กอทิกเพอร์เพ็นดิคิวลาร์ ของ สถาปัตยกรรมกอทิกแบบอังกฤษ

“กรงหินและกระจก” ภายในมหาวิหารกลอสเตอร์แสดงให้เห็นลักษณะที่ดูเหมือนเรือนกระจก ที่ปราศจากกำแพงซึ่งเป็นลักษณะเด่นของสถาปัตยกรรมกอทิกเพอร์เพ็นดิคิวลาร์ การใช้ลวดลายตกแต่งอันละเอียดละออที่นิยมกันในสมัยกอทิกวิจิตรก็หายไป เส้นบนกำแพงทั้งสองด้านและหน้าต่างเฉียบแหลมชัดขึ้นและลดความ “วิจิตร” (flamboyant) ลง การตกแต่งซุ้มทางเข้าสองชั้นทางด้านใต้ของวัดที่นอร์ธลีชในกลอสเตอร์เชอร์ (ค.ศ. 1480)

“กอทิกเพอร์เพ็นดิคิวลาร์” หรือ “กอทิกแนวดิ่ง” (อังกฤษ: Perpendicular Gothic หรือเรียกง่าย ๆ ว่า Perpendicular) เป็นสถาปัตยกรรมกอทิกอังกฤษสมัยที่สาม การเรียกว่า “กอทิกเพอร์เพ็นดิคิวลาร์” ก็เพราะลักษณะของสถาปัตยกรรมนี้เน้นการใช้เส้นแนวดิ่ง ที่บางครั้งก็จะเรียกว่ากอทิกนานาชาติ หรือ “กอทิกตอนปลาย”

กอทิกเพอร์เพ็นดิคิวลาร์ที่เริ่มขึ้นราวปี ค.ศ. 1350 วิวัฒนาการมาจากกอทิกวิจิตรของปลายคริสต์ศตวรรษที่ 13 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 14 และนิยมกันมาจนกระทั่งกลางคริสต์ศตวรรษที่ 16

ในตอนปลายของสมัยกอทิกวิจิตรก็เริ่มมีการละทิ้งการใช้วงกลมในลวดลายตกแต่งหน้าต่างที่นำไปสู่การใช้โค้งเดี่ยวและโค้งซ้อนและลวดลายตกแต่งวิจิตรต่าง ๆ แต่เมื่อมาถึงสมัยเพอร์เพ็นดิคิวลาร์เส้นโค้งก็เปลี่ยนไปเป็นเส้นดิ่ง

องค์ประกอบของกอทิกเพอร์เพ็นดิคิวลาร์

การเน้นเส้นดิ่งของกอทิกเพอร์เพ็นดิคิวลาร์เห็นได้ชัดในการออกแบบหน้าต่างที่มีขนาดใหญ่ยิ่งขึ้นกว่าเดิม บางครั้งก็มีขนาดที่เรียกว่ามหึมาเช่นขนาดเท่ากับสนามเทนนิสของบานหน้าต่างบนมุขด้านตะวันออกของมหาวิหารยอร์คเป็นต้น แต่ซี่หินที่ใช้แบ่งช่องภายในบานหน้าต่างกลับบอบบางลงกว่าสมัยก่อนหน้านั้น ซึ่งทำให้สามารถทำให้ช่างประกอบกระจกสีมีเนื้อที่ในการแสดงความสามารถเพิ่มขึ้น ซี่หินแทนที่หยุดที่ฐานของส่วนที่เริ่มโค้งของหน้าต่างแบบบานหน้าต่างของสมัยกอทิกวิจิตรก็แล่นตรงขึ้นไปจนจรดโค้งตอนบนที่แบ่งออกเป็นซี่ย่อยลงอีก ค้ำยันหรือผนังก็เช่นกันแบ่งเป็นช่องแผงสูง

ประตูก็มักจะอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมโดยมีส่วนโค้งอยู่เหนือบัว สามเหลี่ยมประกบโค้ง (spandrel) ก็มักจะตกแต่งด้วยลายจิกสี่กลีบ หรือลวดลายตกแต่งอื่นเช่นเทวดาส่ายผอบกำยาน โค้งแหลมก็ยังใช้กันอยู่ตลอดสมัยนี้ แต่ก็มีการเริ่มใช้โค้งหัวหอม (ogee) และ “โค้งทิวดอร์” กันมากขึ้น

ภายในวัดระเบียงแนบใต้หน้าต่างชั้นบนก็มาแทนที่ด้วยแผงและหันไปเน้นการก่อสร้างหน้าต่างชั้นบนที่มักจะกลายเป็นส่วนประกอบที่เด่นที่สุดในสิ่งก่อสร้างของสถาปัตยกรรมยุคนี้ บัวตกแต่งแบนลงและไม่ดีเท่าสมัยก่อนหน้านั้น

วิวัฒนาการที่สำคัญสองอย่างของยุคนี้อีกอย่างหนึ่งคือการสร้างเพดานพัด และการสร้างเพดานไม้อันวิจิตรที่เรียกว่าเพดานแฮมเมอร์บีม (hammerbeam roof) เช่นที่พบในท้องพระโรงเวสต์มินสเตอร์ (ค.ศ. 1395) หรือที่วัดไครส์เชิร์ช, ออกซฟอร์ดเป็นครั้งแรก ทางใต้ของอังกฤษก็มีการใช้หินเหล็กไฟในการก่อสร้าง, การตกแต่งกำแพงด้านนอกอย่างวิจิตรโดยการใช้หินเหล็กไฟและแอชลาร์ (ashlar) โดยเฉพาะการก่อสร้าง “วัดขนแกะ” หรือวัดที่สร้างเงินที่มาจากเศรษฐกิจอันรุ่งเรืองของการค้าขายขนแกะของบริเวณอีสต์แองเกลีย

ตัวอย่างสำคัญ

ตัวอย่างแรก ๆ ของสถาปัตยกรรมกอทิกเพอร์เพ็นดิคิวลาร์จะเห็นได้จากสิ่งก่อสร้างที่สร้างตั้งแต่ปี ค.ศ. 1360 เช่นที่มหาวิหารกลอสเตอร์ ที่ดูเหมือนช่างหินจะมีความก้าวหน้ามากกว่าช่างหินในสมัยเดียวกันในเมืองอื่น ผู้สร้างเพดานพัดอันละเอียดละออภายในระเบียงคด

สิ่งก่อสร้างอื่น ๆ ก็ได้แก่:

สิ่งก่อสร้างอื่น ๆ ที่มีลักษณะเด่นของกอทิกเพอร์เพ็นดิคิวลาร์ก็ได้แก่ แอบบีเชอร์บอร์น (ค.ศ. 1475–ราว ค.ศ. 1580) ที่เป็นที่รู้จักกันในความงามของเพดานพัดขนาดใหญ่, มหาวิหารบาธ (แม้ว่าจะได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ในคริสต์ทศวรรษ 1860) และ ชาเปลพระแม่มารีในพระเจ้าเฮนรีที่ 7 ที่แอบบีเวสต์มินสเตอร์ (ค.ศ. 1503-ค.ศ. 1519)

กอทิกเพอร์เพ็นดิคิวลาร์มักจะเป็นลักษณะที่นิยมกันจนเมื่อมาถึงสมัยสถาปัตยกรรมฟื้นฟูกอทิก ที่เห็นได้ในตัวอย่างสำคัญคือพระราชวังเวสต์มินสเตอร์ และตึกอนุสรณ์วิลล์ของมหาวิทยาลัยบริสตอล (ค.ศ. 1915-ค.ศ. 1925)

ใกล้เคียง

สถาปัตยกรรมบารอก สถาปัตยกรรมอาสนวิหารในยุโรปตะวันตก สถาปัตยกรรมมหาวิหารสมัยกลางในอังกฤษ สถาปัตยกรรมกอทิกแบบอังกฤษ สถาปัตยกรรมอินเดีย สถาปัตยกรรมโรมาเนสก์ สถาปัตยกรรมไทย สถาปัตยกรรมมาซิโดเนียเหนือ สถาปัตยกรรมกอทิก สถาปัตยกรรมแบบอิตาลี

แหล่งที่มา

WikiPedia: สถาปัตยกรรมกอทิกแบบอังกฤษ http://www.britainexpress.com/architecture/decorat... http://www.britainexpress.com/architecture/early-e... http://www.britainexpress.com/architecture/perpend... http://www.btinternet.com/~timeref.htm http://www.hayquesufrir.com http://cal.bemidji.msus.edu/english/donovan/sabbjo... http://commons.wikimedia.org/wiki/Church_architect... http://commons.wikimedia.org/wiki/File:Church_comp... http://en.wikipedia.org/wiki/File:Ballflower_Glouc... http://en.wikipedia.org/wiki/File:Dog-tooth_orname...