ศิลปะในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาของฝรั่งเศส ของ สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาในฝรั่งเศส

ยุคทอง

"พระแม่มารีและพระบุตร" โดย ฌอง โฟเคท์ ราว ค.ศ. 1452-1455

ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15 การรุกรานของฝรั่งเศสเข้าไปในอิตาลี และการที่ฝรั่งเศสอยู่ไม่ไกลจากสำนักดยุคแห่งเบอร์กันดีอันรุ่งเรืองนัก (ที่เกี่ยวข้องกับฟลานเดอร์ส) ทำให้ฝรั่งเศสได้มีโอกาสประสบกับสินค้า, จิตรกรรม และ วิญญาณของการสร้างสรรค์สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาตอนเหนือ และ สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาอิตาลี และความเปลี่ยนแปลงทางด้านศิลปะในระยะแรกในฝรั่งเศสก็มักจะมาจากจิตรกรอิตาลีและเฟล็มมิชเช่นฌอง คลูเอต์ (Jean Clouet) และบุตรชายฟรองซัวส์ คลูเอต์ (François Clouet) และจิตรกรอิตาลีรอซโซ ฟิโอเรนติโน, (Rosso Fiorentino), ฟรันเชสโก ปรีมาติชโช (Francesco Primaticcio) และ นิโคโล เดลาบาเต (Niccolò dell'Abbate) ของตระกูลการเขียนที่เรียกกันอย่างไม่เป็นทางการว่าตระกูลการเขียนฟงแตงโบลที่เริ่มขึ้นใน ค.ศ. 1531) เลโอนาร์โด ดา วินชีเองก็ได้รับเชิญมาพักในฝรั่งเศสโดยพระเจ้าฟรองซัวส์ที่ 1 แต่นอกไปจากภาพเขียนที่นำติดตัวมาแล้ว ดา วินชีก็มิได้สร้างงานที่เป็นชิ้นเป็นอันให้แก่ราชสำนักฝรั่งเศสแต่อย่างใด

ศิลปะในยุคนี้ที่เริ่มตั้งแต่รัชสมัยของพระเจ้าฟรองซัวส์ที่ 1 จนถึงรัชสมัยของพระเจ้าอองรีที่ 4 เป็นศิลปะที่มีอิทธิพลจากขบวนการพัฒนาจักษุศิลป์และประติมากรรมของอิตาลีตอนปลายเป็นอันมาก ในช่วงที่เรียกว่าแมนเนอริสม์ (ที่เกี่ยวข้องกับงานของไมเคิล แอนเจโล และ พาร์มิจานิโน และผู้อื่น) ที่เห็นได้ลักษณะของตัวแบบที่มีสัดส่วนที่ยาวและสง่าขึ้น และการเพิ่มการใช้วาทศาสตร์ทางจักษุ (visual rhetoric) หรือการสื่อความหมายทางตาที่รวมทั้งการใช้อุปมานิทัศน์ และ ตำนานเทพ

ในช่วงนี้ก็มีศิลปินหลายคนที่มีความสามารถที่รวมทั้งจิตรกรฌอง โฟเคท์แห่งตูร์ ผู้มีชื่อเสียงในการเขียนภาพสำหรับหนังสือวิจิตรได้อย่างงดงาม และประติมากรฌอง กูฌง (Jean Goujon) และ แชร์แมง ปิลง (Germain Pilon)

แต่สิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองของสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาของฝรั่งเศสก็ได้แก่การสร้างวังแห่งลุ่มแม่น้ำลัวร์ ที่มิได้มีลักษณะเป็นมิได้ป็นการสร้างปราสาทเพื่อการป้องกันข้าศึกอีกต่อไป แต่เป็นการสร้างสำหรับเป็นที่อยู่อาศัยเพื่อความสำราญของผู้เป็นเจ้าของ โดยใช้ภูมิทัศน์อันน่าชมของบริเวณลุ่มแม่น้ำลัวร์เป็นฉากหลังในการแสดงความสามารถทางสถาปัตยกรรม

ปราสาทลูฟร์เก่าในปารีสก็ได้รับการก่อสร้างใหม่ภายใต้การนำของปิแยร์ เลส์โคต์ (Pierre Lescot) ที่กลายมาเป็นลักษณะหลักของสถาปัตยกรรมของ "château" หรือ พระราชวังของสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาของฝรั่งเศสที่สร้างต่อมา ทางตะวันตกของลูฟร์แคทเธอรีน เดอ เมดิชิก็ทรงสร้างพระราชวังที่ Tuileries ที่ประกอบด้วยสวนภูมิทัศน์ขนาดใหญ่ และ ถ้ำตกแต่ง (grotto)

แต่สงครามศาสนาของฝรั่งเศสซึ่งเป็นสงครามกลางเมืองที่เนิ่นนานถึงสามสิบปีเป็นสิ่งที่ถ่วงและหมางความเจริญทางการสร้างงานศิลปะออกไปจากวงของการสร้างเพื่อศาสนาและการโฆษณาชวนเชื่อทางการเมือง

ปลายแมนเนอริสม์และต้นบาโรก

การขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าอองรีที่ 4 นำมาสู่การพัฒนาเมืองขนานใหญ่ในปารีสปารีสที่รวมทั้งการสร้างสะพานปงต์นูฟ (Pont Neuf), จตุรัสโวสหรือ "Place Royale" (จตุรัสหลวง), จตุรัสโดแฟง และการต่อเติมพระราชวังลูฟร์

นอกจากนั้นแล้วพระเจ้าอองรีที่ 4 ก็ทรงเชิญศิลปินเช่น ทูส์แซงต์ ดูบรุยล์ (Toussaint Dubreuil) , มาร์แตง เฟรมิเนต์ (Martin Fréminet) และ อองบรัวส์ ดูบัวส์ (Ambroise Dubois) ให้มาสร้างพระราชวังฟงแตงโบล ที่เรียกว่าตระกูลการเขียนฟงแตงโบลที่สอง

มารี เดอ เมดิชิสมเด็จพระราชินีในพระเจ้าอองรีที่ 4 ทรงเชิญจิตรกรเฟล็มมิชปีเตอร์ พอล รูเบนส์มายังฝรั่งเศสเพื่อเขียน "ภาพชุดพระราชินีมารี เดอ เมดิชิ" ซึ่งเป็นภาพขนาดใหญ่จำนวนยี่สิบสี่ภาพที่บรรยายชีวประวัติของพระองค์ เพื่อใช้ตกแต่งพระราชวังลักเซมเบิร์กในกรุงปารีส จิตรกรเฟล็มมิชอีกคนหนึ่งที่ได้มาทำงานในราชสำนักคือฟรันส์ โพร์บัสผู้เยาว์ (Frans Pourbus the younger)

นอกราชอาณาจักรฝรั่งเศสในขณะนั้น เช่นในอาณาจักรดยุคแห่งลอร์แรนก็จะเป็นงานของปลายสมัยแมนเนอริสม์ที่แตกต่างออกไปเช่นที่พบในงานของฌาคส์ เบลลัญจ์ (Jacques Bellange), โคลด เดอรูเอต์ (Claude Deruet) และ ฌาคส์ คาลโลต์ (Jacques Callot) ศิลปินลอร์แรนขณะนั้นไม่มีการติดต่อกับศิลปินฝรั่งเศสซึ่งทำให้การพัฒนาแตกต่างออกไปที่มีลักษณะที่แรงกว่าของฝรั่งเศส และมักจะออกไปทางยั่วยวนอารมณ์ (erotic mannerism) ที่รวมทั้งการเขียนภาพที่เป็นยามกลางคืน หรือ การฝันร้าย นอกจากนั้นก็เป็นช่างผู้มีฝีมือในทางงานแกะ

ใกล้เคียง