มุมมองชาวพุทธ ของ ศาสนาพุทธกับทฤษฎีวิวัฒนาการ

ท่านอนาคาริก ธรรมปาละได้เคยกล่าวไว้ว่า "ทฤษฎีวิวัฒนาการเป็นคำสอนที่สืบมาตั้งแต่โบราณจากพระพุทธเจ้า"[7]ในพระไตรปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ จูฬมาลุงกยโอวาทสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสตอบท่านพระมาลุงกยบุตรในปัญหาเรื่องโลกไว้ว่า

ดูก่อนมาลุงกยบุตร เปรียบเหมือนบุรุษต้องศรอันอาบยาพิษที่ฉาบทาไว้หนา มิตร อมาตย์ ญาติสาโลหิตของบุรุษนั้น พึงไปหานายแพทย์ผู้ชำนาญในการผ่าตัดมาผ่า บุรุษผู้ต้องศรนั้นพึงกล่าวอย่างนี้ว่า"เรายังไม่รู้จักบุรุษผู้ยิงเรานั้นว่า เป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ หรือ ศูทร... มีชื่อว่าอย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้... สูงต่ำหรือปานกลาง... ดำขาว หรือผิวสองสี ... อยู่บ้าน นิคม หรือนครโน้น เพียงใด เราจักไม่นำลูกศรนี้ออกเพียงนั้นเรายังไม่รู้จักธนูที่ใช้ยิงเรานั้นว่าเป็นชนิดมีแล่งหรือเกาทัณฑ์... สายที่ยิงเรานั้นเป็นลายทำด้วยปอผิว ไม้ไผ่ เอ็น ป่านหรือเยื่อไม้... ลูกธนูที่ยิงเรานั้น ทำด้วยไม้ที่เกิดเองหรือไม้ปลูก... หางเกาทัณฑ์ที่ยิงเรานั้น เขาเสียบด้วยขนปีกนกแร้ง นกตะกรุม เหยี่ยว นกยูง หรือนกคางหย่อน... เกาทัณฑ์นั้นเขาพันด้วยเอ็นวัว เอ็นควาย เอ็นค่าง หรือเอ็นลิง... ลูกธนูที่ยิงเรานั้นเป็นชนิดอะไร เพียงใด เราจักไม่นำลูกศรนี้ออกเพียงนั้น"ดูก่อนมาลุงกยบุตร บุรุษนั้นพึงรู้ข้อนั้นไม่ได้เลย โดยที่แท้ บุรุษนั้นจะพึงทำกาละ (ตาย) ไปก่อน[3]

ข้ออุปมาว่าด้วยลูกศรนี้ มักจะใช้แสดงคำสอนของพระพุทธเจ้าเกี่ยวกับ "ผู้ปฏิบัติที่เกี่ยวพันตนเองในเรื่องกำเนิดของโลกและเรื่องอื่น ๆ แล้วพลาดจากเป้าหมายของทางปฏิบัติ"[4]

แนวคิดทางเถรวาทเกี่ยวกับกฎธรรมชาติ5อย่างหรือนิยาม5 ในหลักพีชนิยามหรือกฎธรรมชาติเกี่ยวกับการสืบพันธุ์ ที่เป็นสิ่งกำหนดให้หว่านพืชเช่นไรย่อมได้ผลเช่นนั้น มะม่วงย่อมให้ผลเป็นลูกมะม่วงเสมอ ลูกเสือย่อมเกิดจากพ่อแม่ที่เป็นเสือ ซึ่งตามหลักอภิธรรมกฎพีชนิยามจะเกิดขึ้นจากกฎธรรมนิยาม ดังจะกล่าวคือ

*1. อนิจจัง (ความไม่แน่นอน) ทำให้สิ่งทั้งปวงย่อมต้องเปลี่ยนแปลงสถานะเดิม อย่างธาตุดิน เปลี่ยนเป็นธาตุน้ำ เปลี่ยนเป็นธาตุลม และเปลี่ยนเป็นธาตุไฟ และเปลี่ยนกลับไปกลับมาไม่สิ้นสุด ตามอุตุนิยามหรืออุณหภูมิร้อนเย็น แม้จะเปลี่ยนแปลงแต่การเปลี่ยนแปลงก็มีขีดจำกัด ทำให้เกิดการกลับไปเริ่มต้นใหม่ ทำให้เกิดกฎแห่งวัฏจักร กฎแห่งวัฏฏตา กฎแห่งการหมุนเวียนเปลี่ยนผัน เมื่อเริ่มต้นถึงที่สุดก็กลับมาตั้งต้นใหม่ แม้กระนั้นกฎแห่งอนิจจังก็คือความไม่แน่นอน แม้หมุนวนเวียนแต่ก็ย่อมมีความเปลี่ยนแปลงจากเดิมอยู่บ้าง ทำให้ทายาทไม่จำเป็นต้องเหมือนผู้ให้กำเนิดไปซะทั้งหมด กฎแห่งวัฏฏตาทำให้เกิดกฎแห่งสันตติคือการสืบต่อที่ปิดบังอนิจจังต่อไป

*2. ทุกขัง (ความไม่เที่ยงแท้ ทนอยู่ในสภาพเดิมมิได้ตลอดกาล) คือ สิ่งทั้งปวงหยุดนิ่งมิได้เหมือนจะต้องเคลื่อนอยู่ตลอดเวลา อย่าง ลมต้องพัด เปลือกโลกต้องเคลื่อน โลกต้องหมุน ทุกอย่างจะอยู่นิ่งมิได้ มีแค่เคลื่อนมากหรือเคลื่อนน้อย จึงทำให้เกิดกฎแห่งการปรับสมดุล (สมตา ) คือแม้จะมีการเคลื่อนตลอดเวลา แต่การเคลื่อนนั้นก็ทำให้มีการปรับสมดุล เช่น อากาศระเหยขึ้นไปเพราะความร้อนเกิดเป็นสูญญากาศ อากาศด้านข้างจึงไหลเข้ามาทำให้เกิดลม เมฆบนฟ้าเกิดประจุไฟฟ้าเป็นจำนวนมากจึงต้องปรับสมดุลด้วยการถ่ายเทมายังพื้นโลกจึงเกิดฟ้าผ่าขึ้น เป็นต้น การปรับสมดุลจึงทำให้บางสิ่งคงอยู่ไม่แตกสลายเร็วนัก และสิ่งคงอยู่ย่อมแตกสลายไปตามกฎแห่งอนิจจัง แต่ถ้ามีการถ่ายทอดข้อมูลจากสิ่งเก่าไปสู่สิ่งใหม่ เช่น ดวงจิตที่ถ่ายทอดข้อมูลจากดวงจิตเดิมสู่ดวงจิตก่อนจิตดวงเดิมดับ เป็นต้น ย่อมทำให้ดำรงอยู่ต่อได้ จึงทำให้เกิดกฎแห่งสันตติการสืบต่อ และทำให้เกิดกฎแห่งพันธุกรรมของพีชนิยาม แม้แต่การซ่อมแซมตัวเองของร่างกายก็เกิดขึ้นจากกฎสมตานี้ ซึ่งให้เกิดชีวิตที่ต้องปรับสมดุลตัวเองตามกฎสมตา เวลาหิวหากิน เวลาง่วงนอน เวลาเหนื่อยพัก เวลาปวดอุจจาระปัสสาวะก็ถ่าย เวลาเมื่อยก็เคลื่อนไหว ทำให้เกิดอิริยาบถ ที่ปิดบังทุกขังนั่นเอง

*3. อนัตตา (สิ่งทั้งปวงไม่ใช่ตัวตนอย่างแท้จริง) สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นจากกฎอิทัปปัจจยตา ดูเหมือนมีตัวตนเพราะอาศัยเหตุปัจจัยต่างๆประกอบกันขึ้น และสิ่งทั้งปวงย่อมเกี่ยวเนื่องซึ่งกันและกัน ทำให้เกิดการผสมผสาน ทำให้เกิดความหลากหลายยิ่งขึ้น เพิ่มขึ้นซับซ้อนขึ้น เมื่อสิ่งต่างๆ มีผลกระทบต่อกันในด้านต่างๆ จนทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันและอาศัยกันและกันเพื่อดำรงอยู่ จึงเกิดกระบวนการทำงานหรือกฎชีวิตาขึ้นจึงเกิดฆนะสัญญาหรือความเป็นก้อนขึ้นทำให้เกิดความรู้สึกถึงการมีตัวตนขึ้น แม้กระทั่งกระบวนการทำงานของจิต ก็ทำให้รู้สึกถึงการมีตัวตนทางใจเช่นกัน ดังนั้นกฎชีวิตาจึงทำให้เกิดฆนะ รูปร่าง หรือการเป็นก้อนๆ ตลอดจนรู้สึกมีตัวตน ที่ปิดบังอนัตตาในที่สุด

ตามหลักอภิธรรมกฎแห่งธรรมนิยามทั้งคืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทำให้เกิดกฎแห่งพีชนิยามทั้ง3คือสมตา(ปรับสมดุล) วัฏฏตา(หมุนวนเวียน)ชีวิตา(มีหน้าที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน) ตามนัยดังกล่าว

ดังนั้นแนวคิดทางเถรวาทมีหลายอย่างคล้ายกับทฤษฎีวิวัฒนาการ จึงไม่ขัดแย้งกับทฤษฎีวิวัฒนาการ ของชาร์ล ดาวิน

นอกจากนั้นแล้ว ยังมีชาวพุทธที่คัดค้านทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วินเพราะเป็นลัทธิวัตถุนิยม (หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สสารนิยม) [8][9][10]พระพุทธเจ้าโดยมากก็ทรงนิ่งไม่พยากรณ์ปัญหาเกี่ยวกับกำเนิดโลก[2]และยังกล่าวได้อีกด้วยว่า เรื่องนี้ไม่สำคัญ หรือว่า สามารถตีความหมายอัคคัญสูตร (ที่จะกล่าวต่อไป) ว่า เป็นเรื่องแสดงกระบวนการวิวัฒนาการอย่างคร่าว ๆ [11]

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มชนอื่น ๆ อีกที่มีความเห็นต่าง ๆ กันเป็นอย่างอื่นเป็นต้นว่า

  • วิทยาศาสตร์สั่งสมความรู้ยังไม่ครอบคลุมเพียงพอ[9][12]
  • วิทยาศาสตร์ไม่สามารถรู้เรื่องของจิตวิญญาณได้[9] (ซึ่งสืบเนื่องกับการเกิดของมนุษย์)
  • วิทยาศาสตร์มีข้อที่เข้ากับพุทธศาสนาและมีข้อที่แตกต่าง[9][12][13][10][14]
  • ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ยังไม่สมบูรณ์ อาจล้มล้างได้ด้วยหลักฐานใหม่ ๆ [12][15]
  • วิวัฒนาการเป็นความคิดขัดแย้งกับคำสอนพระพุทธศาสนาเพราะสืบเนื่องด้วยสัตว์บุคคล[15]
  • การศึกษาทั้งทางวิวัฒนาการทั้งทางพุทธศาสนาเป็นการศึกษาทฤษฎีที่ไม่สามารถรู้เองได้ง่าย ให้ทำดีเผื่อไว้ก่อน[15]
  • เป็นความเชื่อคนละทาง[14]

อัคคัญสูตร

ในอัคคัญสูตรในพระไตรปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค[16]พระพุทธเจ้าได้ทรงพยากรณ์อย่างละเอียดพิศดารเกี่ยวกับเรื่องนี้ คือพระพุทธเจ้าได้ตรัสกับวาเสฏฐะสามเณรและภารทวาชะสามเณรผู้มีชาติเป็นพราหมณ์ไว้ว่า

วาเสฏฐะและภารทวาชะ สมัยหนึ่ง ครั้นเวลาล่วงเลยมาช้านาน โลกนี้เสื่อม เมื่อโลกกำลังเสื่อม เหล่าสัตว์ส่วนมากไปเกิดที่พรหมโลกชั้นอาภัสสระ นึกคิดอะไรก็สำเร็จได้ตามปรารถนา มีปีติเป็นภักษา มีรัศมีซ่านออกจากร่างกายครั้นเวลาล่วงเลยมาช้านาน โลกนี้เจริญขึ้น เมื่อโลกกำลังเจริญขึ้น เหล่าสัตว์ส่วนมากจุติจากพรหมโลกชั้นอาภัสสระมาเป็นอย่างนี้ นึกคิดอะไรก็สำเร็จ ได้ตามปรารถนา มีปีติเป็นภักษา มีรัศมีซ่านออกจากร่างกาย เที่ยวสัญจรไปในอากาศ อยู่ในวิมานอันงดงาม สถิตอยู่นานแสนนาน

วาเสฏฐะและภารทวาชะ สมัยนั้น ทั่วทั้งจักรวาลนี้แหละเป็นน้ำทั้งนั้น มืดมนอนธการ ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ ดวงดาวนักษัตรทั้งหลายยังไม่ปรากฏ กลางคืน กลางวันยังไม่ปรากฏ เดือนหนึ่ง ครึ่งเดือน ฤดูและปีก็ยังไม่ปรากฏวาเสฏฐะและภารทวาชะ สมัยนั้น ทั่วทั้งจักรวาลนี้แหละเป็นน้ำปรากฏ หญิงชายก็ยังไม่ปรากฏ สัตว์ทั้งหลายปรากฏชื่อแต่เพียงว่า ‘สัตว์’ เท่านั้น ครั้นเวลาล่วงเลยมาช้านาน เกิดง้วนดินลอยอยู่บนน้ำ ปรากฏแก่สัตว์เหล่านั้น ดุจน้ำนมที่บุคคลเคี่ยวให้แห้งแล้วทำให้เย็นสนิทจับเป็นฝาอยู่ข้างบน ง้วนดินนั้น สมบูรณ์ด้วยสี สมบูรณ์ด้วยกลิ่น สมบูรณ์ด้วยรส มีสีเหมือนเนยใสหรือเนยข้นอย่างดี และมีรสอร่อยเหมือนน้ำผึ้งมิ้มซึ่งปราศจากโทษ

ในชุมชนที่มีศรัทธาว่า พระพุทธเจ้าทรงเป็นพระสัพพัญญู คือทรงสามารถรู้โลกได้ทุกอย่างตามปรารถนา และสิ่งที่พระองค์รู้นั้นย่อมเป็นความจริงโดยส่วนเดียว นี้เป็นหลักฐานคัดค้านทฤษฎีวิวัฒนาการโดยตรง เพราะทรงแสดงการกำเนิดของมนุษย์มาจากพรหมโดยตรงพร้อมกับการเกิดของโลกโดยประมาณ ไม่ได้ผ่านวิวัฒนาการของสัตว์โดยประการต่าง ๆ [13][17][15][18]แต่สำหรับหลายคน เพราะว่า พระพุทธองค์ดูเหมือนจะทรงแสดงแบบจำลองของโลก ที่เอกภพมีการหดตัวลง (โลกเสื่อม) การขยายออก (โลกเจริญ) ในชั่วระยะเวลายาวนาน คำพรรณนานี้ดูเหมือนจะเข้ากับแบบจำลองทางวิทยาศาสตร์ในเรื่องการขยายตัวของเอกภพและบิกแบง[19][20]และหลาย ๆ คนก็รู้สึกว่า อัคคัญสูตรไม่ควรที่จะตีความตรง ๆ [4][20][21]

ตัวอย่างเช่น มีเว็บไซต์เกี่ยวกับพุทธที่พิมพ์ข้อความว่า

เรื่องนี้บางครั้งเรียกกันว่าเรื่องปรัมปราการสร้าง (จักรวาล) ของชาวพุทธ แต่ว่า (จริงแล้ว ๆ) ถ้าอ่านโดยเป็นนิทานสอนใจ ก็จะไม่ใช่เรื่องการสร้าง (จักรวาล) แต่เป็นเรื่องการปฏิเสธชนชั้นวรรณะ ซึ่งดูหมายจะคัดค้านเรื่องราวต่าง ๆ จากคัมภีร์พระเวทที่ยืนยันความถูกต้องของวรรณะต่าง ๆ [22]

แหล่งที่มา

WikiPedia: ศาสนาพุทธกับทฤษฎีวิวัฒนาการ http://pewforum.org/Science-and-Bioethics/Religiou... http://newsblogs.chicagotribune.com/religion_these... http://www.wildmind.org/blogs/on-practice/buddhism... http://books.google.com/books?id=2H6A_c8fMbsC&dq=t... https://web.archive.org/web/20120914070537/http://... http://online.sfsu.edu/~rone/Buddhism/VerhoevenBud... http://bigbanginmymind.blogspot.com/2007/08/blog-p... https://www.webcitation.org/6TVZMlfXy?url=http://b... http://sunyata.igetweb.com/articles/371221/%E0%B8%... https://www.webcitation.org/6TJV0XB2D?url=http://s...