การเล่น ของ สตาร์คราฟต์

การที่บลิซซาร์ดเอ็นเตอร์เทนเมนต์ใช้สามเผ่าพันธุ์แยกกันในสตาร์คราฟต์ ได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางว่าเป็นการปฏิวัติเกมประเภทวางแผนเรียลไทม์[5] ทุกยูนิต (unit) มีเฉพาะเผ่าพันธุ์ของตน แม้ว่าสามารถเปรียบเทียบระหว่างยูนิตประเภทต่าง ๆ ในต้นไม้เทคโนโลยี (technology tree) อย่างหยาบ ๆ ได้ แต่ทุกยูนิตปฏิบัติการต่างกันและผู้เล่นต้องใช้กลยุทธ์ต่างกันเพื่อบรรลุเป้าหมาย

เผ่าพันธุ์โพรทอสอันลึกลับเข้าถึงยูนิตและจักรกลทรงพลัง และเทคโนโลยีล้ำหน้า เช่น โล่พลังงานและสมรรถนะวาร์พ (warp) เฉพาะที่ โดยได้พลังงานจากลักษณะพลังจิตของพวกเขา อย่างไรก็ดี กำลังของโพรทอสมีกระบวนการผลิตนานและแพง กระตุ้นให้ผู้เล่นดำเนินยุทธศาสตร์ที่คุณภาพของยูนิตเหนือกว่าปริมาณ[10] เผ่าพันธุ์เซิร์กคล้ายแมลงนั้นประกอบด้วยยูนิตและสิ่งปลูกสร้างที่เป็นสิ่งมีชีวิตทั้งหมด ซึ่งสามารถผลิตได้อย่างรวดเร็วและมีราคาทรัพยากรถูกกว่ามาก แต่ยูนิตก็อ่อนแอกว่าตามไปด้วย โดยอาศัยปริมาณมากและความเร็วเพื่อเอาชนะข้าศึก[11] ส่วนเทอร์แรนอยู่กึ่งกลางระหว่างอีกสองเผ่าพันธุ์ โดยมียูนิตอเนกประสงค์และยืดหยุ่น พวกเขาสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและจักรกลทหารที่เน้นโจมตีระยะไกลมากกว่า เช่น รถถังและอาวุธนิวเคลียร์[12]

แม้แต่ละเผ่าพันธุ์มีองค์ประกอบเป็นเอกลักษณ์ แต่ไม่มีเผ่าพันธุ์ใดได้เปรียบเหนือเผ่าพันธุ์อื่นโดยกำเนิด แต่ละเผ่าพันธุ์ถูกดุลให้มีจุดแข็ง พลังและความสามารถ ความแข็งแกร่งโดยรวมพอ ๆ กัน นอกจากนี้ บลิซซาร์ดยังออกแพทช์ (อัปเดตเกม) เพื่อปรับสมดุลนาน ๆ ครั้ง[13]

สตาร์คราฟต์ มีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ที่มีความยากแตกต่างกัน แต่ผู้เล่นไม่สามารถเปลี่ยนระดับความยากในยุทธการ (campaign) ผู้เล่นคนเดียวได้ แต่ละยุทธการเริ่มด้วยศัตรูที่ดำเนินงานเอไอภาวะง่าย แล้วค่อยทวีความยากขึ้นตามลำดับตลอดระยะของยุทธการจนเอไอภาวะยากสุด ในตัวตัดต่อด่าน (level editor) ซึ่งให้มากับเกม นักออกแบบเข้าถึงความยากของเอไอสี่ระดับ ได้แก่ "ง่าย" "ปานกลาง" "ยาก" และ "บ้า" (insane) โดยการตั้งค่าแต่ละระดับจะอนุญาตให้เอไอเข้าถึงยูนิตและเทคโนโลยีแตกต่างกัน และขอบเขตของการวางแผนทางยุทธวิธีและยุทธศาสตร์ของเอไอ[14] ยุทธการผู้เล่นคนเดียวประกอบด้วยสามสิบด่าน แบ่งเป็นเผ่าพันธุ์ละสิบด่าน

การจัดการทรัพยากร

ทุกเผ่าพันธุ์อาศัยทรัพยากรสองชนิดเพื่อดำรงเศรษฐกิจในเกมและเพื่อสร้างกำลังของตน คือ แร่ (mineral) และแก๊สเวสปีน (vespene gas) แร่นั้นจำเป็นต่อยูนิตและสิ่งปลูกสร้างทุกชนิด และได้มาโดยใช้ยูนิตคนงานไปเก็บโดยตรงจากแหล่งแร่ที่กระจายอยู่ทั่วแผนที่ ผู้เล่นต้องใช้แก๊สเวสปีนสร้างยูนิตและสิ่งปลูกสร้างขั้นสูง และได้มาโดยการสร้างโรงกลั่นเหนือกีย์เซอร์ (geyser) และใช้ยูนิตคนงานแยกแก๊สออกมา[15] นอกจากนี้ ผู้เล่นยังต้องวางระเบียบกำลังบำรุง (supply) สำหรับกำลังของตนเพื่อประกันว่าสามารถสร้างยูนิตได้ตามจำนวนที่ต้องการ แม้ลักษณะของกำลังบำรุงจะแตกต่างกันตามเผ่าพันธุ์ คือ เทอร์แรนใช้กำลังบำรุงกายภาพที่เก็บในคลัง[16] โปรทอสใช้ส่วนเชื่อมต่อพลังจิต[17] และเซิร์กควบคุมโดยจำนวนยูนิตโอเวอร์ลอร์ด (overlord) ที่มี[18] แต่กลไกกำลังบำรุงทำงานเหมือนกันสำหรับทุกเผ่าพันธุ์ คือ ให้ผู้เล่นสร้างยูนิตใหม่เมื่อมีทรัพยากรเพื่อคงไว้เพียงพอ

การสร้างฐาน

การสร้างสิ่งปลูกสร้างของโพรทอสและเซิร์กจำกัดเฉพาะบางที่เท่านั้น คือ สิ่งปลูกสร้างของโพรทอสจำต้องเชื่อมกับสายส่งพลังงาน ขณะที่สิ่งปลูกสร้างของเซิร์กแทบทั้งสิ้นต้องอยู่บนพรมชีวมวล เรียกว่า "ครีพ" (creep) ซึ่งผลิตจากสิ่งปลูกสร้างบางอย่าง สิ่งปลูกสร้างของเทอร์แรนมีความจำกัดน้อยกว่ามาก โดยสิ่งปลูกสร้างฐานที่สำคัญบางอย่างมีความสามารถทะยานและบินอย่างช้า ๆ ไปที่ใหม่ได้ อย่างไรก็ดี สิ่งปลูกสร้างของเทอร์แรนต้องให้ยูนิตคนงานก่อสร้างอาคารเรื่อย ๆ จนเสร็จ เช่นเดียวกัน เมื่ออาคารของเทอร์แรนได้รับความเสียหายถึงระดับหนึ่ง อาคารจะติดไฟจนสุดท้ายจะทำให้อาคารพังลงโดยศัตรูไม่ต้องทำอะไรเพิ่มเติม สามารถป้องกันเหตุการณ์นี้โดยให้ยูนิตคนงานซ่อม ในทางกลับกัน โพรทอสเพียงต้องใช้ยูนิตคนงานเริ่มกระบวนการขนส่งอาคารมายังยุทธบริเวณโดยการวาร์พ และโล่ของอาคารพวกเขาสามารถฟื้นฟูได้ แต่มิใช่ตัวอาคารเอง ยูนิตคนงานของเซิร์กเปลี่ยนแปลงทางกายภาพไปเป็นสิ่งปลูกสร้างที่สร้างขึ้น ซึ่งมีความสามารถรักษาตนเองอย่างช้า ๆ

หลายผู้เล่น

เกมหลายผู้เล่นของสตาร์คราฟต์ ได้รับการสนับสนุนผ่านบริการอินเทอร์เน็ตแบตเทิล.เน็ตของบลิซซาร์ดเอ็นเตอร์เทนเมนต์ ผู้เล่นสูงสุดแปดคนสามารถแข่งขันในเกมหลายภาวะ รวมถึงโหมดทำลายผู้เล่นอื่นทั้งหมดในแผนที่ (ซึ่งอาจเป็นการแข่งขัน อย่างในการเล่นแลดเดอร์ (Ladder, การไต่เต้า) หรือไม่จัดอันดับ อย่างในการเล่นเมเล (melee) ไปจนถึงเกมที่เน้นวัตถุประสงค์ ราชาแห่งขุนเขา (king of the hill) และยึดธง นอกจากนี้ เกมยังรวมฉากที่สร้างเป็นพิเศษสำหรับเกมแต่ละประเภท เช่น การจำลองเกมอเมริกันฟุตบอล การใช้ยูนิตโฮเวอร์ไบค์ของเทอร์แรนแข่งขันจักรยานยนต์ หรือการจัดการแข่งขันการล่าเซิร์ก[14] เป็นต้น สตาร์คราฟต์ยังเป็นหนึ่งในไม่กี่เกมที่รวมการติดตั้งแบบวางไข่ (spawn installation) ซึ่งอนุญาตระบบหลายผู้เล่นจำกัด คือ เกมจะต้องติดตั้งจากดิสก์ และต้องใช้กุญแจผลิตภัณฑ์ (product key) เพื่อให้ทำงานเหมือนรุ่นสมบูรณ์ อย่างไรก็ดี กุญแจผลิตภัณฑ์หนึ่งสามารถรองรับการติดตั้งแบบวางไข่ได้สูงสุดแปดครั้งโดยสามารถเข้าถึงแบตเทิล.เน็ตได้ ข้อจำกัดของการติดตั้งแบบวางไข่รวมการไม่สามารถเล่นด่านผู้เล่นคนเดียว สร้างเกมหลายผู้เล่นหรือใช้ตัวตัดต่อยุทธการได้[19] การออกเกมครั้งหลัง ๆ ซึ่งหาได้ผ่านแบตเทิล.เน็ตหรือดิสก์ที่รวมป้ายวินโดวส์ วิสตาไม่รองรับการติดตั้งแบบวางไข่[20]

ใกล้เคียง

สตาร์ วอร์ส สตาร์ เทรค สตาร์บัคส์ สตาร์อัลไลแอนซ์ สตาร์ทอัพ (ละครโทรทัศน์) สตาร์ วอร์ส (ภาพยนตร์) สตาร์ วอร์ส: ทีมโคตรโคลนมหากาฬ สตาร์ วอร์ส: เดอะ โคลน วอร์ส (ภาพยนตร์ชุดทางโทรทัศน์ พ.ศ. 2551) สตาร์ชิปเอนเตอร์เทนเมนต์ สตาร์ วอร์ส: อุบัติการณ์แห่งพลัง

แหล่งที่มา

WikiPedia: สตาร์คราฟต์ http://www.next-gen.biz/index.php?option=com_conte... http://www.next-gen.biz/news/blizzard-confirms-one... http://www.1up.com/features/play-starcraft http://www.allgame.com/cg/agg.dll?p=agg&sql=1:6109... http://blizzard.com/us/starcraft/sis/ http://us.blizzard.com/en-us/company/press/pressre... http://us.blizzard.com/en-us/games/sc/ http://us.blizzard.com/support/article.xml?article... http://www.blizzard.com/inblizz/awards.shtml http://www.blizzard.com/us/press/10-years-starcraf...