พระประวัติ ของ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า_กรมพระปรมานุชิตชิโนรส

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 28 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ประสูติกาลแต่เจ้าจอมมารดาจุ้ย (ต่อมาได้เลื่อนยศเป็นท้าวทรงกันดาล) เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2333 มีพระนามว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าวาสุกรี ผนวชเป็นสามเณรเมื่อพระชันษาได้ 12 ปี เมื่อปี พ.ศ. 2345 ผนวชเป็นพระภิกษุ แล้วเสด็จไปประทับ ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ทรงศึกษาหนังสือไทยและภาษาบาลีตลอดทั้งวิชาอื่น ๆ จากสมเด็จพระพนรัตน์ จนมีพระปรีชาสามารถ ทั้งทางคดีโลก และคดีธรรม มีผลงานอันเป็นพระราชนิพนธ์เรื่องต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงให้รวมวัดในแขวงกรุงเทพมหานคร ขึ้นเป็นคณะหนึ่งเรียกว่า คณะกลาง แล้วได้สถาปนากรมหมื่นนุชิตชิโนรสให้ดำรงสมณศักดิ์เสมอพระราชาคณะเจ้าคณะรอง และทรงตั้งเป็นเจ้าคณะกลาง

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นนุชิตชิโนรส ขึ้นเป็น สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ศรีสุคตขัตติยวงศบรมพงศาธิบดี จักรีบรมนารถ ปฐมพันธุมหาราชวรังกูร ปรเมนทรเรนทรสูริย์สัมมานาภิสักกาโรดมสถาร อริยสมศีลาจารพิเศษมหาวิมล มงคลธรรมเจดีย์ ยุตมุตวาทีสุวิรมนุญ อดุลยคุณคณาธาร มโหฬารเมตยาภิธยาศรัย ไตรปิฎกกลาโกสล เบญจปดลเศวตฉัตร สิริรัตโนปลักษณมหาสมณุตมาภิเศกาภิสิต ปรมุกกฤษฐสมณศักดิธำรง มหาสงฆปรินายก พุทธศาสนดิลกโลกุตตมมหาบัณฑิตย สุนทรวิจิตรปฏิภาณ ไวยัติญาณมหากระวี พุทธาทิศรีรัตนตรัยคุณารักษ เอกอรรคมหาอนาคาริยรัตน์ สยามาทิโลกปฏิพัทธพุทธบริษัทยเนตร สมณคณินทราธิเบศรสกลพุทธจักโรประการกิจ สฤษดิศุภการ มหาปาโมกษประธานวโรดม บรมนารถบพิตร[2] (ต่อมาในรัชกาลที่ 6 จึงโปรดให้เปลี่ยนเป็นกรมพระตามยศเจ้ากรม[3]) ทรงสมณศักดิ์เป็นพระมหาสังฆปริณายก ทั่วพระราชอาณาเขต ให้จัดตั้ง พระราชพิธีมหาสมณุตมาภิเษก ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามมีทั้งพิธีสงฆ์ และพิธีพราหมณ์ คล้ายกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกของคณะสงฆ์ไทย

เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์แล้ว ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชก็ว่างตลอดรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อาจจะเนื่องจากไม่มีพระเถระรูปใดมีคุณสมบัติอยู่ในฐานะที่จะทรงสถาปนาตามหลักเกณฑ์ กล่าวคือ ตามพระราชประเพณีนิยมที่มีมาแต่โบราณ พระเถระที่จะทรงตั้งเป็น สมเด็จพระสังฆราช และสมเด็จพระราชาคณะ นั้น ก็เฉพาะผู้ทรงคุณสมบัติพิเศษ คือเป็นพระอุปัชฌาย์ เป็นอาจารย์เป็นที่ทรงนับถือเหมือนอย่างพระอุปัชฌาย์ หรือพระอาจารย์ หรือเป็นผู้ใหญ่ ผู้เฒ่า มีอายุแก่กว่าพระชนมพรรษา

แม้ว่าจะว่างสมเด็จพระสังฆราช แต่การปกครองคณะสงฆ์ก็สามารถดำเนินไปได้ด้วยดี เนื่องจากแต่โบราณมา พระมหากษัตริย์ทรงถือเป็นพระราชภาระในการปกครองดูแลคณะสงฆ์ โดยมีเจ้านาย หรือขุนนางผู้ใหญ่ในตำแหน่ง เจ้ากรมสังฆการี เป็นผู้กำกับดูแลแทนพระองค์ สมเด็จพระสังฆราชมิได้ทรงบัญชาการคณะสงฆ์โดยตรง ทรงดำรงฐานะปูชนียบุคคล การปกครองในลักษณะนี้ ได้มาเปลี่ยนแปลงไปในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ภายหลังพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริว่า การเรียกพระนามพระบรมราชวงศ์ซึ่งดำรงสมณศักดิ์เป็นพระประมุขแห่งสังฆมณฑลแต่เดิมนั้นเรียกตามพระอิสริยยศแห่งพระบรมราชวงศ์ ไม่ได้เรียกตามสมณศักดิ์ของพระประมุขแห่งสังฆมณฑล คือ "สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ" หรือที่เรียกอย่างย่อว่า "สมเด็จพระสังฆราช" พระองค์จึงเปลี่ยนคำนำพระนามของพระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งดำรงสมณศักดิ์เป็นพระประมุขแห่งสังฆมณฑลว่า "สมเด็จพระมหาสมณเจ้า" เพื่อให้ปรากฏพระนามในส่วนสมณศักดิ์ด้วย ดังนั้น จึงเปลี่ยนคำนำพระนามเป็น "สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส"[4]

ใกล้เคียง

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก