พระประวัติ ของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ_เจ้าฟ้าศิราภรณ์โสภณ_พิมลรัตนวดี

พระชนม์ชีพช่วงต้น

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิราภรณ์โสภณ พิมลรัตนวดีเป็นพระราชธิดาลำดับที่ 57 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า[1] เมื่อเวลา 03.54 น.[2] ของวันพฤหัสบดีที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2431[3] ชาววังออกนามว่า ทูลกระหม่อมฟ้าหญิงเล็ก[4] พระองค์เป็นพระราชบุตรร่วมพระชนกชนนีพระองค์ที่หก จากพี่น้องทั้งหมดแปดพระองค์คือ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร,[5] สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์,[6] สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าวิจิตรจิรประภา อดุลยาดิเรกรัตน ขัตติยราชกุมารี,[7] สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์,[8] สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร,[9] สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก[10] และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าหญิง (ไม่มีพระนาม)[11]

ใน จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในรัชกาลที่ 5 ได้บันทึกเรื่องราวของพระราชธิดาพระองค์นี้ว่า วันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2431 มีการสมโภชสมเด็จพระเจ้าลูกเธอประสูติใหม่สามวัน และมีการสมโภชเดือนเมื่อวันที่ 28 กันยายนปีเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระนามแก่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์นี้ว่าสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิราภรณ์โสภณพิมลรัตนวดี[12]

สิ้นพระชนม์

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิราภรณ์โสภณ พิมลรัตนวดีประชวรพระโรคตับเคลื่อน แม้จะมีแพทย์สมัยใหม่คอยถวายการรักษาแต่พระอาการหาได้ทุเลาลง กระทั่งเวลาราว 23.00 น. ของวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2441 พระองค์มีพระอาการทรุดหนัก แล้วสิ้นพระชนม์ช่วงย่ำรุ่งของวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2441 สิริพระชนมพรรษาได้ 9 ปี[1] โดยพระองค์สิ้นพระชนม์ต่อจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร พระเชษฐาร่วมพระชนกชนนีซึ่งสวรรคตเมื่อสามปีก่อน

หม่อมศรีพรหมา กฤดากร ณ อยุธยาได้บันทึกเหตุการณ์เกี่ยวกับการสิ้นพระชนม์ไว้ว่า "วันนั้นเป็นวันครึ้มฝนตลอดทั้งวัน ชาววังโจษกันว่าพระอาการหนักมาก อาจสิ้นใจในวันนี้และก็ได้สิ้นใจในบ่ายวันนั้นจริง ๆ เด็ก ๆ ที่ห้องหม่อมเจ้ามีความสนใจเป็นพิเศษ เห็นจะเป็นที่รู้สึกว่ารุ่นราวคราวเดียวกัน มีความรู้สึกเศร้าใจในข่าวนี้ตามกัน พอจวนใกล้ค่ำ ซึ่งกะว่าจะต้องเชิญพระศพออก เด็ก ๆ ก็ชวนกันไปคอยดูที่ตำหนักที่ประทับซึ่งเรียกว่าพระตำหนักเฉย ๆ [...] ขบวนเชิญพระโกศบ่ายหน้าไปทางออกคือประตูเทวาพิทักษ์ ว่าเอาไปไว้ที่หอ จะเป็นหอชื่อนิเพทพิทยาหรือหอธรรมสังเวช หอนี้แหละ พอพระโกศผ่าน เด็ก ๆ ออกจะเบ้ ๆ น้ำตาไหลปนกับน้ำฝน บางทีจะเป็นด้วยบรรยากาศ เพราะไหนจะเสียงคนร้องไห้บนพระตำหนักเซ็งแซ่ เสียงปี่ เสียงเปิงพรวดที่เป่าอย่างเศร้า เห็นเจ้านายผู้ชายซับน้ำพระเนตรด้วยผ้าซับพระพักตร์..."[13] และ "...ภายหลังทราบว่าสมเด็จพระชนนีกันแสงไม่ได้พระสติ และต่อจากนั้นมาก็ทรงระทมพระทัยทรุดโทรมมาก"[13] และหลังจากนั้นหนึ่งปี สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์ พระเชษฐาร่วมพระชนกชนนีก็สิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคบิดไปอีกพระองค์ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าที่ทรงพระประชวรอยู่แล้วตั้งแต่การสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิราภรณ์โสภณก็ยิ่งทรุดหนักลงไปอีก[14]

วันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2443 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิราภรณ์โสภณ พิมลรัตนวดี ณ พระเมรุท้องสนามหลวง[3] พร้อมกันและต่อเนื่องไปกับงานพระราชทานเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ณ พระเมรุมณฑป วัดบวรสถานสุทธาวาส[15]

ใกล้เคียง

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร สมเด็จพระนเรศวรมหาราช