ในสื่ออื่น ของ สตาร์_วอร์ส

ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1976 ถึง 2014 คำว่า จักรวาลขยาย (Expanded Universe หรือ EU) หมายถึง สื่อต่าง ๆ ของ สตาร์ วอร์ส ที่มีลิขสิทธิ์อย่างเป็นทางการทั้งหมด ที่มีเรื่องราวนอกเหนือจากเหตุการณ์ในภาพยนตร์ รวมไปถึงนวนิยาย, การ์ตูนและวิดีโอเกมส์[87] ลูคัสฟิล์มดูแลความต่อเนื่องภายในระหว่างภาพยนตร์, เนื้อหาโทรทัศน์และจักรวาลขยายจนกระทั่งในวันที่ 25 เมษายน ค.ศ. 2014 เมื่อบริษัทประกาศว่างานของจักรวาลขยายทั้งหมดจะหยุดการผลิต ผลงานที่มีอยู่จะไม่นับว่าเป็นเส้นเรื่องหลักของแฟรนไชส์ และจะทำการเปลี่ยนแบรนด์ใหม่ภายใต้ชื่อว่า ตำนานสตาร์ วอร์ส (Star Wars Legends)[87] เนื้อหาดาวน์โหลดของเกม ดิโอลด์รีพับลิค เป็น ตำนาน หนึ่งเดียวที่ยังมีการผลิตอยู่ เส้นเรื่องหลักของ สตาร์ วอร์ส ภายหลังมีการปรับโครงสร้างให้รวมแค่ภาพยนตร์หกเรื่อง, ภาพยนตร์แอนิเมชัน สงครามโคลน (2008) และแอนิเมชันชุด เดอะ โคลน วอร์ส โครงการในอนาคตและการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ในสื่อทุกรูปแบบจะถูกดูแลและประสานงานโดยกลุ่มเนื้อเรื่องของลูคัสฟิล์ม เพื่อดูแลความต่อเนื่องและให้มีวิสัยทัศน์เดียวกันในการเล่าเรื่องของแฟรนไชส์[1] การ์ตูนหลายเรื่องจาก มาร์เวล และนวนิยายที่จัดจำหน่ายโดย เดลเรย์ ถูกผลิตหลังการประกาศนี้

สื่อสิ่งพิมพ์

มีสื่อสิ่งพิมพ์ที่วางจำหน่ายก่อนภาพยนตร์เรื่องแรกฉาย ซึ่งเป็นนวนิยายที่ดัดแปลงจากภาพยนตร์ สตาร์ วอร์ส โดยมีชื่อ สตาร์ วอร์ส: ฟรอมดิแอดเวนเจอส์ออฟลุค สกายวอร์คเกอร์ วางจำหน่ายเมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. 1976 ถึงแม้ว่าบนปกหนังสือจะระบุไว้ว่า จอร์จ ลูคัส เป็นผู้เขียน แต่ว่านวนิยายนั้นเขียนโดยนักเขียนเงา อลัน ดีน ฟอสเตอร์[88] เรื่องราว จักรวาลขยาย เรื่องแรกปรากฏในหนังสือการ์ตูน สตาร์ วอร์ส ฉบับที่ 7 ของมาร์เวลคอมิกส์ เมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 1978 (หกฉบับแรกนั้นเป็นการดัดแปลงจากภาพยนตร์) ตามด้วย สปลินเตอร์ออฟเดอะมายส์อาย (Splinter of the Mind's Eye) นวนิยายภาคต่อของฟอสเตอร์ในเดือนต่อมา

นวนิยาย

ดูสารนิเทศเพิ่มเติมที่: รายชื่อหนังสือสตาร์ วอร์ส
ทิโมธี ซาห์น ผู้เขียน ธรอว์น ไตรภาค ซึ่งได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางด้วยการฟื้นฟูแฟรนไชส์ สตาร์ วอร์ส

หลังจากฟอสเตอร์เขียนนวนิยายที่ดัดแปลงจากภาพยนตร์ต้นฉบับแล้ว เขาก็เขียนนวนิยายเล่มต่อมาชื่อว่า สปลินเตอร์ออฟเดอะมายส์อาย (1978) ต่อมานวนิยายที่ดัดแปลงจากภาพยนตร์ จักรวรรดิเอมไพร์โต้กลับ (1980) เชียนโดย โดนัลด์ เอฟ. กลัต และ การกลับมาของเจได (1983) เขียนโดย เจมส์ คาห์น ยังมี เดอะฮาน โซโลแอดเวนเจอร์ส ไตรภาค (1979–1980) เขียนโดย ไบรอัน ดาเลย์[89] และ ดิแอดเวนเจอร์สออฟแลนโด คาลริสเซียน ไตรภาค (1983) เขียนโดย แอล. นีล สมิธ[90][91]

นวนิยาย ธรอว์น ไตรภาค (1991–1993) เป็นนวนิยายที่ขายดีที่สุดของ ทิโมธี ซาห์น จุดประกายความสนใจต่อแฟรนไชส์ขึ้นมาใหม่และแนะนำตัวละครซึ่งเป็นที่นิยมในเวลาต่อมา ได้แก่ พลเรือเอกธรอว์น, มารา เจด, ทาลอน คาร์เริด และ กิเลิด แพลิออน[92][93][94][95] นวนิยายเล่มแรก แอร์ทูดิเอมไพร์ ติดอันดับที่หนึ่งในรายชื่อหนังสือขายดีที่สุดของ เดอะนิวยอร์กไทมส์[96] ในนวนิยายชุดนี้ ลุค, เลอาและฮานเผชิญหน้ากับธรอว์น นักยุทธวิธีอัจฉริยะ ซึ่งวางแผนที่จะทวงคืนกาแลคซีให้กับจักรวรรดิอีกครั้ง[97] ใน เดอะคอร์ตชิพออฟพรินเซสเลอา (1994) เขียนโดย เดฟ วูลเวอร์ตัน ดำเนินเรื่องก่อน ธรอว์น ไตรภาค ทันที เล่าเรื่องเลอาตัดสินใจใช้ความได้เปรียบจากการแต่งงานทางการเมืองกับเจ้าชายไอโซลเดอร์จากดาวเฮปส์ แต่สุดท้ายเธอก็แต่งงานกับฮาน[98][99] ชาโดว์ออฟดิเอมไพร์ (1996) เขียนโดย สตีฟ เพอร์รี ดำเนินเรื่องระหว่าง จักรวรรดิเอมไพร์โต้กลับ และ การกลับมาของเจได เคยเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญมัลติมีเดียที่มีทั้งหนังสือการ์ตูนและวิดีโอเกมส์[100][101] นวนิยายแนะนำตัวละครเจ้าพ่ออาชญากรรม เจ้าชายซีเซอร์ ซึ่งเป็นตัวละครที่นิยมอีกตัวหนึ่งที่ไปปรากฏตัวในผลงานอื่น[100][102] ผลงานอื่นที่โดดเด่นจากสำนักพิมพ์แบนตัม ได้แก่ เจไดอคาเดมี ไตรภาค (1994) โดย เควิน เจ. แอนเดอร์สัน[103][104] หนังสือชุด ยังเจไดไนท์ส (1995–1998) จำนวน 14 เล่ม โดย แอนเดอร์สันและรีเบกกา โมเอสตา[104][105] และ เอ็กซ์-วิง (1996–2012) โดย ไมเคิล เอ. สแตกโพล์และแอรอน ออลสตัน[106][107][108]

เดลเรย์ รับช่วงการจัดจำหน่ายหนังสือ สตาร์ วอร์ส เมื่อปี ค.ศ. 1999 โดยวางจำหน่ายนวนิยายชุด เดอะนิวเจไดออร์เดอร์ (1999–2003) จำนวน 19 เล่ม เขียนโดยนักเขียนหลายคน ดำเนินเรื่องหลังภาพยนตร์ต้นฉบับ 25 ถึง 30 ปีและแนะนำยูซาน วอง เผ่าเอเลี่ยนที่ทรงพลังซึ่งพยายามบุกและพิชิตจักรวาลทั้งหมด[109][110] นวนิยายขายดีชุด เลกาซีออฟเดอะฟอร์ซ (2006–2008) ซึ่งเขียนโดยนักเขียนหลายคน บันทึกเหตุการณ์ของ จาเซน โซโล ลูกชายของฮานกับเลอา ได้เข้าสู่ด้านมืดของพลัง ท่ามกลางการกระทำที่ชั่วร้ายของเขา เขาได้ฆ่า มารา เจด ภรรยาของลุค เป็นการสังเวยเพื่อเข้าร่วมกับฝ่ายซิธ ถึงแม้เนื้อเรื่องนี้จะไม่เป็นเส้นเรื่องหลักแล้ว แต่เนื้อเรื่องก็คล้ายกับใน อุบัติการณ์แห่งพลัง ซึ่ง เบน โซโล ลูกชายของฮานกับเลอา เข้าสู่ด้านมืดกลายเป็นไคโล เร็น[111][112][113][114]

มีนวนิยายสามชุดที่ดำเนินเรื่องในช่วงไตรภาคต้น ซึ่งเป็นนวนิยายสำหรับนักอ่านวัยเยาว์ ได้แก่ เจไดอะเพรนทิส (1999–2002) บันทึกการผจญภัยของ โอบีวัน เคโนบี และอาจารย์ของเขา ไควกอน จินน์ หลายปีก่อนเหตุการณ์ใน ภัยซ่อนเร้น จำนวน 18 เล่ม เจไดเควสต์ (2001–2004) บันทึกการผจญภัยของโอบีวันและศิษย์ของเขา อนาคิน สกายวอล์คเกอร์ ช่วงระหว่าง ภัยซ่อนเร้น และ กองทัพโคลนส์จู่โจม จำนวน 11 เล่ม และ เดอะลาสต์ออฟเดอะเจได (2005–2008) ดำเนินเรื่องหลัง ซิธชำระแค้น ทันที บันทึกเรื่องราวของโอบีวันกับเหล่าเจไดไม่กี่คนที่รอดชีวิต

ถึงแม้ว่าตัวละครธรอว์นจะถูกให้เป็นตัวละคร ลีเจนด์ส เมื่อปี ค.ศ. 2014 ธรอว์นได้ปรากฏตัวในเส้นเรื่องหลักครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 2016 ในปีที่สามของ เรเบลส์ ทำให้ ทิโมธี ซาห์น กลับมาเขียนนวนิยายเกี่ยวกับตัวละครนี้และให้ดำเนินเรื่องอยู่ในเส้นเรื่องหลัก[115][116]

การ์ตูน

มาร์เวลคอมิกส์จัดจำหน่ายหนังสือการ์ตูนชุด สตาร์ วอร์ส ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1977 ถึง 1986[117][118][119][120] การ์ตูน สตาร์ วอร์ส ดั้งเดิมถูกตีพิมพ์ลงในนิตยสาร พิซซาซซ์ ของมาร์เวลระหว่างปี ค.ศ. 1977 ถึง 1979 โดยเป็นการ์ตูน สตาร์ วอร์ส เรื่องแรกที่เนื้อเรื่องไม่ได้ดัดแปลงมาจากภาพยนตร์โดยตรง ซึ่งเป็นการ์ตูนที่ทำก่อนหนังสือการ์ตูนชุด สตาร์ วอร์ส ข้างต้น[121] สตาร์คอมิกส์ สำนักพิมพ์ในเครือมาร์เวล ได้ตีพิมพ์การ์ตูนชุดจากแอนิเมชันชุดสำหรับเด็ก อีว็อกส์ และ ดรอยส์ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1985–1987[122][123][124] จิม ชูสเตอร์ อดีตหัวหน้ากองบรรณาธิการของมาร์เวลคอมิกส์ กล่าวว่า ยอดจำหน่ายที่แข็งแกร่งของการ์ตูน สตาร์ วอร์ส ช่วยเหลือด้านการเงินของมาร์เวลในปี ค.ศ. 1977 และ 1978[125] หนังสือการ์ตูนชุด สตาร์ วอร์ส ของมาร์เวลเป็นหนึ่งในหนังสือการ์ตูนที่ขายดีที่สุดในปี ค.ศ. 1979 และ 1980[126] ในช่วงแรกนั้นมาร์เวลจะไม่จ่ายค่าส่วนแบ่งให้กับลูคัสฟิล์มถ้าหากยอดจำหน่ายไม่ถึง 100,000 เล่ม แต่ทว่ายอดจำหน่ายกลับทำได้เกิน 100,000 เล่มอย่างรวดเร็ว ทำให้ ชาร์ลส์ ลิปปินคอตต์ หัวหน้างานประชาสัมพันธ์ของลูคัสฟิล์ม ทำการเจรจาค่าส่วนแบ่งใหม่จากตำแหน่งที่แข็งแกร่งกว่า[127]

ในช่วงปลายทศวรรษ 1980 มาร์เวลได้ยกเลิกการ์ตูน สตาร์ วอร์ส ใหม่ซึ่งกำลังพัฒนาอยู่ ดาร์กฮอร์สคอมิกส์ได้รับช่วงต่อและจัดจำหน่ายในชื่อชุด ดาร์กเอมไพร์ (1991–1995) ซึ่งกลายเป็นที่นิยม[128] ต่อดาร์กฮอร์สได้ปล่อยหนังสือการ์ตูนชุดจำนวนหนึ่งซึ่งดำเนินเรื่องหลังเหตุการณ์ในไตรภาคภาพยนตร์ต้นฉบับ ได้แก่ เทลส์ออฟเดอะเจได (1993–1998), เอ็กซ์-วิงโรกสควอดรอน (1995–1998), สตาร์ วอร์ส: รีพับลิค (1998–2006), สตาร์ วอร์ส เทลส์ (1999–2005), สตาร์ วอร์ส: เอมไพร์ (2002–2006) และ ไนทส์ออฟดิโอลด์รีพับลิค (2006–2010)[129][130]

หลังจากดีสนีย์ซื้อลูคัสฟิล์ม มีการประกาศเมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 2014 ว่าลิขสิทธิ์การ์ตูน สตาร์ วอร์ส จะกลับคืนสู่มาร์เวลคอมิกส์ในปี ค.ศ. 2015[131] เพราะบริษัทแม่ มาร์เวลเอ็นเทอร์เทนเมนต์ ถูกดีสนีย์ซื้อไปเมื่อปี ค.ศ. 2009[132] หนังสือการ์ตูนสามชุดแรกได้ปล่อยเมื่อปี ค.ศ. 2015 ได้แก่ สตาร์ วอร์ส, ดาร์ธ เวเดอร์ และ พรินเซส เลอา[133][134][135]

ในงาน สตาร์ วอร์ส เซเลเบรชัน เมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 2019 มีการประกาศ โครงการลูมินัส ขึ้น ซึ่งต่อมามีการเปิดเผยชื่อและรายละเอียดทั้งหมดในงานแถลงข่าวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2020 โดยมีชื่อว่า สตาร์ วอร์ส: เดอะไฮรีพับลิค ในยุคใหม่นี้จะดำเนินเรื่องในช่วง 200 ปีก่อนมหากาพย์สกายวอล์คเกอร์ ซึ่งจะปรากฏอยู่ในหนังสือและการ์ตูน จากสำนักพิมพ์ที่ได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการในปัจจุบัน รวมไปถึง หนังสือการ์ตูนโดยมาร์เวลและไอดีดับเบิลยูพับลิชิง เขียนโดย คาเวน สก็อตต์ และ เดเนียล โฮเซ โอลเดอร์ ตามลำดับ โดยจะเปิดตัวในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2020[136]

เสียง

เพลงประกอบและซิงเกิล

ดูสารนิเทศเพิ่มเติมที่: เพลงของสตาร์ วอร์ส

จอห์น วิลเลียมส์ ประพันธ์เพลงประกอบภาพยนตร์ในมหากาพย์สกายวอล์คเกอร์ทั้งหมดเก้าเรื่อง เขากล่าวเขาจะเกษียณจากแฟรนไชส์หลัง กำเนิดใหม่สกายวอล์คเกอร์ ฉายแล้ว[137] เขาได้ประพันธ์เพลงธีม "ดิแอดเวนเจอร์สออฟฮาน" ให้ภาพยนตร์ ฮาน โซโล: ตำนานสตาร์ วอร์ส โดยที่ จอห์น พาวเวล เป็นคนประพันธ์เพลงประกอบภาพยนตร์ที่เหลือ[138] ไมเคิล จิอาคคิโน ประพันธ์เพลงประกอบภาพยนตร์ให้กับ โร้ค วัน: ตำนานสตาร์ วอร์ส[138]

นวนิยายเสียง

ผลงานแรกในรูปแบบเสียงของ สตาร์ วอร์ส คือ เดอะสตอรีออฟสตาร์ วอร์ส เป็น แผ่นเสียงซึ่งใช้เสียงจากภาพยนตร์ต้นฉบับ แล้วใส่การบรรยายใหม่เพื่อเล่าเรื่อง วางจำหน่ายเมื่อปี ค.ศ. 1977 ต่อมานวนิยายที่เป็นรูปเล่มส่วนใหญ่ถูกดัดแปลงเป็นนวนิยายเสียง มักจะวางจำหน่ายในรูปแบบตลับเทปและวางจำหน่ายใหม่ในรูปแบบแผ่นซีดี นวนิยายเสียงปัจจุบันวางจำหน่ายโดยไม่ได้ดัดแปลงมาจากสื่อสิ่งพิมพ์ใด ๆ

วิทยุ

ดูสารนิเทศเพิ่มเติมที่: สตาร์ วอร์ส (วิทยุ)

ลูคัสในช่วงที่เขากำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย เขาเป็นแฟนของสถานีวิทยุของมหาวิทยาลัยซึ่งอยู่ในเครือวิทยุสาธารณะแห่งชาติ เขาอนุญาตให้สิทธิ์ในการดัดแปลงภาพยนตร์เป็นละครวิทยุแก่ เคยูเอสซี-เอฟเอ็ม โดยคิดค่าธรรมเนียมเพียง 1 ดอลลาร์สหรัฐ การสร้างนั้นได้มีการใช้เพลงประกอบภาพยนตร์โดย จอห์น วิลเลียมส์ พร้อมกับเสียงประกอบโดย เบน เบิร์ต[139][140]

เรื่องแรกนั้นเขียนบทโดยนักเขียนบันเทิงคดีแนววิทยาศาสตร์ ไบรอัน ดาเลย์ และกำกับโดย จอห์น เมดเดน ออกอากาศทางวิทยุสาธารณะแห่งชาติเมื่อปี ค.ศ. 1981 ดัดแปลงจากภาพยนตร์ต้นฉบับเป็นละครวิทยุจำนวน 13 ตอน[141][139][140] มาร์ค ฮามิลล์ และ แอนโธนี เดเนียลส์ กลับมารับบทเดิมจากภาพยนตร์[141][139]

ความสำเร็จที่ท่วมท้น ทำให้มีการดัดแปลงภาพยนตร์ จักรวรรดิเอมไพร์โต้กลับ เป็นละครวิทยุจำนวน 10 ตอน ออกอากาศครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1983[142] บิลลี ดี วิลเลียมส์ รับบทเดิมเป็นแลนโด คาลริสเซียน ร่วมกับนักแสดงอีกสองคน[143]

บัวนาวิสตาเรคอร์ดส ได้วางจำหน่ายละครวิทยุ สตาร์ วอร์ส ต้นฉบับความยาว 30 นาที ชื่อว่า เรเบลมิสชันทูออร์ดแมนเทลล์ เมื่อปี ค.ศ. 1983 เขียนบทโดย ดาเลย์[140][144] ในทศวรรษ 1990 ไทม์วอร์เนอร์ออดิโอพับบลิชิง ได้ดัดแปลงหนังสือการ์ตูน สตาร์ วอร์ส เป็นละครวิทยุ ได้แก่ มหากาพย์ ดาร์กเอมไพร์ สามภาค, เทลส์ออฟเดอะเจได, ดาร์กลอร์ดสออฟเดอะซิธ, ดาร์กฟอซเซส ไตรภาค และ คริมสันเอมไพร์ (1998)[144] การกลับมาของเจได ถูกดัดแปลงเป็นละครวิทยุจำนวน 6 ตอน มีแอนโธนี เดเนียลส์กลับมารับบทเดิม[139][144]

วิดีโอเกม

แฟรนไชส์ สตาร์ วอร์ส มีการพัฒนาเกมในรูปแบบต่าง ๆ เช่น เกมคอมพิวเตอร์, วิดีโอเกมและเกมกระดาน รวมกันมากกว่า 100 เกม[145] โดยย้อนกลับไปในเครื่องเล่นวิดีโอเกมยุคแรก ๆ บางเกมนำเค้าโครงมาจากภาพยนตร์โดยตรง บางเกมมีเนื้อเรื่องที่อยู่ในจักรวาลขยาย (ซึ่งถูกเปลี่ยนชื่อเป็น สตาร์ วอร์ส ลีเจนด์ส และไม่นับเป็นเส้นเรื่องหลักเมื่อปี ค.ศ. 2014) เกม สตาร์ วอร์ส ได้ผ่านการพัฒนาที่สำคัญอยู่สามยุค โดยนับจากการเปลี่ยนตัวผู้พัฒนา ได้แก่ ยุคที่ให้ลิขสิทธิ์ในการพัฒนาเกมแก่บริษัทอื่น, ยุคที่เกมถูกพัฒนาและจัดจำหน่ายโดยลูคัสอาร์ตส และยุคที่ดิสนีย์สั่งให้ลูคัสอาร์ตสหยุดพัฒนาเกม แล้วโอนลิขสิทธิ์ในการพัฒนาเกมให้แก่อิเล็กทรอนิก อาตส์

เกมลิขสิทธิ์ยุคแรก (1979–1993)

ในยุคแรกของเกมลิขสิทธิ์ สตาร์ วอร์ส อย่างเป็นทางการนั้น เริ่มต้นด้วยเกมอิเล็กทรอนิกส์ตั้งโต๊ะ ผลิตโดยเคนเนอร์ เมื่อปี ค.ศ. 1979 ชื่อว่า สตาร์ วอร์ส อิเล็กทรอนิกส์แบทเทิลคอมมานด์[146][147] ในปี ค.ศ. 1982 พาร์กเกอร์บราเธอส์ จัดจำหน่ายเกม สตาร์ วอร์ส เกมแรกสำหรับเครื่อง อาตาริ 2600 ชื่อว่า สตาร์ วอร์ส: ดิเอมไพร์สไตรค์สแบ็ก[148] ตามมาด้วย สตาร์ วอร์ส: เจได้อารีนา ในปีต่อมา โดยเป็นเกมแรกที่มีการดวลดาบไลต์เซเบอร์ และ เกม สตาร์ วอร์ส เป็นเกมตู้แนวเรลชูเตอร์ของอาตาริ ซึ่งมีภาพกราฟิกส์เวกเตอร์เพื่อจำลองฉากวิ่งร่องลึกในดาวมรณะจากภาพยนตร์ต้นฉบับ[149] เกมต่อมา เดอะรีเทิร์นออฟเดอะเจได (1984) แสดงภาพกราฟิกส์แบบแรสเตอร์[150] สตาร์ วอร์ส: ดิเอมไพร์สไตรค์สแบ็ก (1985) แสดงภาพกราฟิกส์เป็นแบบเวกเตอร์[151] สตาร์ วอร์ส ในปี ค.ศ. 1987, สตาร์ วอร์ส อีกเกมหนึ่งในปี ค.ศ. 1991 และ สตาร์ วอร์ส: ดิเอมไพร์สไตรค์สแบ็ก ในปี ค.ศ. 1992 เป็นเกมแพลตฟอร์ม สำหรับเครื่องแฟมิคอม แต่ว่าเกมแรกนั้นไม่เคยวางจำหน่ายนอกประเทศญี่ปุ่นเลย ซูเปอร์สตาร์ วอร์ส วางจำหน่ายในปี ค.ศ. 1992 เป็นเกมแพลตฟอร์ม สำหรับเครื่องซูเปอร์แฟมิคอม พร้อมสองภาคต่อในสองปีถัดมา

ยุคลูคัสอาร์ตสจัดจำหน่ายเกมด้วยตัวเอง (1993–2014)

ดูบทความหลักที่: ลูคัสอาร์ตส

จุดเริ่มต้นของยุคที่สองนั้นเริ่มที่การจัดจำหน่ายด้วยตัวเองของลูคัสอาร์ตส ลูคัสอาร์ตสถูกก่อตั้งหลัง จอร์จ ลูคัส สนใจในความสำเร็จที่เพิ่มขึ้นของตลาดวิดีโอเกม โดยต้องการควบคุมความคิดสร้างสรรค์และการเล่าเรื่องในเกมมากขึ้น ในยุคนี้ กราฟิกวิดีโอเกมมีการพัฒนามากขึ้นทำให้เกมสามารถเล่าเรื่องราวที่ซับซ้อนได้และสามารถเล่าเรื่องใหม่จากภาพยนตร์ และในที่สุดก็มีเนื้อเรื่องที่เป็นต้นฉบับ ซึ่งดำเนินเรื่องอยู่ในเส้นเรื่องเดียวกันภาพยนตร์ แสดงด้วยการพากย์เสียงและซีจีไอคัตซีน ลูคัสฟิล์มก่อตั้งบริษัทเกมของตัวเองเมื่อปี ค.ศ. 1982 เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีด้วยเกมผจญภัยและเกมขับเครื่องบินต่อสู้ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ลูคัสอาร์ตสได้ปล่อยเกม สตาร์ วอร์ส: เอกซ์-วิง เมื่อปี ค.ศ. 1993 เป็นเกม สตาร์ วอร์ส เกมแรกที่จัดจำหน่ายด้วยตัวเอง และเป็นเกมจำลองการบินในอวกาศเกมแรกของแฟรนไชส์[152] เป็นหนึ่งในเกมที่ขายดีที่สุดในปี ค.ศ. 1993 ซึ่งต่อมาก็มีภาคต่อและกลายเป็นวิดีโอเกมชุด[152] วิดีโอเกมชุด โรกสควอดอน วางจำหน่ายระหว่างปี ค.ศ. 1998 ถึง 2003 โดยเน้นไปที่การต่อสู้ในอวกาศระหว่างภาพยนตร์

ดาร์กฟอร์เซส (1995) เป็นเกมแนวผสมระหว่างเกมผจญภัย, เกมปริศนาและเกมวางแผน[153] และยังเป็น สตาร์ วอร์ส เกมแรกที่เป็น เกมยิงมุมมองบุคคลที่หนึ่ง[154] โดยเกมดังกล่าวมีระบบการเล่นและกราฟิกที่ไม่เหมือนกับเกมอื่น เพราะเกมถูกสร้างโดยใช้เกมเอนจินของลูคัสอาร์ตสเอง ชื่อว่า เจได[154][153][155][156] เกมได้รับการตอบรับที่ดี[157][158][159] และมีภาคต่อตามมาอีกสี่ภาค[160][161] วิดีโอเกมชุดนี้ได้แนะนำ ไคล์ คาทาร์น เป็นตัวละครที่ปรากฏตัวในหลากหลายเกม, นวนิยายและการ์ตูน[162] คาทาร์น อดีตสตอร์มทรูปเปอร์ ซึ่งเข้าร่วมกับฝ่ายกบฏและได้กลายเป็นเจได[154][163][164] ซึ่งมีเรื่องราวคล้ายกับ ฟินน์ ในภาพยนตร์ไตรภาคต่อ[111] สตาร์ วอร์ส กาแลกซีส์ เป็นเกมสวมบทบาทออนไลน์ผู้เล่นหลายคนจำนวนมาก ให้บริการช่วงปี ค.ศ. 2003 ถึง 2011 หลังเดอะวอลต์ดิสนีย์ซื้อลูคัสฟิล์มเมื่อปี ค.ศ. 2012 วิดีโอเกมที่พัฒนาในสองยุคแรกนั้น ถูกตัดออกจากเส้นเรื่องหลักเมื่อปี ค.ศ. 2014 และให้เป็น สตาร์ วอร์ส ลีเจนด์ส ลูคัสอาร์ตสหยุดการเป็นผู้พัฒนาเมื่อปี ค.ศ. 2013 แต่ยังให้ทำงานเป็นผู้ออกใบอนุญาต[165]

อีเอ สตาร์ วอร์ส (2014–ปัจจุบัน)

ยุคที่สามเริ่มต้นหลังจากดีสนีย์ซื้อกิจการลูคัสฟิล์มแล้ว ลูคัสอาร์ตสหยุดการเป็นผู้พัฒนาและสิทธิ์ในการพัฒนาวิดีโอเกมถูกโอนให้กับอิเล็กทรอนิก อาตส์ เกมที่พัฒนาในยุคนี้จะถือว่าอยู่ในเส้นเรื่องหลัก ได้รับอิทธิพลมากขึ้นจากผู้สร้างภาพยนตร์ สตาร์ วอร์ส ดีสนีย์ร่วมมือกับเลอโนโว สร้างวิดีโอเกมความเป็นจริงเสริม ชื่อว่า เจไดชาเลนจ์ส วางจำหน่ายเมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2017[166][167] เมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2018 ซิงกา ประกาศจัดจำหน่ายเกมมือถือเล่นฟรี สตาร์ วอร์ส[168] เกม แบทเทิลฟรอนต์ ได้รับการรีบูตให้เข้าเส้นเรื่องหลักเมื่อปี ค.ศ. 2017 เจได: ฟอลเลนออร์เดอร์ วางจำหน่ายเมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2019

สวนสนุก

นอกจากเครื่องเล่น สตาร์ทัวร์ส (1987) และ สตาร์ทัวร์ส: ดิแอดเวนเจอร์สคอนตินิว (2011) ในดิสนีย์แลนด์แล้ว ยังมีเครื่องเล่นและนิทรรศการที่จัดแสดงในสวนสนุกในเครือดิสนีย์พาร์ก ได้แก่ นิทรรศการเคลื่อนที่ แวร์ไซแอนซ์มีตส์อิมแมจิเนชัน, รถไฟเหาะตีลังกา ไฮเปอร์สเปซเมาต์เทน, พิพิธภัณฑ์ ลอนช์เบย์ และการแสดงตอนกลางคืน อะกาแลกติกสเปกสะเพคแทกคิวลา พื้นที่สวนสนุกขนาดใหญ่เรียกว่า กาแลกซีส์เอจ (2019) เปิดให้บริการที่ ดิสนีย์แลนด์ และที่ วอลต์ดิสนีย์เวิลด์ เมื่อกลางปี ค.ศ. 2019[169] โรงแรม สตาร์ วอร์ส: กาแลกติกสตาร์ครูเซอร์ กำลังก่อสร้างที่วอลต์ดิสนีย์เวิลด์[170]

โครงการสื่อประสม

มีโครงการสื่อประสมที่เผยแพร่ในสื่อหลากหลายประเภท ชาโดว์ออฟดิเอมไพร์ (1996) เคยเป็นโครงการสื่อประสมที่ดำเนินเรื่องระหว่าง จักรวรรดิเอมไพร์โต้กลับ และ การกลับมาของเจได ประกอบด้วยนวนิยายเขียนโดย สตีฟ เพอร์รี, หนังสือการ์ตูนชุด, วิดีโอเกมและหุ่นฟิกเกอร์[100][101] เดอะฟอร์ซอันลีชด์ (2008–2010) เคยเป็นโครงการที่คล้ายกัน ดำเนินเรื่องระหว่าง ซิธชำระแค้น และ ความหวังใหม่ ประกอบด้วยนวนิยาย, วิดีโอเกมเมื่อปี ค.ศ. 2008, วิดีโอเกมภาคต่อเมื่อปี ค.ศ. 2010, นวนิยายภาพ, อุปกรณ์เสริมเกมสวมบทบาทและของเล่น[171][172]

ใกล้เคียง

สตาร์ วอร์ส สตาร์ เทรค สตาร์บัคส์ สตาร์อัลไลแอนซ์ สตาร์ทอัพ (ละครโทรทัศน์) สตาร์ วอร์ส (ภาพยนตร์) สตาร์ วอร์ส: ทีมโคตรโคลนมหากาฬ สตาร์ วอร์ส: เดอะ โคลน วอร์ส (ภาพยนตร์ชุดทางโทรทัศน์ พ.ศ. 2551) สตาร์ชิปเอนเตอร์เทนเมนต์ สตาร์ วอร์ส: อุบัติการณ์แห่งพลัง

แหล่งที่มา

WikiPedia: สตาร์_วอร์ส http://thinkspiritual.ca/hj9_atonement http://www.byte.com/art/9512/sec10/art1.htm http://goodcomics.comicbookresources.com/2007/11/2... http://goodcomics.comicbookresources.com/2011/06/1... http://comicsalliance.com/marvel-new-star-wars-tit... http://www.digitalspy.com/movies/news/a849876/geor... http://insidemovies.ew.com/2012/11/02/star-wars-se... http://www.gamerankings.com/htmlpages2/3397.asp?q=... http://uk.gamespot.com/pc/action/darkforces/review... http://www.gamespot.com/articles/star-wars-jedi-kn...