พุทธศาสนาเถรวาทในจีน ของ ศาสนาพุทธในประเทศจีน

ในประเทศจีน มีผู้นับถือพุทธศาสนาแบบเถรวาทเฉพาะในมณฑลยูนนาน ซึ่งโดยทั่วไปเป็นชนกลุ่มน้อยชาวไทลื้อและชาวไทใหญ่

พุทธศาสนาในสิบสองปันนา

พุทธศาสนาในสิบสองปันนาเป็นพุทธศาสนาเถรวาทลัทธิลังกาวงศ์ โดยได้รับอิทธิพลจากอาณาจักรล้านนาหรือเชียงใหม่ในปัจจุบัน แบ่งเป็น 2 นิกายเช่นเดียวกับพุทธศาสนาในเชียงใหม่คือ [1]

  • สำนักวัดสวนดอกหรือฝ่ายสวน ตั้งที่เชียงใหม่เมื่อ พ.ศ. 1914 แต่เข้าสู่สิบสองปันนาเมื่อใดไม่มีหลักฐาน
  • สำนักวัดป่าแดงหรือฝ่ายป่า ตั้งขึ้นที่เชียงใหม่เมื่อราว พ.ศ. 1973 โดยคณะสงฆ์ที่ไปบวชเรียนมาใหม่จากประเทศศรีลังกา ถือวินัยเคร่งครัดกว่าฝ่ายสวน เผยแพร่เข้าสู่สิบสองปันนาเมื่อ พ.ศ. 1989 โดยผ่านทางเชียงตุง

พุทธศาสนาในเขตปกครองตนเองไทใต้คง

พุทธศาสนาแพร่เข้าสู่เขตปกครองตนเองไทใต้คงเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 19-20 แบ่งออกเป็น 4 นิกายคือ

  • นิกายปายจอง เป็นนิกายที่แพร่เข้ามาก่อนนิกายอื่น ไม่เคร่งวินัย ภิกษุเลี้ยงสัตว์เลี้ยง เช่น เป็ด ไก่ ได้
  • นิกายกึงโยน เป็นนิกายที่แพร่เข้าสู่เมืองขอนเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 20 ได้รับอิทธิพลจากเชียงใหม่ มีการแบ่งย่อยเป็นโยนสวนกับโยนป่าเหมือนในเมืองเชียงใหม่ เขียนคัมภีร์ด้วยอักษรล้านนา
  • นิกายโตเล เป็นนิกายที่ได้รับอิทธิพลจากพม่าเข้าสู่เมืองมาวเมื่อ พ.ศ. 2294 ถือวินัยเคร่งครัดกว่านิกายอื่น มีการบวชสามเณรีและภิกษุณี
  • นิกายชุติหรือโจติเป็นนิกายที่เกิดขึ้นในใต้คงโดยภิกษุชาวไทใหญ่เห็นว่าพระสงฆ์เดิมถือวินัยหย่อนยาน แพร่เข้าสู่เมืองแจ้ฝางและเมืองมาวเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 20 เคยแพร่หลายที่เมืองขอนระยะหนึ่งเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 25 แต่ภายหลังพ่ายแพ้นิกายปายจอง คณะสงฆ์นิกายนี้ในเมืองขอนจึงถอนตัวจากเมืองขอนเข้าสู่พม่าไปตั้งศูนย์กลางที่เมืองมีดและเมืองยางในรัฐฉานตามลำดับ ภิกษุในนิกายนี้มีวัตรปฏิบัติต่างจาก 3 นิกายข้างต้น ทั้งภิกษุและฆราวาสต่างเคร่งครัดวินัย

เมื่อ พ.ศ. 2532 สำรวจพบว่าชาวพุทธในไต้คง เป็นชาวไทใหญ่ 90% ชาวปะหล่องและชาวอาชาง 10% ในจำนวนนี้นับถือนิกายปายจอง 52% นิกายโตเล 33% นิกายกึงโยน 12% และนิกายชุติ 3%[2]