การประกอบวิชาชีพ ของ สถาปัตยกรรมสมัยรัตนโกสินทร์

การประกอบอาชีพในสถาปัตยกรรมในช่วงรัชกาลที่ 4-5 มีข้อจำกัด เพราะอาคารก่อสร้างส่วนใหญ่เป็นอาคารสาธารณะ มีประโยชน์ใช้สอยซับซ้อนมากขึ้น อีกทั้งสังคมยังต้องการผู้มีความรู้เฉพาะทางด้านเทคนิคที่เป็นสากลมากขึ้น ในช่วงระยะเวลานั้นเริ่มมีการแยกหน้าที่รับผิดชอบระหว่างสถาปนิกและวิศวกร และเริ่มมีผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมเป็นให้เห็นชัดเจนมากขึ้น

ในสมัยรัชกาลที่ 6 ประเทศไทยขยายการติดต่อการค้ากับประเทศตะวันตกมากขึ้น ช่างไทยในสมัยนั้นร่วมงานหรือปฏิบัติงานภายใต้การดำเนินงานชาวตะวันตก จึงได้เรียนรู้ความชำนาญทางการออกแบบก่อสร้างแบบสากลจากช่างชาวตะวันตก วิชาชีพสถาปัตยกรรมในช่วงนั้นค่อนข้างเป็นที่รู้จัก เริ่มมีการบัญญัติคำว่า สถาปัตยกรรม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานคำแปลจากคำว่า Architecture ส่วนคำศัพท์ว่า Architect แปลเป็นคำว่า สถาปก ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนมาเป็นคำว่า สถาปนิก

สถาปนิกในประเทศไทยสมัยนั้นมักปฏิบัติงานกับนายช่างตะวันตกชาวอิตาลี เยอรมันและฝรั่งเศส ซึ่งนอกเหนือจากปฏิบัติหน้าที่ให้ราชการแล้วยังประกอบวิชาชีพอิสระ รับออกแบบอาคารให้ผู้ว่าจ้างเอกชนอีกด้วย ช่างไทยที่มีชื่อเสียงอาทิ หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ กฤดากร แต่อย่างไรก็ตามในการประกอบวิชาชีพ ผู้มีความรู้ความชำนาญและประสบการณ์ในการออกแบบอาคาร สามารถประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมได้อย่างเสรี

วิชาชีพสถาปัตยกรรมสมัยใหม่

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2476 ในช่วงที่ถือได้ว่าเป็นการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมแผนใหม่

ในช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกอันเนื่องมาจากสงครามโลกครั้งที่ 1 รวมถึงในประเทศไทยด้วยที่ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจในการก่อสร้าง สถาปนิกต่างชาติเดินทางกลับประเทศ ทำให้การก่อสร้างลดน้อยลงไป ผนวกกับนักเรียนไทยจำนวนมากที่ได้เดินทางไปศึกษาต่อทางด้านวิชาสถาปัตยกรรม ณ ประเทศอังกฤษและฝรั่งเศสด้วยทุนรัฐบาลไทยและทุนส่วนตัว ได้กลับมารับราชการในหน่วยงานที่เกี่ยวกับงานการออกแบบแทนที่สถาปนิกชาวตะวันตก เมื่อการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมเริ่มมีแบบแผนและขอบเขตงานที่ชัดเจนขึ้น และถือได้ว่าการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมแผนใหม่ได้เกิดขึ้นพร้อมกับการจัดตั้งสถาบันการศึกษาสถาปัตยกรรมที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2476 โดยอาจารย์นารถ โพธิประสาท และการก่อตั้งสมาคมสถาปนิกสยามฯ ในปี พ.ศ. 2477 โดยกลุ่มนักเรียนไทยที่จบการศึกษาสถาปัตยกรรม อาทิ พระสาโรชรัตนนิมมานก์ หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ กฤดากร หม่อมเจ้าโวฒยากร วรวรรณและอาจารย์นารถ โพธิประสาท เป็นต้น

ใน พ.ศ. 2479 เริ่มมีพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร เพื่อควบคุมการก่อสร้างอาคารต่าง ๆ ให้ได้ผลทางด้านความมั่นคง แข็งแรง อนามัย การสุขาภิบาล การป้องกันอัคคีภัย และการผังเมือง ถือเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบวิชาชีพออกแบบและการก่อสร้างฉบับแรกในประเทศไทย นอกจากนั้นยังมีประกาศ เทศบัญญัติเทศบาลนครกรุงเทพฯ เรื่องควบคุมการก่อสร้าง พ.ศ. 2483 ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของวิชาชีพสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่มีต่อประชาชนสืบเนื่องจนถึงปัจจุบัน

พ.ศ. 2475-2500

ในช่วงระยะเวลานี้ สถาปนิกส่วนใหญ่มักประกอบวิชาชีพในหน่วยงานราชการสำคัญ เช่นการออกแบบก่อสร้าง กรมโยธาธิการ กรมศิลปากร กรมรถไฟ กรมอู่ทหารเรือ และกรมยุทธโยธาทหารบก รูปแบบการทำงานของสถาปนิกจะทำงานครบวงจร ทั้งการศึกษาข้อมูลโครงการ ออกแบบ เขียนแบบก่อสร้าง รวมถึงควบคุมการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ นอกจากนี้สถาปนิกจากกรมโยธาธิการอาจต้องช่วยเหลืองานออกแบบให้กับหน่วยงานอื่นที่ไม่มีสถาปนิกเป็นของตนเอง

ส่วนการปฏิบัติวิชาชีพในรูปแบบสำนักงาน ยังไม่ปรากฏชัดเจน เป็นเพียงการรับงานส่วนตัวของสถาปนิกในหน่วยงานราชการเหล่านี้ ในส่วนของกฎหมายหรือข้อระเบียนควบคุมที่เกี่ยวข้องนั้น มีเพียงระเบียบและมาตรฐานการประกอบวิชาชีพจากสมาคมสถาปนิกสยามฯ เท่านั้น และไม่มีเกณฑ์มาตรฐานค่าบริการวิชาชีพที่แน่นอน

2501- 2506

ในช่วงเวลานี้ สถาปนิกที่ประกอบวิชาชีพในหน่วยงานราชการยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่งเริ่มมีการจัดตั้งสำนักงานสถาปนิกของเอกชน เช่นสำนักงานสถาปนิกเจน สกลธนารักษณ์ ในยุคนั้นสำนักงานสถาปนิกมักตั้งชื่อบริษัทตามชื่อสถาปนิกเจ้าของสำนักงาน ต่อมาเริ่มมีรูปแบบการทำงานเป็นทีมมากขึ้น พร้อมๆ กับการก่อตั้งสำนักงานสถาปนิกต่างชาติ อันเนื่องจากการตั้งฐานทัพของสหรัฐอเมริกาในไทย

เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2508 มีกฎหมายควบคุมการปฏิบัติวิชาชีพ ประกาศบังคับใช้พระราชบัญญัติวิชาชีพสถาปัตยกรรม พ.ศ. 2508 ทำให้วิชาชีพสถาปนิกเป็นสาขาวิชาชีพสถาปนิกเป็นสาขาอาชีพที่มีการควบคุมจากทางราชการเป็นครั้งแรก ผู้ประกอบวิชาชีพต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม หรือ ก.ส. ส่วนการดำเนินงานของสำนักงานสถาปนิกมักเป็นสำนักงานขนาดเล็ก บริหารงานแบบครอบครัวหรือสตูดิโอ แต่ในส่วนค่าบริการวิชาชีพยังคงไม่เป็นมาตรฐาน

2517-2525

ในส่วนภาคราชการ หน่วยงานมีสถาปนิกของตัวเอง และมีโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่มากขึ้น ส่วนในภาคเอกชนจะเป็นการบริการจากสำนักงานสถาปนิกขนาดเล็กและกลาง ในรูปแบบองค์กรแบบบริษัทจากการรวมหุ้นระหว่างผู้ก่อตั้งและผู้บริหารระดับสูง หรือผู้ก่อตั้งถือหุ้นรายใหญ่รวมทั้งเจ้าของโครงการเป็นผู้ถือหุ้นด้วย นอกจากนี้ยังมีลักษณะการขยายบริษัทแบ่งเป็นบริษัทเล็ก ๆ ในเครือบริษัทขนาดใหญ่ มีการให้บริการเพิ่มเติมการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับข้อกฎหมายในการปลูกสร้างอาคาร

ในช่วงนี้สถาปนิกบางกลุ่มได้เปลี่ยนมาปฏิบัติงานด้านบริหารงานก่อสร้างด้วยเช่นกัน และสำนักงานสถาปนิกเริ่มใช้คอมพิวเตอร์มาช่วงในการปฏิบัติงานมากขึ้น ในส่วนค่าบริการวิชาชีพถึงแม้ว่าจะมีการจัดทำเกณฑ์ค่าบริการวิชาชีพจากสมาคมสถาปนิกสยามฯ แต่สถาปนิกก็พบกับปัญหาการต่อรองค่าออกแบบจากลูกค้าและจากราชการให้ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานค่าบริการวิชาชีพ

2526-2537

วงการวิชาชีพสถาปัตยกรรมมีการขยายตัวขึ้นอย่างมาก ตามสภาพความเป็นไปของเศรษฐกิจของประเทศไทย ขอบเขตการให้บริการวิชาชีพสถาปัตยกรรมขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก ตั้งแต่การเริ่มต้นศึกษาโครงการ การออกแบบ การบริหารงานก่อสร้าง การบริหารด้านอสังหาริมทรัพย์ และมีการเดินทางออกไปรับงานในต่างประเทศอีกด้วย งานในภาคเอกชนมีความต้องการสถาปนิกจำนวนมาก จนเกิดภาวะสมองไหลจากภาคราชการสู่ภาคเอกชน ภาคการศึกษากำหนดให้วิชาชีพสถาปนิกเป็นสาขาที่ขาดแคลนที่ต้องเร่งผลิตให้เท่าทันความต้องการของตลาดแรงงาน ซึ่งส่งผลกระทบมายังระบบการศึกษาและปฏิบัติวิชาชีพของประเทศไทยในปัจจุบันเช่นกัน

การให้บริการสถาปนิก มีรูปแบบเปลี่ยนมาจัดตั้งบริษัทควบคุมงานและบริหารงานก่อสร้างกันมากขึ้น อันเนื่องมาจากความต้องการที่มากขึ้นของตลาดอสังหาริมทรัพย์ จนวิชาชีพสถาปัตยกรรมถือได้ว่ามาถึงยุคเฟื่องฟูงถึงขีดสุด เห็นได้จากจำนวนบริษัทสถาปนิกที่ขึ้นทะเบียนกับสมาคมสถาปนิกสยามฯ มีสูงถึงกว่า 200 บริษัท (และไม่เคยปรากฏมีจำนวนสูงมากเท่านี้จนถึงปัจจุบัน) และมีองค์กรที่มีบุคลากรในบริษัทตั้งแต่ 10 คนไปจนถึง 200 คนเศษ แต่ช่วงเวลาดังกล่าวนี้จะดูด้อยคุณภาพไปจากอดีตที่ผ่านมา ในส่วนของค่าบริการวิชาชีพในภาพรวมของวงการจัดว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีขึ้น

2538 - 2543

ประเทศไทยเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอันเนื่องมาจากวิกฤตต้มยำกุ้ง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา งานในภาคราชการ ในวงการธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพทย์ชะลอตัวลงหรือล้มเลิกโครงการไปอย่างมากมาย บริษัทพัฒนาที่ดินหลายบริษัทปิดตัวลง สถาปนิกว่างงาน รวมถึงการลดจำนวนพนักงานไปหลายต่อหลายแห่ง สำนักงานสถาปนิกจำนวนมากปิดตัวไป ทำให้สถาปนิกล้นตลาดอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน บริษัทสถาปนิกจำนวนมากต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรไปจนถึงรูปแบบการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการลดเงินเดือนและลดวันทำงาน และเปลี่ยนการให้บริการการออกแบบเป็นการควบคุมงานก่อสร้าง การบริหารโครงการหรือออกไปหางานจากประเทศเพื่อนบ้าน

สถาบันการศึกษาเริ่มปรับเปลี่ยนหลักสูตรให้สอดคล้องกับสถานกรณ์ เช่น การเปิดการเยนการสอนในการรับบัญฑิตเข้าศึกษามากขึ้น เช่น เทคโนโลยีอาคาร และการจัดการทางสถาปัตยกรรม เป็นต้น ในช่วงนี้บุคคลสำคัญในวงการวิชาชีพหลายท่าน อาทิ คุณมติ ตั้งพานิช, คุณนิธิ สถาปิตานนท์, คุณยอดเยี่ยม เทพธรานนท์, คุณนคร ศรีวิจารณ์ ฯลฯ ได้ร่วมผลักดันให้เกิดการบริหารการจัดการและการกำกับดูแลการปฏิบัติวิชาชีพจากคนในวิชาชีพด้วยกันเองอย่างอิสระในรูปแบบสถาปนิกสภาขึ้น เพื่อแทนทีการกำกับดูแลจากรัฐบาลผ่านคณะกรรมการ ก.ส. เป็นเหตุให้เกิดความพยายามยกร่างกฎหมายดังกล่าวจากตัวแทนผู้กอบวิชาชีพเพื่อนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฏร และผู้นำรัฐบาล ในหลายรัฐบาล เพื่อให้ผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องเห็นความสำคัญของวิชาชีพและกฎหมายฉบับนี้ที่มีต่อคนไทย จนสามารถประกาศบังคับใช้พระราชบัญญัติสถาปนิกสำเร็จเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543

2544

จากจุดตกต่ำของวงการวิชาชีพสถาปัตยกรรม ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นจำนวนสำนักงานสถาปนิกและผู้ประกอบวิชาชีพที่ลดน้อยลง เช่นสถานการณ์การว่างจ้างงานสถาปัตยกรรมมีปริมาณงานไม่สอดคล้องกับจำนวนสำนักงานและปริมาณสถาปนิกที่มีอยู่เดิม การแข่งขันในวิชาชีพที่มีความเข้มข้นขึ้น พร้อมกับการขยายโอกาสให้บริการวิชาชีพไปยังต่างประเทศ ในแถบตะวันออกกลาง จีนและประเทศเพื่อนบ้านของสำนักงานสถาปนิกขนาดกลางและขนาดใหญ่

ผนวกกับการเปิดการเรียนการสอนสถาปัตยกรรมในหลายสถาบันการศึกษา ทำให้มีจำนวนบัณฑิตสถาปัตยกรรมใหม่ เพิ่มากขึ้นสูงเกือบ 2,000 คนในแต่ละปี แต่อย่างไรก็ตามด้วยเงื่อนไขในการสอบรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพฯ และความต้องการประกอบวิชาชีพที่มีความหลายหลายมากกว่างานสถาปัตยกรรมเพียงอย่างเดียว ทำให้จำนวนสถาปนิกใหม่ที่สอบผ่านได้รับใบอนุญาตฯ ในแต่ละปีมีจำนวนเพียงประมาณ 900-1,000 คนเศษ

เนื่องจากประกาศบังคับใช้พระราชบัญญัติสถาปนิกใน พ.ศ. 2543 ทำให้วิชาสถาปัตยกรรมมีสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้องและถูกควบคุมเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ สถาปัตยกรรมหลัก ภูมิสถาปัตยกรรม สถาปัตยกรรมผังเมือง และสถาปัตยกรรมภายในและมัณฑนศิลป์

จุดเปลี่ยนที่สำคัญ คือนโยบายการเปิดเสรีการค้าธุรกิจบริการที่มีผลบังคับใช้ ทำให้วงการวิชาชีพต้องพิจารณาผลกระทบจากการปฏิบัติวิชาชีพข้ามชาติของสถาปนิกทั้งจากตะวันตกและในภูมิภาคอาเซียน อันเนื่องมาจากข้อตกลงสถาปนิกอาเซียน ทำให้องค์การวิชาชีพและผู้ประกอบวิชาชีพต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนามาตรฐานการปฏิบัติงานให้ทัดเทียมมาตรฐานสากลมากขึ้น ควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะด้านภาษาต่างประเทศ

สถาปนิกและผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมมีโอกาสไปปฏิบัติงานในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและองค์กรมหาชนเกิดขึ้นใหม่หลายแห่ง อันเนื่องจากบัณฑิตสถาปัตยกรรมแต่ละปีมีมากขึ้นเกินความจำเป็นของตลาด บัณฑิตสถาปัตยกรรมได้ผันตัวเองไปปฏิบัติงานในลักษณะอื่นกันมากขึ้น โดยเฉพาะในสายงานที่ใช้ความคิด สร้างสรรค์อื่น โดยอาศัยจุดแข็งทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของตนเอง เช่น งานออกแบบ กราฟิก งานออกแบบและพัฒนาเว็บไซต์ งานในแวดวงบันเทิง

แนวโน้ม

แนวโน้มในการปฏิบัติวิชาชีพที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด คือสถาปนิกและผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมรุ่นใหม่บางส่วน มีความพึงพอใจกับการประกอบวิชาชีพอิสระมาขึ้น โดยไม่เห็นความจำเป็นในการปฏิบัติงานประจำในสำนักงานหรือหน่วยงาน[4]

ใกล้เคียง

สถาปัตยกรรมบารอก สถาปัตยกรรมอาสนวิหารในยุโรปตะวันตก สถาปัตยกรรมมหาวิหารสมัยกลางในอังกฤษ สถาปัตยกรรมกอทิกแบบอังกฤษ สถาปัตยกรรมอินเดีย สถาปัตยกรรมโรมาเนสก์ สถาปัตยกรรมไทย สถาปัตยกรรมมาซิโดเนียเหนือ สถาปัตยกรรมกอทิก สถาปัตยกรรมแบบอิตาลี