พระราชประวัติ ของ สมเด็จพระวรราชินี_(แป้น)

สมเด็จพระวรราชินีบรมบพิตร ประสูติเมื่อปีกุน สัปตศก[1] มีพระนามเดิมว่า แป้น เป็นธิดาคนหนึ่งของพระยาสุภาธิบดี (โตจ)[2][3] มีพระเชษฐารับราชการในราชสำนักกัมพูชา เป็นมหาดเล็กชื่อเหม[2] อีกคนเป็นออกญาราชเดชะ (เอก)[4] บางแหล่งข้อมูลระบุว่าครอบครัวของพระองค์เป็นชาวสยาม[5] พระยาสุภาธิบดีถวายบุตรสาวแก่สมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี หรือนักองค์ด้วง ช่วงสยามทำสงครามกับญวนที่เมืองพนมเปญเมื่อ พ.ศ. 2376[2] เบื้องต้นทรงเข้ารับราชการเป็นบาทบริจาริกาในตำแหน่งพระสนมชั้นแม่นาง[3] ตามเสด็จนักองค์ด้วงเมื่อครั้งประทับอยู่วังเจ้าเขมรในกรุงเทพมหานคร[6] ประสูติการพระราชโอรส-ธิดาสามพระองค์ คือ

  1. พระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร (พ.ศ. 2377–2447) พระนามเดิม นักองค์จรอเลิ้ง หรือราชาวดี[7] ต่อมาเสวยราชสมบัติกรุงกัมพูชาสืบพระราชบิดา[8]
  2. พระองค์เจ้าจงกลนี (พ.ศ. 2382–2445) ต่อมาเป็นพระชายาในพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ พระเชษฐาต่างมารดา[9]
  3. พระองค์เจ้าเกสร (พ.ศ. 2383–2452)

หลังสมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดีขึ้นเสวยราชสมบัติกรุงกัมพูชาแล้ว ทรงตั้งพระนามแก่เจ้านายฝ่ายในและบรรดาศักดิ์บาทบริจาริกาในราชสำนักทั้งหมด ทรงพระกรุณาพระราชทานพระนามแก่นักนางแป้น เป็น พระปิโยพระบรมท้าวธิดา ในตำแหน่งพระเทพี คู่กับนักนางเภา ที่ทรงพระกรุณาพระราชทานพระนามว่า พระปิโยพระบรมอัจฉราอับศร[10]

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร พระโอรสขึ้นเสวยราชสมบัติต่อจากพระสวามี ก็สถาปนาพระนามพระวรราชมารดาขึ้นเป็น พระปิโยพระบรมชาติกระษัตรี ต่อมาเมื่อพระองค์เจ้าวัตถาและพระองค์เจ้าศิริวงษ์ทรงก่อการกบฏช่วง พ.ศ. 2404 พระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตารเกรงว่าทัพของข้าศึกจะตีอุดงฦๅไชยแตก จึงทรงนำพระปิโยพระบรมชาติกระษัตรี และบาทบริจาริกาที่เป็นหญิงทั้งหมดลงเรือหนีไปเมืองพระตะบอง เหลือแต่สมเด็จพระหริราชรัตไนไกรแก้วฟ้า (พระองค์เจ้าศรีสวัสดิ) กับสมเด็จพระวรราชินี (รศ) และสมเด็จพระราชธิดาอีกสองพระองค์ ยังคงประทับอยู่ในพระราชวังอุดงฦๅไชยเพื่อเฝ้าพระบรมศพสมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี[11]

พ.ศ. 2408 พระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตารโปรดให้จัดพระราชพิธีอภิเษกพระหิรัญบัตรสมเด็จพระมาตุจฉาและสมเด็จพระมารดาในพระองค์ โดยเฉพาะสมเด็จพระราชมารดานั้น เฉลิมพระนามว่า สมเด็จพระวรราชินี กัมพูชาธิบดี ราชมารดา ศิริสุนทร ธรรมจาริยา เมตตาสัตตะละหฤไทย อโนปมัยบุญญการกุศล มงคลรัตนขัติยประสิทธิ พิพิธมไหสุรสมเหศวร สุชาตชาตา มหากระษัตรีอุดมบพิตร สัมฤทธิทีฆายุวัณณะสุขะพละ[12]

สมเด็จพระวรราชินีบรมบพิตรสวรรคตเมื่อ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2438 สิริพระชนมายุ 81 พรรษา[1] พระอัฐิถูกบรรจุภายในพระเจดีย์สมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี เขาพระราชทรัพย์ อำเภอพญาฦๅ จังหวัดกันดาล เคียงข้างพระสวามี และสมเด็จพระวรราชินี (เภา)[13]

ใกล้เคียง

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก