งานโลหะ ของ ศิลปะแองโกล-แซกซัน

งานโลหะของแองโกล-แซกซันเป็นงานฝีมือที่มีชื่อเสียงไปไกลถึงอิตาลี แต่ก็แทบจะไม่มีเหลืออยูให้เห็นหลังจากการรุกรานของนอร์มันในปี ค.ศ. 1066 และการปฏิรูปศาสนาต่อมา[2] งานบางชิ้นที่ได้รับการกล่าวถึงโดยศิลปินของอารามสเปียร์ฮาฟ็อคที่ไม่มีชิ้นใดเหลืออยู่เป็นงานโลหะมีค่า สเปียร์ฮาฟ็อคเป็นศิลปินผู้เดียวจากยุคนั้นที่ได้รับการกล่าวถึงทั้งตัวบุคคลและผลงาน จากแหล่งข้อมูลหลายแหล่งรวมทั้งจากนักบันทึกประวัติศาสตร์นอร์มันกอสเซอลินผู้รู้จักสเปียร์ฮาฟ็อค กล่าวถึงสเปียร์ฮาฟ็อคว่า “เป็นผู้มีฝีมือในการเขียนภาพ, การสลักทอง และ การทำงานช่างทอง” อาจจะเป็นได้ว่าเพราะความมีฝีมือทำให้สเปียร์ฮาฟ็อคได้เข้ามามีความสัมพันธ์กับเจ้านาย และทำให้ได้รับการเลื่อนตำแหน่งอย่างรวดเร็วในสถาบันศาสนา[3] แม้ว่าจะเป็นรายละเอียดอย่างหยาบๆ ที่ส่วนใหญ่บรรยายโดยกอสเซอลิน แต่กระนั้นก็ยังเป็นหลักฐานอันมีค่าเกี่ยวกับลักษณะงานโลหะของแองโกล-แซกซัน นอกจากนั้นฝีมือในด้านการสลักทอง, ออกแบบ และ สลักรูปลักษณ์ลงบนทองของแองโกล-แซกซันก็ยังได้รับการกล่าวถึงในบันทึกในหลักฐานของชาวต่างประเทศอีกด้วย การเขียนภาพบนผนังที่บางครั้งดูเหมือนจะมีทองผสมอยู่ด้วยมักจะเขียนโดยช่างเขียนหนังสือวิจิตร คำบรรยายของกอสเซอลินถึงฝีมือของศิลปินแองโกล-แซกซันดูเหมือนจะถือกันว่าช่างทองเป็นช่างฝีมืออันดับหนึ่งในบรรดาช่างสาขาต่างๆ[4]

ศิลปินประจำอารามหลายคนได้รับตำแหน่งสูงๆ ความสามารถของสเปียร์ฮาฟ็อคเทียบเท่ากับฝีมือของแมนนิกศิลปินร่วมสมัยผู้มีตำแหน่งเป็นอธิการอารามอีฟแชมระหว่างปี ค.ศ. 1044 ถึง ค.ศ. 1058[5] และเมื่อปลายคริสต์ศตวรรษก่อนหน้านั้นก็มีนักบุญดันสตัน อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี

ในปลายคริสต์ศตวรรษสุดท้ายของสมัยศิลปะแองโกล-แซกซัน เป็นสมัยที่มีหลักฐานเกี่ยวกับรูปลักษณ์ขนาดใหญ่ที่ทำด้วยโลหะ ที่อาจจะทำด้วยแผ่นโลหะบางหุ้มแกนที่ทำด้วยไม้เช่นพระแม่มารีทองแห่งเอสเซิน ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ใหญ่ที่สุดของงานประเภทนี้ของรูปลักษณ์ที่สร้างขึ้นในสมัยยุคกลางตอนต้นที่พบในยุโรป รูปลักษณ์เหล่านี้จะมีขนาดเท่าคนจริงหรือเกือบเท่า และส่วนใหญ่จะเป็นกางเขน แต่บางครั้งก็จะมีพระนางมารีย์พรหมจารีหรือนักบุญยอห์นผู้นิพนธ์พระวรสารสองข้าง ศิลปะแองโกล-แซกซันนิยมความมีค่าของวัสดุที่ใช้และแสงที่สะท้อนลงบนโลหะมีค่า ที่ใช้ในการปักผ้าหรือในการเขียนภาพบนผนังด้วย

แม้ว่างานชิ้นใหญ่ส่วนใหญ่จะสูญหายไปจนแทบจะหมดสิ้น แต่ก็ยังมีงานชิ้นเล็กหรือชิ้นส่วนของงานที่ยังมีหลงเหลือให้เห็นอยู่บ้าง ส่วนใหญ่แล้วก็เป็นสิ่งที่ถูกฝังไว้ - ยกเว้นแต่งานบางชิ้นเช่นเข็มกลัดฟุลเลอร์ และงานสองชิ้นที่ทำในออสเตรียโดยนักสอนศาสนาชาวแองโกล-แซกซัน - ถ้วยทาสซิโล และกางเขนรูเปิร์ต ส่วนเครื่องประดับอัลเฟรดเป็นชุดงานฝีมือที่พบในปี ค.ศ. 1693 ที่มีความงดงามที่เป็นที่รู้จักกันดีที่สุด ในปี ค.ศ. 2009 ก็ได้มีการขุดพบสมบัติสตาฟฟอร์ดเชอร์ที่ประกอบด้วยชิ้นส่วนของงานโลหะกว่า 1,000 ชิ้นที่ส่วนใหญ่เป็นทอง[6]