สยามในความหมายของชนชาติไทย ของ สยาม

ดูเพิ่มเติมที่: ไทยสยาม

ตามจดหมายเหตุลาลูแบร์ คนในประเทศไทยได้เรียกเผ่าพันธุ์ของตนเองว่า ไทย มาตั้งแต่สมัยอาณาจักรอยุธยา โดยได้บันทึกไว้ว่า

ชาวสยามเรียกตนว่า ไทย (Tàï) แปลว่า อิสระ อันเป็นความหมายตามศัพท์ในภาษาของพวกเขาอยู่ในปัจจุบัน [...] คำว่า สยาม กับ ไทย เป็นสองคำที่มีความแตกต่างกัน แต่หมายถึงพลเมืองของประเทศเดียวกัน[12]

ฌ็อง-บาติสต์ ปาลกัว บาทหลวงชาวฝรั่งเศสได้ระบุไว้ในงานเขียน "Description du Royaume Thai ou Siam" (1854) ว่า "...ประเทศที่ชาวยุโรปขนานนามว่า สยาม นั้น เรียกตนเองว่า เมืองไท (Muang - Thai) (ราชอาณาจักรแห่งอิสรชน) ชื่อเดิมนั้นคือ สยาม (แปลว่าชนชาติผิวสีน้ำตาล) ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ สยาม (Siam)..."[13]

D.G.E. Hall ได้เขียนใน "ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้" ว่า "สยาม ใช้เรียกคนป่าแถบแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งพบในระเบียงด้านใต้ของนครวัด... ภายหลังการก่อตั้งอยุธยา ดินแดนดังกล่าวได้ชื่อว่าสยาม ชาวยุโรปก็มักเรียกว่า นครแห่งสยาม" และระบุว่าพระเจ้าอู่ทองเป็นกษัตริย์พระองค์แรกของสยาม[14]

ส่วนกลุ่มเมืองสุโขทัย ก็พบว่ามีการเรียกว่า "สยามประเทศ" ในตำนานชินกาลมาลีปกรณ์ของอาณาจักรล้านนาด้วยเช่นกัน[15]

ราชอาณาจักรสยาม

ถึงแม้ว่าจะมีกล่าวถึง "สยาม" (ซึ่งอาจหมายความถึงคนไทยหรือไม่ใช่ก็เป็นได้) โดยผู้คนจากต่างแดนอย่างกว้างขวางดังที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้วก็ตาม แต่ทว่าในอดีตนั้น แนวคิดเรื่องรัฐชาติยังไม่ปรากฏชัดเจน ดังเช่นที่เกิดขึ้นในทวีปยุโรปตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การอ้างอิงถึงราชอาณาจักรของทางราชสำนักของไทยจึงยังคงอ้างอิงโดยใช้ชื่อเมืองหลวง ดังเช่นพระราชสาสน์ของสมเด็จพระเอกาทศรถที่มีไปถึงพระเจ้าดอน ฟิลิปแห่งโปรตุเกส ผ่านผู้สำเร็จราชการแห่งเมืองกัว ก็ได้มีการอ้างพระองค์ว่าเป็นผู้ปกครองแว่นแคว้นของ กรุงศรีอยุธยา เป็นต้น[ต้องการอ้างอิง] ส่วนชาวต่างชาติได้เรียกอาณาจักรอยุธยาว่า สยาม มาตั้งแต่ราว พ.ศ. 2000 เป็นต้นมา[7] ในรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเคยใช้ชื่อประเทศว่า "สยาม"[16] ด้านโกวิท วงศ์สุรวัฒน์ได้ระบุว่า นามสยามได้เริ่มใช้ในฐานะของประเทศสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โดยแปลว่าผิวคล้ำ[17]

ในหนังสือสัญญาที่ไทยทำกับต่างประเทศสมัยรัชกาลที่ 3 ไม่พบการใช้คำว่า "สยาม" เลย[18] เมื่อประเทศไทยต้องเผชิญหน้ากับจักรวรรดินิยมสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์จึงได้พยายามดัดแปลงให้ประเทศมีลักษณะสมัยใหม่ขึ้น เพื่อซึ่งประการหนึ่งในนั้นคือ การทำให้ประเทศไทยมีลักษณะเป็นรัฐชาติที่มีการรวมอำนาจปกครอง และเริ่มมีการใช้ชื่อ "ราชอาณาจักรสยาม" เป็นชื่อประเทศอย่างเป็นทางการ[2] โดยปรากฏใช้ชัดเจนครั้งแรกใน พ.ศ. 2399 แต่คนไทยส่วนมากไม่เห็นด้วยกับการใช้ชื่อดังกล่าว คงเรียกว่า "ไทย" ตามเดิม[18]

อย่างไรก็ดี เหรียญกษาปณ์แทนเงินในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พิมพ์ตัวหนังสือว่า "กรุงสยาม" และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พิมพ์ตัวหนังสือว่า "สยามรัฐ"

จากสยามเป็นไทย

ในสมัยรัฐบาลจอมพล แปลก พิบูลสงคราม ก้าวขึ้นสู่อำนาจ ปลุกแนวคิดชาตินิยมและการเชื่อฟังผู้นำอย่างมาก ซึ่งจากรายงานการศึกษาในยุคนั้นโดยนักศึกษาประวัติศาสตร์บางคน[ต้องการอ้างอิง] ได้มีการค้นพบคนไทยที่อยู่ในเวียดนามและจีนตอนใต้ นอกเหนือไปจากจากกลุ่มไทใหญ่ในพม่า ทำให้เกิดกระแสที่ต้องการรวบรวมชนเผ่าไทยเหล่านั้นเข้ามาสู่ประเทศ "ไทย" เพื่อสร้างความเข้มแข็ง ในที่สุดจึงได้มีการเปลี่ยนชื่อ ประเทศ ประชาชน และสัญชาติเป็น "ไทย" ตามประกาศรัฐนิยมฉบับที่ 1 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 ซึ่งได้รับการคัดค้านจากบางฝ่ายว่าจะเป็นการทำให้คนเชื้อชาติอื่น เช่น จีน มลายู ไม่รู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับประเทศ "ไทย" แต่ทว่าในที่สุดประกาศรัฐนิยมก็มีผลบังคับใช้ ทำให้ต้องเปลี่ยนชื่อประเทศเป็น ไทย ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งกลายเป็นสิ่งตกทอดไม่กี่อย่างจากประกาศดังกล่าวมาถึงปัจจุบัน เช่นเดียวกับคำว่า "สวัสดี" ทั้งนี้ คำประกาศดังกล่าวมีขึ้นหลังญี่ปุ่นยอมจำนนต่อสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เพียงไม่ถึง 1 เดือน ซึ่งชาญวิทย์ เกษตรศิริ มองว่าเป็น “สารที่ผู้นำไทยอีกฝ่ายหนึ่ง คือ ฝ่ายเสรีนิยมของ ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ ร่วมกับฝ่ายอนุรักษ์นิยม (เจ้านาย) ต้องการสื่อกับฝรั่งตะวันตกผู้พิชิตสงครามเสียมากกว่า” แต่เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม กลับมามีอำนาจอีกครั้งผ่านการรัฐประหาร ในปี 2490 ชื่อประเทศไทยในภาษาอังกฤษ ก็ถูกเปลี่ยนกลับไปใช้ว่า “Thailand” อีกครั้ง

เนื้อหาคำประกาศ

“ตามที่ได้มีการประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยรัฐนิยมใช้ชื่อประเทศ ประชาชน และสัญชาติ ลงวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๘๓ ซึ่งในภาษาอังกฤษให้ใช้ชื่อเรียกประเทศไทยว่า ‘Thailand’ ชื่อประชาชนและสัญชาติว่า ‘Thai’ นั้น

บัดนี้ รัฐบาลได้พิจารณาว่า โดยที่ชื่อของประเทศเราเป็นที่นิยมเรียกกันทางต่างประเทศว่า ’Siam’ จนเป็นที่รู้จักกันอย่างดีทั่วไปมาช้านานแล้ว ฉะนั้นจึงให้ชื่อประเทศในภาษาอังกฤษว่า ‘Siam’ กับชื่อประชาชนและสัญชาติให้ใช้ว่า ‘Siamese’ สำหรับในภาษาต่างประเทศอื่นให้ใช้โดยอนุโลม ส่วนชื่อในภาษาไทยให้คงใช้ว่า ‘ไทย’ ไปตามเดิม

ประกาศ ณ วันที่ ๗ กันยายน ๒๔๘๘

ทวี บุณยเกตุ (นายกรัฐมนตรี)”[19]