การคำนวณ ของ สงกรานต์ในประเทศไทย

ปัจจุบันปฏิทินไทยกำหนดให้เทศกาลสงกรานต์ตรงกับวันที่ 13-15 เมษายนของทุกปี และเป็นวันหยุดราชการ อย่างไรก็ตาม ประกาศสงกรานต์อย่างเป็นทางการจะคำนวณตามหลักเกณฑ์ในคัมภีร์สุริยยาตร์ ซึ่งแต่โบราณมา กำหนดให้วันแรกของเทศกาลเป็นวันที่พระอาทิตย์ย้ายออกจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ เรียกว่า "วันมหาสงกรานต์" วันถัดมาเรียกว่า "วันเนา" (ภาษาเขมร แปลว่า "อยู่ ") และวันสุดท้าย เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชและเริ่มใช้กาลโยคประจำปีใหม่ เรียกว่า "วันเถลิงศก"

การคำนวณวันเถลิงศกนั้น ตามคัมภีร์สุริยยาตร์[6] จะต้องมีการหาหรคุณเถลิงศก และค่าอื่น ๆ สำหรับคำนวณตำแหน่งดาวในปีนั้น ๆ เรียกว่าอัตตาเถลิงศก ทุก ๆ ปี ค่าหรคุณเถลิงศกที่คำนวณได้จะเป็นตัวเลขนับ 1 ที่วันเถลิงศก จ.ศ. 0 ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 1181 ตามปฏิทินเกรกอเรียน มาจนถึงปีที่ต้องการ สำหรับกระบวนการหาหรคุณเถลิงศก มีดังต่อไปนี้

  • ตั้งเกณฑ์ 292207 ลง เอาจุลศักราชปีนั้นคูณ ได้เท่าใด เอา 373 บวก แล้วเอา 800 หาร ลัพธ์ (ส่วนที่เป็นคำตอบจำนวนเต็ม) เอา 1 บวก เป็นหรคุณเถลิงศก
  • เอา 800 ตั้ง เอาเศษจากข้อก่อนมาลบ ได้ กัมมัชพลเถลิงศก

จากขั้นตอนข้างต้น อธิบายได้ว่า ในหนึ่งปีสุริยคติมีเวลาทั้งหมดคิดเป็น 292207 กัมมัช (กัมมัชคือหน่วยย่อยของเวลาในคัมภีร์สุริยยาตร์ โดยที่ 1 กัมมัช = 108 วินาที และ 800 กัมมัช = 1 วัน) ดังนั้นเวลาเป็นกัมมัชนับจากจุดเถลิงศก จ.ศ. 0 มาหาจุดเถลิงศกปีที่ต้องการ ก็หาได้โดยเอา 292207 คูณกับจุลศักราชที่ต้องการทราบ แต่เนื่องจากวันเถลิงศก จ.ศ. 0 เวลาเถลิงศกตรงกับ 11:11:24 นาฬิกา หรือคิดเป็น 373 กัมมัช นับแต่เวลา 0 นาฬิกา จึงเอา 373 บวกเข้ากับผลคูณที่หาไว้แล้ว ผลทั้งหมดที่ได้นี้มีหน่วยเป็นกัมมัช เมื่อจะแปลงเป็นวัน ก็เอา 800 หาร

จากผลที่ได้ ถ้าหารแบบสมัยใหม่โดยติดทศนิยม จะได้ว่าส่วนที่เป็นจำนวนเต็ม นับ 0 ที่วันแรกของ จ.ศ. 0 ส่วนที่เป็นทศนิยม เป็นเศษส่วนของวันนับจาก 0 นาฬิกาของวันเถลิงศกไปหาเวลาเถลิงศก แต่ในสมัยโบราณการคำนวณด้วยทศนิยมเป็นการยากลำบาก ดังนั้น ถ้าหารแบบติดเศษ แล้วเอาส่วนที่เป็นจำนวนเต็มบวก 1 ก็จะได้หรคุณเถลิงศก ส่วนที่เป็นเศษนั้นบอกถึงเวลานับแต่ 0 นาฬิกาไปหาเวลาเถลิงศกในหน่วยกัมมัช หากเอาไปหักลบออกจาก 800 ก็จะได้กัมมัชพลเถลิงศก หรือเวลาเป็นกัมมัชที่เหลือจนสิ้นวันเถลิงศก

การแปลงหรคุณเถลิงศกออกเป็นวันที่ในปฏิทิน อาศัยความรู้ที่ว่า ตามปฏิทินก่อนเกรโกเรียน (proleptic Gregorian calendar) วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 1181 เวลา 00:00 น. มีค่าหรคุณจูเลียน (Julian day number) เป็น 1954167.5 จึงสามารถบวกหรคุณตามแบบสุริยยาตร์เข้ากับเกณฑ์ข้างต้นก่อนแปลงให้เป็นวันที่ต่อไป ดังนั้น หรคุณจูเลียนของวันเถลิงศกจึงหาได้ตามสูตร

JD วันเถลิงศก = [(292207* (พ.ศ.-1181) + 373)/800] + 1954167.5

สำหรับวันมหาสงกรานต์นั้น ปกติให้ใช้วิธีการคำนวณตำแหน่งที่สังเกตได้จริงของดวงอาทิตย์ว่าเข้าสู่ราศีเมษ ณ วันเวลาใด แต่วิธีการข้างต้นเสียเวลามากและต้องทำตารางขนาดใหญ่ ไม่สะดวกนัก การแก้ปัญหาทำได้โดยการประมาณ โดยถอยหรคุณเถลิงศกไป 2 วัน 3 ชั่วโมง 57 นาที 36 วินาที (2.165 วัน หรือ 1732 กัมมัช) ดังนั้น สูตรหาหรคุณจูเลียนของวันมหาสงกรานต์ (โดยประมาณ) เป็นดังนี้

JD วันมหาสงกรานต์ = [(292207* (พ.ศ.-1181) - 1359)/800] + 1954167.5

ใกล้เคียง

สงกรานต์ สงกรานต์ในประเทศไทย สงกรานต์ เตชะณรงค์ สงกรานต์ จิตสุทธิภากร สงกรานต์ อุดมสิทธิ์ สงกรานต์เลือด สงกรานต์ พยนต์เลิศ สงกรานต์ รังสรรค์ สงกรานต์ (แก้ความกำกวม) สงครามโลกครั้งที่สอง

แหล่งที่มา

WikiPedia: สงกรานต์ในประเทศไทย http://thai.cri.cn/1/2007/04/16/21@96755.htm http://thai.cri.cn/1/2007/04/16/21@96760.htm http://www.nationmultimedia.com/detail/breakingnew... http://www.tatnews.org/the-magic-and-traditions-of... http://www.thairath.co.th/content/oversea/162639 https://www.chiangraitimes.com/thai-government-app... https://books.google.com/books?id=KDU30Ae4S4cC&pg=... https://web.archive.org/web/20140405103542/http://... https://commons.wikimedia.org/wiki/Category:Songkr...