ประวัติ ของ สมเด็จพระมหาสุเมธาธิบดี_(ชวน_ณาต_โชตญาโณ)

หนังสือพจนานุกรมเขมร ที่นิพนธ์โดยสมเด็จพระมหาสุเมธาธิบดี ชวน ณาต โชตญาโณ เป็นหนังสือที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางและจัดพิมพ์เป็นจำนวนหลายครั้ง

สมเด็จพระมหาสุเมธาธิบดี (ชวน ณาต โชตญาโณ) ประสูติเมื่อวันขึ้น 11 ค่ำ เดือนผัคคุณะ (เดือน 4) ปีวอก พ.ศ. 2427 ตรงกับวันที่ 11 มีนาคม ค.ศ. 1883 ตามปฏิทินสากล ณ หมู่บ้านกอมเรียง ตำบลระกาเกาะ อำเภอคงพิสี จังหวัดกำปงสปือ สมเด็จพระมหาสุเมธาธิบดีประสูติในตระกูลเกษตรกร พระชนนีชื่อว่า นางชวน ยก พระชนกชื่อว่า ชวน พรหม เมื่อมีพระชันษา 12 ปี พระบิดาได้นำไปฝากฝังเรียนวิชาอักษรเขมรในสำนักเรียนของท่านพระอาจารย์แก มน พระกรรมวาจาจารย์เบื้องขวา ณ วัดโพธิพฤกษ์ (เรียกกันทั่วไปว่า วัดโพธิ์ลอย) ตำบลระลังแกน อำเภอกันดาลสตึง จังหวัดกันดาล ต่อมาเมื่อมีพระชันษา 14 ปี จึงได้ผนวชเป็นสามเณร ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนวิสาขะ (เดือน 6) ปีจอ พ.ศ. 2441 (ค.ศ. 1897) อยู่ศึกษาในวัดโพธิพฤกษ์ เป็นเวลา 2 ปี จนสำเร็จการศึกษา จึงได้กราบลาพระครูจากสำนักเรียนวัดโพธิพฤกษ์ไปศึกษาพระปริยัติธรรม ณ วัดอุณาโลม ที่กรุงพนมเปญ ในสำนักเรียนท่านพระพุทธครู (เทพ โส) ในกุฎิปกครองชั้นต้น เมื่อปี พ.ศ. 2443 (ค.ศ. 1899)

เมื่อพระชันษา 21 ปี จึงผนวชเป็นพระ ณ วัดโพธิพฤกษ์ ซึ่งเป็นวัดที่เคยเรียนพระสูตรในช่วงแรก โดยมีพระพุทธโฆษาจารย์ (มา เกต สุวณฺณปฺปญฺโญ) (ព្រះពុទ្ធឃោសាចារ្យ ម៉ា កេត សុវណ្ណប្បញ្ញោ) เป็นพระอุปัชฌาย์ มีพระแก มน มิสฺสนาโค (កែ ម៉ន មិស្សនាគោ) เป็นพระกรรมวาจารย์เบื้องขวา มีพระเอิม เคิม ติกฺขปฺปญฺโญ (អ៊ឹម ខឹម តិក្ខប្បញ្ញោ) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ผนวชเมื่อวันขึ้น 14 ค่ำ เดือนเชฏฐะ (เดือน 7) ปีมะโรง พ.ศ. 2448 (ค.ศ. 1904) ได้รับฉายาเป็นภาษาบาลีว่า "โชตญาโณ" (ជោតញ្ញាណោ) เมื่อผนวชแล้ว จึงเสด็จกลับมาประทับยังวัดอุณาโลม มาศึกษาคันถธุระต่อ ต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดอุณาโลม กรุงพนมเปญ ในปี พ.ศ. 2488 (ค.ศ. 1944) และได้รับพระราชทานพระสมณศักดิ์ตามลำดับชั้นเรื่อยมา จนถึงปี พ.ศ. 2494 (ค.ศ. 1950) จึงได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์จากพระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดมสุรามฤตให้เป็น "สมเด็จพระมหาสุเมธาธิบดี สังฆนายกแห่งคณะมหานิกาย" อันเป็นตำแหน่งประมุขสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย

สมเด็จพระมหาสุเมธาธิบดี (ชวน ณาต โชตญาโณ) มีพระอาการประชวรในวันที่ 23 กันยายน ค.ศ. 1969 สมเด็จพระนโรดม สีหนุ สมเด็จพระประมุขรัฐในขณะนั้น ได้มีพระราชบัญชาให้ทางรัฐบาลจัดหาแพทย์กัมพูชาและแพทย์ฝรั่งเศสที่เชี่ยวชาญมาช่วยกันถวายการรักษาพระองค์ แต่ก็สิ้นพระชนม์อย่างสงบเมื่อวันที่ 25 กันยายน ค.ศ. 1969 ตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น 14 ค่ำ เดือนภัทรบท (เดือน 10) ปีระกา จ.ศ. 1330 พ.ศ. 2512 ด้วยพระโรคชรา สิริพระชันษา 86 ปี 65 พรรษา

สมณศักดิ์

  • พ.ศ. 2454/ค.ศ. 1910 พระปลัดศากยบุตร ฐานานุกรมของพระศากยวงศ์ (นุต) วัดอุณาโลม
  • พ.ศ. 2456/ค.ศ. 1912 พระครูสังฆสัตถา ฐานานุกรมในสมเด็จพระสังฆราช (เตียง) วัดอุณาโลม
  • พ.ศ. 2475/ค.ศ. 1931 พระศาสนโสภณ พระราชาคณะชั้นสามัญ (រាជាគណៈ​កិត្តិយស)
  • พ.ศ. 2484/ค.ศ. 1944 พระราชโพธิวงศ์ พระราชาคณะชั้นราช (រាជាគណៈ​ថ្នាក់​ទី ​២)
  • พ.ศ. 2488/ค.ศ. 1944 พระเทพโพธิวงศ์ พระราชาคณะชั้นเทพ (រាជា​គណៈ​ថ្នាក់​ទី​ ១)
  • พ.ศ. 2492/ค.ศ. 1948 พระมหาสุเมธาธิบดี (ព្រះមហាសុមេធាធិបតី) พระราชาคณะชั้นพรหม สงฆนายกคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย
  • พ.ศ. 2494/ค.ศ. 1950 สมเด็จพระมหาสุเมธาธิบดี (សម្ដេច​ព្រះ​មហា​សុមេធាធិបតី) สังฆนายกคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย

ใกล้เคียง

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก