พระราชประวัติ ของ สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง

สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เดิมเป็นขุนนางในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม มีบรรดาศักดิ์เป็นพระมหาอำมาตย์ และมีความชอบจากการปราบกบฏญี่ปุ่น จึงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ และได้รับพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคจำนวนมาก[2]

เมื่อสมเด็จพระเชษฐาธิราชสืบราชสมบัติต่อมาได้ 4 เดือน มารดาเจ้าพระยากลาโหมถึงแก่กรรม มีข้าราชการใหญ่น้อยไปช่วยงานมาก สมเด็จพระเชษฐาธิราชทรงเชื่อว่าเจ้าพระยากลาโหมเตรียมการจะก่อกบฏ จึงโปรดให้ตั้งกองทหารไว้ แล้วให้ขุนมหามนตรีไปเรียกเจ้าพระยากลาโหมมาดูมวย แต่เจ้าหมื่นสรรเพธภักดีส่งข่าวไปแจ้งแผนการก่อน เจ้าพระยากลาโหมจึงบอกขุนนางว่า "เจ้าแผ่นดินว่าเราเป็นกบฏแล้วเราจะทำตามรับสั่ง" แล้วยกกองกำลังเข้ายึดพระราชวังได้ ส่วนสมเด็จพระเชษฐาธิราชกับข้าหลวงเดิมลงเรือหนีไป[3] เจ้าพระยากลาโหมให้พระยาเดโชและพระยาท้ายน้ำออกติดตามในคืนนั้นจนตามจับได้ที่ป่าโมกน้อย แล้วให้นำไปสำเร็จโทษ[4]

จากนั้นจึงอัญเชิญพระอาทิตยวงศ์ขึ้นสืบราชสมบัติต่อ แต่ผ่านไปได้ประมาณ 6 เดือน เหล่ามุขมนตรีก็เห็นว่าสมเด็จพระอาทิตยวงศ์ยังทรงพระเยาว์เกินไป ไม่รู้จักว่าราชการจนเสียการแผ่นดิน[5] จึงถวายราชสมบัติแก่เจ้าพระยากลาโหมให้ขึ้นครองราชย์ทรงพระนามว่าพระเจ้าปราสาททอง[6] ส่วนในกฎหมายพระธรรมนูญ กรมศักดิ์ ลักษณะอาญาหลวง ออกพระนามว่าสมเด็จพระเอกาทศรถอิศวรบรมนาถบรมบพิตร[7] แล้วทรงปูนบำเหน็จมากมายแก่ขุนนางที่สวามิภักดิ์ และทรงตั้งพระอนุชาเป็นพระศรีสุธรรมราชา[8]

ถึงปี พ.ศ. 2199[9] สมเด็จพระเจ้าปราสาททองประชวรหนัก ทรงย้ายไปประทับที่พระที่นั่งเบญจรัตน์ ได้ตรัสมอบราชสมบัติและพระแสงขรรค์ชัยศรีแก่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าชัย หลังจากนั้น 3 วัน ก็เสด็จสวรรคต ครองราชย์ได้ 27 ปี[10]

ใกล้เคียง

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต