ประวัติ ของ สมบัติร่วมกันของมนุษยชาติ

สืบเนื่องจากการเสนอหลักการของศาสตราจารย์ อาวิด ปาโด ในวันที่ 17 ธันวาคม 1970 ที่ประชุมสมัชชาใหญ่ได้ลงมติเป็นเอกฉันท์รับมติที่ 2749 ซึ่งมีชื่อว่า “ประกาศหลักการเกี่ยวกับพื้นทะเล และพื้นดินข้างล่างซึ่งอยู่นอกเขตอำนาจของรัฐ”[1] (Declaration of Principles Governing the Sea – Bed and the Ocean Floor, and the Subsoil thereof, beyond the Limits of National Jurisdiction) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “ประกาศหลักการ” (Declaration of Principles) ซึ่งเป็นไปตามหลักcommon heritage of mankind ที่เคยถูกเสนอไว้

จากนั้น หลักการดังกล่าวได้ถูกนำมาบัญญัติไว้ในสนธิสัญญาที่ใช้บังคับกิจกรรมของรัฐบนดวงจันทร์ ดวงดาว และวัตถุอวกาศอื่นๆ ค.ศ. 1979 โดยได้กำหนดหลักในการดำเนินกิจกรรมเพื่อประโยชน์ของรัฐทั้งปวงโดยหลักความร่วมมือและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และหลักการเป็นสมบัติร่วมกันของมนุษยชาติ มีใจความว่า “ดวงจันทร์และทรัพยากรธรรมชาติของดวงจันทร์ประกอบเป็นสมบัติส่วนรวมของมนุษยชาติ”

ต่อมาใน “การประชุมกฎหมายทะเล ครั้งที่ 3 ขององค์การสหประชาชาติ” (The Third United National Conference on the Law of the Sea หรือ UNCLOS III)เมื่อปี 1982 ได้รับรอง “อนุสัญญาว่าด้วยกฎหมายทะเล” (Convention on the law of the Sea) อนุสัญญาดังกล่าวได้บัญญัติกฎหมายต่าง ๆ เกี่ยวกับกฎหมายทะเลขึ้นตลอดจนนำกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศมาบรรจุไว้ด้วย มาตรา 136 ของอนุสัญญานี้ได้บัญญัติรับหลัก common heritage of mankind ไว้ว่า “พื้นทะเลที่อยู่นอกเขตอำนาจรัฐ (พื้นทะเลหลวง) และทรัพยากรในบริเวณนั้นเป็นมรดกร่วมกันของมวลมนุษยชาติ” (The Area and its resources are the common heritage of mankind) โดยสำนวนบางตอนลอกความมาจาก สนธิสัญญาที่ใช้บังคับกิจกรรมของรัฐบนดวงจันทร์ ดวงดาว และวัตถุอวกาศอื่น ๆ ค.ศ. 1979 จากนั้น ได้ถูกนำไปใช้ในกฎหมายอื่นอีก ในลักษณะเดียวกัน