การเมือง ของ สนั่น_ขจรประศาสน์

กบฏ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520

ในเหตุการณ์กบฏ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520 ที่มีความพยายามโค่นล้มรัฐบาลชุดที่มีนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี จาก พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ แต่ไม่สำเร็จ พล.ต.สนั่น ซึ่งในขณะนั้นมียศเป็น พันโท (พ.ท.) ได้เข้าร่วมกับฝ่ายกบฏด้วย

ภายหลัง เมื่อถูกจับ ถูกตัดสินจำคุกซึ่งต่อมาได้ลงโทษจำคุกตลอดชีวิตร่วมกับผู้ก่อการคนอื่น ๆ แต่ภายหลังทั้งหมดได้รับการนิรโทษกรรมเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ปีเดียวกัน[8]

กรณีกลุ่มงูเห่าและพรรคประชากรไทย

ปลายปี พ.ศ. 2540 พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ถูกแรงกดดันให้ลาออกจากตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี เนื่องจากการลดค่าเงินบาทในวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 และตัดสินใจลาออกเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 ในเวลานั้นพรรคร่วมรัฐบาล ที่ประกอบด้วย พรรคความหวังใหม่, พรรคชาติพัฒนา, พรรคชาติไทย, พรรคประชากรไทย, พรรคกิจสังคม ตกลงร่วมกันที่จะสนับสนุน พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา อดีตนายกรัฐมนตรี ให้กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง แต่ทางพรรคฝ่ายค้านที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ และมีจำนวนส.ส.น้อยกว่าพรรคความหวังใหม่เพียง 2 เสียง ก็มีความพยายามที่จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลด้วยเช่นกัน

วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 นายเสนาะ เทียนทอง เลขาธิการพรรคความหวังใหม่ ได้จัดแถลงข่าว ยืนยันการจัดตั้งรัฐบาล โดยมี พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ที่ชั้นล่างของทำเนียบรัฐบาล แต่ในเวลาเดียวกัน พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ก็เปิดแถลงข่าว เรื่องการจัดตั้งรัฐบาลด้วย โดยมีเสียงสนับสนุนจากพรรคกิจสังคมของ นายมนตรี พงษ์พานิช ที่ย้ายฟากมาจากพรรคร่วมรัฐบาลเดิมอย่างกะทันหัน และมีตัวแปรสำคัญคือ ส.ส. พรรคประชากรไทย จำนวน 12 คน นำโดย นายวัฒนา อัศวเหม และ นายฉลอง เรี่ยวแรง ที่เข้าร่วมสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ ขณะที่หัวหน้าพรรคประชากรไทย คือ นายสมัคร สุนทรเวช ไม่ทราบมาก่อนและยังสนับสนุนฝ่าย พล.อ.ชาติชาย ทำให้สถานการณ์พลิกกลับอย่างรวดเร็ว กลายเป็นเสียงทางฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์มีมากกว่า และทำให้นายชวน หลีกภัย ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 2 ในที่สุด

หลังเหตุการณ์ครั้งนี้ นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคประชากรไทย ได้กล่าวเปรียบเทียบว่า ตนเป็นเหมือนชาวนาในนิทานอีสป เรื่อง "ชาวนากับงูเห่า" ที่เก็บงูเห่าที่กำลังจะตายจากความหนาวเย็น มาไว้ในอกเสื้อเพื่อให้ความอบอุ่น แต่ต่อมางูเห่านั้นก็ฉกชาวนาตาย ซึ่งนายสมัครเปรียบเทียบกับ แกนนำของ ส.ส. ทั้ง 12 คน โดยเฉพาะ ส.ส.กลุ่มปากน้ำ ของนายวัฒนา อัศวเหม ซึ่งเดิมสังกัดพรรคชาติไทย แต่ภายหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ไม่มีพรรคใดรับเข้าสังกัด จนในที่สุดมาเข้าสังกัดพรรคประชากรไทย ที่นายสมัครเป็นหัวหน้าพรรค และต่อมามีการตัดสินใจทางการเมือง ที่ขัดต่อมติพรรคดังกล่าว ทำให้ต่อมาสื่อมวลชน เรียก ส.ส. 12 คนนี้ตามคำพูดของนายสมัครว่า "กลุ่มงูเห่า" อยู่เป็นเวลานาน

ต่อมามีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวว่า ส.ส. พรรคประชากรไทยทั้ง 12 คน มีสิทธิตามกฎหมาย ที่จะตัดสินใจทางการเมืองโดยอิสระ เช่น การสนับสนุน นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี โดยไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามมติพรรค หรือความต้องการของหัวหน้าพรรคการเมืองที่ตนสังกัด การรวบรวมเสียง ส.ส. จนสามารถสนับสนุน นายชวน หลีกภัย ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สมัยที่ 2 ได้สำเร็จครั้งนี้ ทำให้ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้น ได้รับการกล่าวขานถึงในฐานะผู้มีเหลี่ยมคูทางการเมือง และเป็นกรณีศึกษาหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี

นายอดิศร เพียงเกษ ส.ส.จังหวัดขอนแก่น พรรคความหวังใหม่ ได้เปิดเผยข้อมูลระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจพลตรีสนั่น ว่า พลตรีสนั่น แสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จ ต่อ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยระบุว่ามีการกู้ยืมเงินจำนวน 45 ล้านบาท จากบริษัท เอเอเอส ออโต้เซอร์วิส ทั้งที่ไม่มีการกู้ยืมจริง

ต่อมา นายวีระ สมความคิด ประธานกลุ่มพิทักษ์สิทธิเสรีภาพประชาชน ได้ยื่นหนังสือต่อ ป.ป.ช. ให้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง จนคดีเข้าสู่ กระบวนการทางกฎหมาย และต่อมา ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยเป็นเอกฉันท์ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2543 ว่า พล.ต.สนั่น มีความผิด ฐานจงใจแสดง บัญชทรัพย์สินอันเป็นเท็จ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 295 ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี[9]

จากการถูกดำเนินคดีทางการเมืองดังกล่าว ทำให้ พล.ต.สนั่น ต้องลาออกจากตำแหน่ง เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นมายาวนานถึง 13 ปี โดยมี นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ เข้ารักษาการตำแหน่งเลขาธิการพรรคเป็นเวลาสั้น ๆ และต่อมา นายอนันต์ อนันตกูล ได้รับเลือกให้ขึ้นดำรงตำแหน่ง เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2543

ก่อตั้งพรรคมหาชน

หลังการถูกตัดสิทธิทางการเมือง พล.ต.สนั่น ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ และในที่สุดได้ก่อตั้ง พรรคมหาชน ขึ้น โดยมี ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นหัวหน้าพรรคคนแรก ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2548 และต่อมา พล.ต.สนั่น ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคคนต่อมา

ร่วมงานกับพรรคชาติไทย

วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2550 พล.ต.สนั่น พร้อมด้วย นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ บุตรชาย และสมาชิกพรรคมหาชน เดินทางไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคชาติไทย โดยให้เหตุผลว่ากฎหมายพรรคการเมืองปัจจุบันไม่เอื้อต่อการดำเนินงานของพรรคการเมืองขนาดเล็ก ถือเป็นการสิ้นสุดการดำเนินงานของพรรคมหาชนไปโดยบริยาย[10]

ต่อมาในการร่วมรัฐบาลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 พล.ต.สนั่นดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และรัฐบาลนายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ [11]

ร่วมงานกับพรรคชาติไทยพัฒนา

ในวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2555 พล.ต.สนั่น ในฐานะประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา ได้ประกาศยุติบทบาททางการเมือง โดยขอยุติการทำหน้าที่ในฐานะ ส.ส. แต่ยังคงพร้อมที่จะช่วยงานในส่วนของพรรค และงานการเมืองของประเทศต่อไป[12]

การปรองดองทางการเมือง

ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้

แหล่งที่มา

WikiPedia: สนั่น_ขจรประศาสน์ http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/490621 http://www.thaiswatch.com/display/content.php?type... http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID... http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID... http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?Ne... http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2485/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2531/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2531/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2532/D/...