบรัสเซลส์ (Musée communal de Bruxelles) โดยได้แทนที่เดิมด้วยงานสลักจำลองจากของจริง รวมถึงงานคันทวย และงานแกะสลักหัวเสาจาก แมซงเดอแล็สทราปาด, แมซงเดอลากาโวมวน และ แมซงดูว์มอร์

ใกล้เคียง

ศาลาว่าการกรุงบรัสเซลส์ ศาลาว่าการกรุงโตเกียว ศาลาว่าการเมืองสต็อกโฮล์ม ศาลาว่าการรัฐโรดไอแลนด์ ศาลาว่าการกรุงคีชีเนา ศาลาว่าการเก่าฮกไกโด ศาลาว่าการนครซิดนีย์ ศาลาราย วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ศาลาเฉลิมกรุง ศาลาเครื่องราชอิสริยยศ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเหรียญกษาปณ์