นิมนต์พระสงฆ์จากสยาม ของ ศาสนาพุทธในประเทศศรีลังกา

เมื่อ พ.ศ. 2294 (พ.ศ. 2293 ตามการนับแบบไทย) สามเณรผู้ใหญ่ชื่อสามเณรสรณังกรได้ทูลขอให้พระเจ้ากิตติราชสิงหะ กษัตริย์ลังกาในขณะนั้น ให้ส่งทูตมาขอนิมนต์พระสงฆ์จากเมืองไทย (กรุงศรีอยุธยา) ไปฟื้นฟูพระพุทธศาสนา ณ ลังกาทวีป สมัยนั้นตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แห่งกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าบรมโกศจึงได้ส่งพระสมณทูตไทยจำนวน 10 รูป มีพระอุบาลีเป็นหัวหน้า เดินทางมาประเทศลังกา มาทำการบรรพชาอุปสมบทแก่กุลบุตรชาวลังกาถึงสามพันคน ณ เมืองแคนดี้ สามเณรสรณังกรซึ่งได้รับการอุปสมบทในครั้งนี้ ได้รับการสถาปนาจากกษัตริย์ลังกาให้เป็นสมเด็จพระสังฆราช จึงได้เกิดคณะสงฆ์นิกายสยามวงศ์ หรือนิกายสยามวงศ์/อุบาลีวงศ์ขึ้นในลังกา ต่อมาพระอุบาลีเถระเกิดอาพาธและได้มรณภาพในลังกาในเวลาต่อมา ในสมัยเดียวกันนั้นได้มีสามเณรคณะหนึ่งเดินทางไปขอรับการอุปสมบทในประเทศพม่า แล้วกลับมาตั้งนิกาย “ อมรปุรนิกาย” ขึ้น อีกคณะหนึ่งได้เดินทางไปขออุปสมบทจากคณะสงฆ์เมืองมอญ กลับมาตั้งนิกาย “ รามัญนิกาย” ขึ้น ในสมัยนี้ได้มีนิกายเกิดขึ้นในลังกา 3 นิกาย คือ 1.นิกายสยามวงศ์ หรืออุบาลีวงศ์ 2.นิกายอมรปุรนิกาย 3.นิกายรามัญ นิกายทั้ง 3 นี้ ยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน