เงื่อนไข ของ สนธิสัญญานานกิง

การค้ากับต่างประเทศ

จุดประสงค์หลักของสนธิสัญญาคือเพื่อเปลี่ยนแปลงเค้าโครงการค้ากับต่างประเทศซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ ค.ศ. 1760 (ระบบกว่างโจว) สนธิสัญญาดังกล่าวได้ยกเลิกการผูกขาดการค้าระหว่างประเทศของสิบสามโรงงาน (มาตรา 5) ในกว่างโจว และให้เปิดเมืองท่า 5 แห่งค้าขายกับต่างประเทศแทน ได้แก่ กว่างโจว (เกาะชามีม กระทั่ง ค.ศ. 1943) อามอย (เซียะเหมิน กระทั่ง ค.ศ. 1930) ฝูโจว หนิงโบ และเซี่ยงไฮ้ (จนถึง ค.ศ. 1943)[2] ที่ซึ่งชาวอังกฤษได้รับอนุญาตให้ค้าขายได้อย่างเสรี อังกฤษยังได้รับสิทธิ์ในการส่งกงสุลไปยังเมืองท่าสนธิสัญญาได้ ซึ่งได้รับสิทธิ์ให้ติดต่อโดยตรงกับเจ้าหน้าที่ทางการท้องถิ่นจีน (มาตรา 2) สนธิสัญญาดังกล่าวยังได้กำหนดเงื่อนไขว่าการค้าในเมืองท่าสนธิสัญญาควรจะมีการเก็บภาษีศุลกากรในอัตราที่แน่นอน ซึ่งได้รับการตกลงระหว่างอังกฤษและรัฐบาลราชวงศ์ชิง (มาตรา 10)

ค่าปฏิกรรมสงครามและการเลิกระดมพล

ราชวงศ์ชิงถูกบีบบังคับให้จ่ายเงินเป็นมูลค่าหกล้านดอลล่าร์เงินเป็นค่าฝิ่นที่ถูกยึดโดยหลิน ซีซู ใน ค.ศ. 1839 (มาตรา 4) อีกสามล้านดอลล่าร์เป็นค่าชดเชยหนี้ที่พ่อค้าจีนในกว่างโจวติดหนี้พ่อค้าอังกฤษ (มาตรา 5) และอีกสิบสองล้านดอลล่าร์เป็นค่าปฏิกรรมสงครามชดเชยความเสียหายจากสงคราม (มาตรา 6) รวมเป็นมูลค่า 21 ล้านดอลล่าร์ โดยจะต้องผ่อนชำระจนหมดในเวลาสามปีและราชวงศ์ชิงชิงจะถูกคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปีหากชำระเงินไม่เป็นไปตามกำหนด (มาตรา 7)

ราชวงศ์ชิงรับรองจะปล่อยตัวเชลยศึกชาวอังกฤษทุกคน (มาตรา 8) และให้ประกาศนิรโทษกรรมชาวจีนที่ให้ความร่วมมือกับอังฤษระหว่างสงคราม (มาตรา 9)

ในส่วนของอังกฤษ รับรองว่าจะถอนกำลังทั้งหมดจากนานกิงและคลองต้ายุ่นเหอ (คลองหลวง) หลังจากจักรพรรดิจีนทรงเห็นชอบในสนธิสัญญาดังกล่าวและได้รับเงินชำระงวดแรกแล้ว (มาตรา 12) ทหารอังกฤษจะยังคงประจำอยู่ในกู่ลั่งอวี่และโจวซานจนกระทั่งรัฐบาลชำระค่าปฏิกรรมสงครามจนหมด

การยกฮ่องกงให้แก่อังกฤษ

ใน ค.ศ. 1841 ต้นร่างคร่าว ๆ ของสนธิสัญญาถูกส่งไปเพื่อขอคำชี้แนะจากอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็ม ชาร์ลส์ อีเลียต โดยฉบับร่างดังกล่าวมีข้อความว่า "การยกเกาะ [islands] _____" พอตทิงเจอร์ส่งฉบับร่างเก่าของสนธิสัญญาขึ้นฝั่ง โดยมีอักษร s ถูกตัดออกจากคำว่า "เกาะ" (เปลี่ยนจากพหูพจน์เป็นเอกพจน์) และคำว่า "ฮ่องกง" ได้ถูกเติมลงไปในช่องว่างดังกล่าว[3] โรเบิร์ต มอนต์โกเมรี มาร์ติน เสนาบดีการคลังฮ่องกง ได้เขียนในรายงานอย่างเป็นทางการว่า:

หลังจากที่ได้มีการอ่านเงื่อนไขสนธิสัญญาสันติภาพ อีหลี่ปู้ ข้าหลวงอาวุโส ชะงักไปชั่วคราว รอคอยว่าจะกล่าวอะไรเพิ่มหรือไม่ และในที่สุดก็ได้กล่าวว่า "มีอะไรอีกไหม" คุณมอร์ริสันถามพันโทมัลคอล์มว่ามีอะไรเพิ่มอีกไหม และได้รับการปฏิเสธ อีหลี่ปู้ได้กล่าวปิดการเจรจาอย่างรวดเร็วและด้วยไหวพริบโดยกล่าวว่า "ทุกอย่างได้รับการยินยอม ถือว่าเป็นอันตกลง มันจบแล้ว"[3]

รัฐบาลชิงได้ตกลงที่จะยกเกาะฮ่องกงให้เป็นราชอาณานิคมของอังกฤษ โดยผนวกเข้ากับสมเด็จพระราชินีอังกฤษ "ทรงดำรงอยู่ตลอดกาล" เพื่อให้พ่อค้าชาวอังกฤษมีท่าเรือไว้สำหรับขนสินค้าขึ้นฝั่ง (มาตรา 3) ในภายหลัง พอตทิงเจอร์ได้รับเลือกให้เป็นผู้ว่าราชการฮ่องกงคนแรก

ใน ค.ศ. 1860 อาณานิคมได้ขยายออกไปรวมกับคาบสมุทรเกาลูน และใน ค.ศ. 1898 ข้อตกลงปักกิ่งที่สองได้ขยายอาณานิคมออกไปเป็นการเช่านิวเทอร์ริทอรีส์ ใน ค.ศ. 1984 รัฐบาลสหราชอาณาจักรและสาธารณรัฐประชาชนจีนได้สรุปปฏิญญาร่วมจีน-อังกฤษต่อปัญหาฮ่องกง โดยที่อธิปไตยเหนือดินแดนที่อังกฤษเช่า ร่วมกับเกาะฮ่องกงและเกาลูน (ทางใต้ของถนนบาวน์เดอรี) ผนวกเข้าภายใต้ข้อตกลงปักกิ่ง (1860) มีกำหนดจะโอนให้กับสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1997

ใกล้เคียง

สนธิสัญญาแวร์ซาย สนธิสัญญาเบาว์ริง สนธิสัญญาเบอร์นี สนธิสัญญาญี่ปุ่น–สยาม พ.ศ. 2440 สนธิสัญญาสันติภาพ สนธิสัญญาสยาม–ฝรั่งเศส ร.ศ. 122 สนธิสัญญาทรียานง สนธิสัญญา สนธิสัญญาชิโมโนเซกิ สนธิสัญญาปารีส (ค.ศ. 1783)