ดนตรีของสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาของฝรั่งเศส ของ สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาในฝรั่งเศส

จิลส์ แบงชัวส์ขวา และ กิโยม ดูเฟย์ซ้าย

อาณาจักรดยุคแห่งเบอร์กันดีซึ่งเป็นภูมิภาคที่พูดภาษาฝรั่งเศสที่ติดกับทางทางตะวันออกฝรั่งเศสเป็นศูนย์กลางทางการดนตรีของยุโรปในตอนต้นและตอนกลางของคริสต์ศตวรรษที่ 15 นักดนตรีผู้มีชื่อเสียงหลายคนของยุโรปถ้าไม่มาจากเบอร์กันดีก็เดินทางไปศึกษาจากคีตกวีที่นั่น นอกจากนั้นก็ยังมีการแลกเปลี่ยนทางการดนตรีระหว่างสำนักเบอร์กันดีและราชสำนักฝรั่งเศสและสถาบันศาสนากันอย่างสม่ำเสมอในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15 ดนตรีตระกูลเบอร์กันดีเป็นบ่อเกิดของดนตรีแบบ ดนตรีหลายเสียง (polyphony) ของดนตรีตระกูลฝรั่งเศส-เฟล็มมิชที่มีอิทธิพลต่อดนตรีของยุโรปมาจนถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15 ลักษณะของดนตรีของฝรั่งเศสในช่วงนี้เป็นลักษณะที่บ่งถึงเอกลักษณ์ดนตรีของราชสำนัก และดนตรีของสถาบันคริสเตียนสำคัญๆ ส่วนใหญ่แล้วคีตกวีฝรั่งเศสจะไม่นิยมลักษณะที่ราบเรีย บ (sombre) ของดนตรีตระกูลฝรั่งเศส-เฟล็มมิช และ พยายามสร้างความชัดเจนในด้านโครงสร้างของดนตรี และในดนตรีที่ไม่เกี่ยวกับศาสนาเช่นเพลงขับ ก็จะสร้างความเบา, การทำให้ร้องได้ง่าย (singability) และ การทำให้เป็นที่นิยมกันโดยทั่วไป กิโยม ดูเฟย์ (Guillaume Dufay) และ จิลส์ แบงชัวส์ (Gilles Binchois) เป็นตัวอย่างของนักดนตรีคนสำคัญสองคนของตระกูลเบอร์กันดีของสมัยต้นสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา

คีตกวีผู้มีชื่อเสียงไปทั่วยุโรป ฌอชแคง เดส์ เปรซ์ (Josquin Des Prez) เป็นนักดนตรีประจำราชสำนักของพระเจ้าหลุยส์ที่ 12อยู่ชั่วระยะหนึ่ง และอาจจะเป็นผู้เขียนงานชิ้นสำคัญๆ บางชิ้นขึ้นที่นั่น (เช่นงาน เพลงสดุดี 129, De profundis ที่อาจจะเขียนสำหรับงานพระบรมศพของพระเจ้าหลุยส์ในปี ค.ศ. 1515) พระเจ้าฟรองซัวส์ที่ 1 ผู้เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ฝรั่งเศสทรงให้ความสำคัญในการสร้างดนตรีอันหรูหราเป็นสิ่งแรก และทรงนำนักดนตรีติดตามพระองค์ไปในโอกาสที่ทรงไปพบปะกับสมเด็จพระเจ้าเฮนรีที่ 8 แห่งอังกฤษในการพบปะที่ทุ่งภูษาทอง ในปี ค.ศ. 1520 เพื่อเป็นการอวดโอ้ถึงความสามารถของการดนตรีของราชสำนักฝรั่งเศส ที่คาดกันว่าจัดโดยฌอง มูตอง (Jean Mouton) คีตกวีผู้มีชื่อเสียงที่สุดในการเขียนโมเต็ตของต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16

แต่งานดนตรีที่สำคัญของฝรั่งเศสในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาคือการเขียนงานประเภทที่เรียกว่า "เพลงขับ"*[1] (chanson) ซึ่งเป็นฆราวัสดนตรี (secular music) แบบดนตรีหลายเสียง ที่กลายมาเป็นดนตรีที่เป็นที่นิยมกันเป็นอย่างมากในคริสต์ศตวรรษที่ 16 รวมทั้งโดยทั่วไปในยุโรป เพลงขับในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16 มักจะเปิดขึ้นด้วย จังหวะแด็คทิล (ยาว, สั้น-สั้น) และ contrapuntal ที่ต่อมานำไปใช้ในอิตาลีโดยคันโซนา ที่เป็นต้นตอของโซนาตา ตามปกติแล้วเพลงขับจะมีเสียงร้องสามถึงสี่เสียงโดยไม่มีเครื่องดนตรีประกอบแต่เวอร์ชันที่นิยมกันมักจะเขียนให้มีดนตรีประกอบ คีตกวีคนสำคัญที่มีชื่อของฝรั่งเศสในการเขียนเพลงขับก็ได้แก่โคลแดง เดอ แซร์มิซี (Claudin de Sermisy) และ เคลมงต์ ฌาเนอแคง (Clément Janequin) Le guerre โดยฌาเนอแคงเขียนขึ้นในโอกาสการฉลองชัยชนะของฝรั่งเศสในยุทธการมาริญญาโน ในปี ค.ศ. 1515 ที่เลียนเสียงปืนใหญ่, เสียงครางของผู้บาดเจ็บ และเสียงสัญญาณรุกและถอยจากทรัมเป็ต การพัฒนาของเพลงขับต่อมาเป็นลักษณะที่เรียกว่า musique mesurée ที่เห็นได้จากงานของโคลด เลอ เฌอเนอ (Claude Le Jeune): ในแบบเพลงขับที่มาจากการพัฒนาโดยกลุ่มกวีที่เรียกว่า Pléiade ภายใต้การนำของฌอง-อองตวน เดอ บาอีฟ (Jean-Antoine de Baïf) ซึ่งเป็นท่วงทำนองจังหวะของดนตรีที่สะท้อนการเน้นจังหวะของบทร้องโดยตรง ในการพยายามสร้างผลทางวาทศาสตร์ของดนตรีของกรีกโบราณ เมื่อมาถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 เพลงขับก็มาแทนที่ด้วย เพลงขับแอร์เดอคูร์ (air de cour) ซึ่งเป็นประเภทเพลงร้องที่นิยมกันในฝรั่งเศสเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 17

สงครามศาสนามีผลอย่างลึกซึ้งต่อการดนตรีของฝรั่งเศส อิทธิพลของนิกายคาลวินทำให้ดนตรีทางศาสนาของโปรเตสแตนต์มีลักษณะที่แตกต่างจากโมเต็ตละตินอันหรูหราซับซ้อนของโรมันคาทอลิกเป็นอันมาก คีตกวีทั้งโปรเตสแตนต์และโรมันคาทอลิกต่างก็เขียนเพลงขับที่เรียกว่า "เพลงขับเพื่อศาสนา" (chanson spirituelle) ที่คล้ายกับฆราวัสดนตรีแต่เนื้อเพลงเป็นบทสอนทางจริยธรรมแทนที่

ตัวอย่างเช่นงานของคีตกวีโปรเตสแตนต์โคลด กูดิเมล (Claude Goudimel) ผู้มีชื่อเสียงในการเขียนเพลงสดุดีที่มีแรงบันดาลใจจากนิกายคาลวิน ผู้ถูกลอบสังหารในลิยงระหว่างเหตุการณ์การสังหารหมู่วันเซนต์บาโทโลมิว แต่ก็ไม่ใช่คีตกวีโปรเตสแตนต์เท่านั้นที่ถูกสังหารในระหว่างความขัดแย้งทางศาสนาในปี ค.ศ. 1581 คีตกวีโรมันคาทอลิกอองทวน แบร์ทรองด์ (Antoine de Bertrand) ผู้มีความสามารถและเขียนงานเพลงขับไว้เป็นจำนวนมากก็ถูกสังหารโดยหมู่ชนโปรเตสแตนต์ในตูลูส

ใกล้เคียง