พระราชประวัติ ของ สมเด็จพระจักรพรรดินีมิจิโกะ

พระชนม์ชีพช่วงต้นและการศึกษา

สมเด็จพระจักรพรรดินีมิจิโกะเมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์

สมเด็จพระจักรพรรดินีมิจิโกะ เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2477 ณ กรุงโตเกียว เป็นบุตรสาวคนโตของฮิเดซาบูโร โชดะ (ญี่ปุ่น: 正田 英三郎 โรมาจิShōda Hidesaburō) กับฟูมิโกะ โซเอจิมะ (ญี่ปุ่น: 副島 富美子 โรมาจิSoejima Fumiko) บิดาเป็นประธานและประธานกิตติมศักดิ์ของบริษัทนิชชิน[2] พระองค์เติบโตในโตเกียวโดยได้รับการปลูกฝังด้านการศึกษาจากครอบครัวทั้งแบบดั้งเดิมและตะวันตก มีการเรียนภาษาอังกฤษและเปียโน ทรงเรียนรู้ในศิลปะด้านงานเขียน การทำอาหาร และโคโด (ศิลปะการใช้เครื่องหอม)[3] ทั้งนี้พระองค์มีพื้นฐานครอบครัวที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก[4] ทว่าส่วนพระองค์มิเคยรับศีลล้างบาปมาก่อนเลย

พระองค์ทรงเป็นหลานสาวของนักวิชาการหลายท่าน เช่น เค็นชิโร โชดะ นักคณิตศาสตร์ที่เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยโอซากะ (ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2497—2503)[5]

พระองค์เข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนประถมฟูตาบะ (雙葉学園) ย่านโคจิมาชิ เขตชิโยดะ กรุงโตเกียว ต่อมาได้ลาออกขณะทรงศึกษาระดับเกรดสี่เนื่องจากระเบิดของอเมริกันช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง หลังจากนั้นได้ทรงเข้ารับการศึกษาต่อที่เมืองคาตาเซะ (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของเมืองฟูจิซาวะ) จังหวัดคานางาวะ, เมืองทาเตบายาชิ จังหวัดกุมมะซึ่งเป็นนิวาสถานเดิมของสกุลโชดะ และเมืองคารูอิซาวะ จังหวัดนะงะโนะอันเป็นที่ตั้งของบ้านพักตากอากาศของครอบครัว หลังสถานการณ์สงบลง ครอบครัวของพระองค์ได้กลับมายังโตเกียวเมื่อปี พ.ศ. 2489 ทรงรับการศึกษาระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนเดิม แล้วทรงเข้าเรียนที่วิทยาลัยหญิงพระหฤทัยแผนกประถมและมัธยมศึกษา (聖心女子学院初等科・中等科・高等科) ตามลำดับ จนสำเร็จการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2496 พระองค์มีพระราชดำรัสตรัสเล่าเหตุการณ์ดังกล่าว ความว่า "...เมื่อเข้าสู่ช่วงหลังสงครามโลก แม้ข้าพเจ้าจะเป็นเพียงเด็กประถม แต่ก็สัมผัสได้ถึงห้วงเวลาแห่งความทุกข์ยาก ข้าพเจ้าต้องย้ายโรงเรียนถึง 5 ครั้ง ภายในเวลาเกือบ 3 ปี และทุกครั้งที่เข้าโรงเรียนใหม่ จะรู้สึกอึดอัดกับการปรับตัวให้เข้ากับการเรียนการสอนใหม่..."[2]

คฤหาสน์โชดะ เมื่อปี พ.ศ. 2501

ขณะที่ทรงศึกษาอยู่ในระดับวิทยาลัยนั้น ครอบครัวจะเรียกพระองค์อย่างลำลองว่า "มิจิ" (ミチ) หรือ "มิจจิ" (ミッチ)[3] และยังมีอีกชื่อหนึ่งว่า "เทมเพิลจัง" (Temple-chan) เนื่องจากมีพระเกศาเป็นลอนและมีสีออกแดงต่างจากสตรีญี่ปุ่นทั่วไป ทั้งยังมีลักษณะเหมือนเชอร์ลีย์ เทมเพิล (Shirley Temple) นักแสดงเด็กชาวอเมริกัน

พระองค์สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวรรณคดีอังกฤษ คณะวรรณคดี มหาวิทยาลัยพระหฤทัยโตเกียว (聖心女子大学) เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง นอกจากนี้ยังทรงศึกษาต่อในหลักสูตรระยะสั้นในสาขาเดิมที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและออกซฟอร์ด[6]

ช่วงปี พ.ศ. 2493 มีชายหนุ่มมากหน้าหลายตาแวะเวียนเข้ามา จนทำให้ครอบครัวโชดะวิตกกังวลเกี่ยวกับการมีคู่ครองของบุตรสาว[7] หนึ่งในชายที่เข้ามาคบหาพระองค์คือยูกิโอะ มิชิมะ (三島 由紀夫) นักเขียนชาวญี่ปุ่น ซึ่งปรากฏในหนังสือ "ชีวิตและการมรณกรรมของยุกิโอะ มิชิมะ" (The Life and Death of Yukio Mishima) อันเป็นงานเขียนของเฮนรี สกอต สโตกส์ (Henry Scott Stokes) ที่ระบุว่าทั้งสองได้รับการแนะนำ และสนับสนุนจากครอบครัวให้สมรส ด้วยมองว่าทั้งคู่มีความเหมาะสมกัน[8][9]

พระราชพิธีหมั้นและอภิเษกสมรส

ภาพงานอภิเษกสมรส ทรงฉายร่วมกันจักรพรรดิโชวะ และจักรพรรดินีโคจุง เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2502ขณะทรงฉลองพระองค์อภิเษกสมรสแบบญี่ปุ่นดั้งเดิม มกุฎราชกุมารทรงชุด โซกูไต (束帯) ส่วนมกุฎราชกุมารีทรงชุด จูนิฮิโทเอะ (十二単)

มิจิโกะ โชดะพบกับมกุฎราชกุมารอากิฮิโตะครั้งแรกในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2500 ที่สนามเทนนิสในเมืองคารูอิซาวะ ซึ่งสภาพระราชวงศ์ (Imperial Household Council) ได้อนุมัติพระราชพิธีหมั้นของมกุฎราชกุมารกับนางสาวโชดะในวันที่ 24 พฤศจิกายนปีถัดมา ช่วงเวลาเดียวกันนั้น สื่อมวลชนต่างให้ความสนใจและเรียกว่า "รักหวานในสนามเทนนิส" (romance of the tennis court) บ้างก็ว่าเป็น "เทพนิยาย" ที่เกิดขึ้นจริง[7] พระราชพิธีหมั้นถูกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2502

แม้พระคู่หมั้นจะเป็นสตรีที่มาจากครอบครัวที่มั่งคั่งแต่ก็มีพื้นเพเป็นสามัญชนเท่านั้น ในช่วงปีดังกล่าวนั้นสื่อมวลชนและประชาชนทั่วไปที่คุ้นเคยกับพระราชวงศ์ญี่ปุ่นเข้าใจว่า พระราชวงศ์จะต้องคัดเลือกสุภาพสตรีที่มีเชื้อสายเจ้าหรือเป็นลูกหลานขุนนางมาให้พระยุพราชเสกสมรสโดยเฉพาะ นอกจากนี้ประชาชนบางส่วนไม่เห็นด้วยกับการหมั้นนี้เพราะพระคู่หมั้นมาจากครอบครัวคริสตัง[4] แม้เธอจะไม่เคยรับศีลล้างบาปแต่ก็ร่ำเรียนในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาคริสต์ และมีทีท่าที่จะเผยแผ่ความเชื่อของบิดามารดา รวมทั้งมีข่าวลือหนาหูว่าสมเด็จพระจักรพรรดินีนางาโกะก็ทรงต่อต้านพระราชพิธีหมั้นเช่นกัน จนในปี พ.ศ. 2543 หลังการสวรรคตของสมเด็จพระจักรพรรดินีนางาโกะ สำนักข่าวรอยเตอร์ได้รายงานว่า จักรพรรดินีนางาโกะทรงต่อต้านการอภิเษกสมรสอย่างแข็งขัน โดยทรงกดดันพระสุณิสาว่าไม่คู่ควรกับพระราชโอรสของพระองค์ ส่งผลให้พระสุณิสาประชวรด้วยภาวะซึมเศร้า[10] นอกจากนี้ยังมีการหมายเอาชีวิตจนทำให้ครอบครัวโชดะต้องแจ้งเจ้าหน้าที่คอยอารักขาความปลอดภัย[7]

อย่างไรก็ตามความรักของทั้งสองพระองค์นั้นได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในวงกว้าง โดยเฉพาะชนชั้นการเมืองที่จะแสดงให้เห็นถึงพลังของคนหนุ่มสาว มิจิโกะจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของความทันสมัยและประชาธิปไตยในญี่ปุ่น ที่สือมวลชนเรียกว่า "มิจจิบูม" (Mitchi boom)[2] ที่สุดพระราชพิธีอภิเษกสมรสก็ถูกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2502 ซึ่งจัดอย่างลัทธิชินโตตามพระราชประเพณี มีประชาชนโตเกียวกว่า 500,000 คน ร่วมถวายพระพรแสดงความยินดีบริเวณเส้นทางเสด็จยาว 8.8 กิโลเมตร รวมทั้งยังมีการถ่ายทอดสดงานอภิเษกสมรส (ถือเป็นครั้งแรกของญี่ปุ่นที่มีการถ่ายทอดสดงานอภิเษกสมรสของจักรพรรดิในอนาคต) อันมีผู้ชมกว่า 15 ล้านคน[11] ซึ่งมีหลายครอบครัวลงทุนซื้อโทรทัศน์มาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ[12]

มกุฎราชกุมารี

มกุฎราชกุมารีมิจิโกะ กับแนนซี เรแกน เมื่อคราเสด็จเยือนสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ พ.ศ. 2530

หลังการอภิเษกสมรส มกุฎราชกุมารและมกุฎราชกุมารีได้มาประทับอยู่ในพระราชวังโทงู (ญี่ปุ่น: 東宮御所 โรมาจิTōgū-gosho) ตามพระราชประเพณี และออกจากวังดังกล่าวไปประทับพระราชวังอิมพีเรียลเมื่อพระราชสวามีขึ้นครองราชสมบัติเป็น สมเด็จพระจักรพรรดิ เมื่อปี พ.ศ. 2532

มกุฎราชกุมาร และมกุฎราชกุมารี มีพระราชโอรส-ธิดาด้วยกัน 3 พระองค์ คือ

  1. สมเด็จพระจักรพรรดินารูฮิโตะ (ญี่ปุ่น: 徳仁天皇 โรมาจิNaruhito Tennō; 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2503) เสกสมรสกับมาซาโกะ โอวาดะ (ญี่ปุ่น: 小和田雅子 โรมาจิOwada Masako) มีพระราชธิดาพระองค์เดียว
  2. เจ้าชายฟูมิฮิโตะ อากิชิโนโนมิยะ (ญี่ปุ่น: 秋篠宮文仁親王 โรมาจิAkishino-no-miya Fumihito Shinnō; 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2508) เสกสมรสกับคิโกะ คาวาชิมะ (ญี่ปุ่น: 川嶋紀子 โรมาจิKawashima Kiko) มีพระโอรส-ธิดาสามพระองค์
  3. เจ้าหญิงซายาโกะ โนริโนมิยะ (ญี่ปุ่น: 紀宮清子内親王 โรมาจิNori-no-miya Sayako Naishinnō; 18 เมษายน พ.ศ. 2512) ต่อมาทรงลาออกจากฐานันดรศักดิ์เพื่อเสกสมรสกับโยชิกิ คูโรดะ (ญี่ปุ่น: 黒田慶樹 โรมาจิKuroda Yoshiki) ไม่มีบุตร-ธิดาด้วยกัน

ในปี พ.ศ. 2506 มีการรายงานข่าวว่ามกุฎราชกุมารีมิจิโกะทรงยุติการตั้งพระครรภ์ ขณะมีอายุครรภ์ได้สามเดือนเมื่อวันที่ 22 มีนาคม ณ กรุงโตเกียว[13] เนื้อหากล่าวว่า "โฆษกกล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวได้รับคำปรึกษาจากศาสตราจารย์ทากาชิ โคบายาชิ ที่ทำการประสูติเจ้าชายฮิโระ พระราชโอรสพระองค์แรกที่มีพระชันษา 3 ปี. โฆษกยังกล่าวต่อ ว่าเจ้าหญิงซึ่งมีพระชนมายุ 28 พรรษานี้มีพระพลานามัยที่ไม่แข็งแรงเนื่องจากการประกอบพระกรณียกิจอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ก่อนทรงพระครรภ์"[13]

มกุฎราชกุมารีมิจิโกะและพระราชสวามี ขณะเสด็จเยือนประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อปี พ.ศ. 2522 โดยมีสมเด็จพระราชินีนาถยูเลียนา เจ้าหญิงเบียทริกซ์ และเจ้าชายเคลาส์นำเสด็จ

มกุฎราชกุมารและมกุฎราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระองค์นอกกรอบจารีตของวังหลวงที่เดิมต้องแยกพระราชบุตรจากชนกชนนีแล้วให้ผู้อื่นเลี้ยงแทน และจ้างครูมาสอนพระราชบุตรในวัง มกุฎราชกุมารีมิจิโกะเองทรงเลือกที่จะเลี้ยงพระราชบุตรเองโดยไม่พึ่งข้าราชบริพาร ทรงอำรุงเลี้ยงพระราชโอรส-ธิดาด้วยพระเกษียรธาราทุกพระองค์[14] รวมทั้งส่งพระราชบุตรเข้าศึกษาที่โรงเรียน[12] ทั้งนี้มกุฎราชกุมารและมกุฎราชกุมารีเป็นที่เคารพของพสกนิกร ทรงเดินทางพบปะประชาชนใน 47 จังหวัดทั่วประเทศ ทั้งยังให้สิทธิ์ประชาชนที่จะถ่ายรูปคู่กับพระองค์ นอกจากนี้ยังเสด็จเยื่อนต่างประเทศถึง 37 ประเทศ ช่วงปี พ.ศ. 2502-2532

พระองค์มีปัญหาทางจิตอันเกิดจากแรงกดดันของสื่อมวลชน ซึ่งสำนักข่าวรอยเตอร์มองว่า อคติของสมเด็จพระจักรพรรดินีนางาโกะส่งผลอย่างยิ่งที่ทำให้พระองค์ไม่มีพระสุรเสียงไปเจ็ดเดือนเมื่อปี พ.ศ. 2503 และอีกครั้งในฤดูใบไม้ร่วง พ.ศ. 2536[12] และเมื่อปี พ.ศ. 2550 พระองค์ได้ยกเลิกพระราชกรณียกิจออกไป เนื่องจากทรงเป็นร้อนใน มีพระโลหิตกำเดา และพระโลหิตตกในพระอันตคุณ ซึ่งแพทย์ออกมาชี้แจ้งว่าเกิดจากความเครียดส่วนพระองค์[15] ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวใกล้เคียงกับกรณีของมกุฎราชกุมารีมาซาโกะ พระสุณิสา ที่ทรงได้รับแรงกดดันในพระอิสริยยศ[16]

สมเด็จพระจักรพรรดินี

เนื่องในวโรกาสวันพระราชสมภพสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2548

เมื่อสมเด็จพระจักรพรรดิโชวะเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2532 เจ้าชายอากิฮิโตะ มกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่น จึงขึ้นครองราชสมบัติเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ที่ 125 ส่วนเจ้าหญิงมิจิโกะ มกุฎราชกุมารี ก็เป็นสมเด็จพระจักรพรรดินีตามลำดับ โดยจัดพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2533 ณ พระราชวังโตเกียว

หลังพิธีบรมราชาภิเษก ทั้งสองพระองค์ก็เสด็จเยือนต่างประเทศ 19 ประเทศ และพยายามที่จะใกล้พสกนิกรในจังหวัดที่เสด็จเยือนทั้ง 47 จังหวัด พระองค์ปฏิบัติพระราชกรณียกิจเคียงคู่พระราชสวามีทั้งในและต่างประเทศ หรือแม้แต่งานต้อนรับพระราชอาคันตุกะ อย่างในปี พ.ศ. 2550 พระองค์ปฏิบัติพระราชกรณียกิจอย่างเป็นทางการทั้งหมดกว่า 300 ครั้ง[17] หลังการสวรรคตของพระพันปีนางาโกะ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2543 พระองค์จึงดำรงตำแหน่งเป็นองค์นายิกาของสภากาชาดญี่ปุ่นสืบต่อ[18]

ทั้งนี้พระองค์มีหน้าที่ในการดูแลฟาร์มปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในพระราชวังที่ชื่อ "โมะมิจิยะมะ" (Momijiyama Imperial Cocoonery) ทรงมีส่วนร่วมในงานผ้าไหมประจำปีอันเป็นส่วนหนึ่งในพระราชพิธีที่ยึดโยงเข้ากับคติลัทธิชินโต ประเพณีและวัฒนธรรมญี่ปุ่น เมื่อ พ.ศ. 2537 ทรงมีไหมสายพันธุ์โคะอิชิมะรุ (สายพันธุ์ที่เก่าแก่ที่สุดในญี่ปุ่น) ส่วนหนึ่ง พระราชทานให้กับคลังโชโซอิง (ญี่ปุ่น: 正倉院 โรมาจิShōsō-in) ในพุทธศาสนาที่ชื่อวัดโทไดจิ (ญี่ปุ่น: 東大寺 โรมาจิTōdai-ji) เพื่อใช้บูรณะสมบัติต่อไป[17]

พระองค์เป็นที่นิยมของชาวญี่ปุ่นด้วยมีจริยวัตรที่งดงาม ทรงใช้เวลาส่วนหนึ่งไปกับการบำเพ็ญเพียรทางศาสนาร่วมกับพระราชสวามี เช่น ทรงสักการะศาลเจ้าอิเซะและศาลเจ้าชินโตอื่น ๆ รวมทั้งการสวดภาวนาภายในสุสานหลวงเพื่ออุทิศพระราชกุศลแด่บูรพมหากษัตริย์และสมาชิกในราชวงศ์ที่ล่วงลับไปแล้ว ทั้งยังเป็นนักเปียโนหญิงที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง หลายปีที่ผ่านมาทั้งสองพระองค์จะทรงเยี่ยมชมสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับเด็กและผู้สูงอายุ ต่อมาสำนักพระราชวังได้ออกมาประกาศว่าหลังจากปี พ.ศ. 2557 ทั้งสองพระองค์จะส่งต่อพระราชกรณียกิจแก่เจ้านายรุ่นใหม่ และกล่าวว่าเรื่องพระพลานามัยของทั้งสองพระองค์ไม่เกี่ยวข้องกับการตัดสินพระทัยนี้[17]

อนึ่ง ในปี พ.ศ. 2533 พระองค์ได้ถูกบรรจุไว้ในหอเกียรติยศ ในรายชื่อเครื่องแต่งกายนานาชาติที่ดีที่สุด[19][20]

ใกล้เคียง

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

แหล่งที่มา

WikiPedia: สมเด็จพระจักรพรรดินีมิจิโกะ http://www.smh.com.au/news/World/Japan-Empress-Mic... http://www.cbsnews.com/stories/2000/06/16/world/ma... http://www.iht.com/articles/2004/10/20/features/pe... http://markdevlin.com/the-mishima-incident/the-mis... http://www.mutantfrog.com/2006/02/12/%E4%B8%89%E5%... http://www.time.com/time/magazine/article/0,9171,8... http://www.vanityfair.com/culture/bestdressed/best... http://www.osaka-u.ac.jp/eng/about/history.html http://search.japantimes.co.jp/cgi-bin/nn20090409f... http://www.kunaicho.go.jp/e-about/activity/activit...