ประวัติ ของ สหพันธ์เอเชียนเกมส์

ช่วงริเริ่มก่อตั้ง

เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2490 (ค.ศ. 1947) ชวาหระลาล เนห์รู ผู้ซึ่งต่อมากลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของสาธารณรัฐอินเดีย เป็นประธานในการประชุมเอเชียสัมพันธ์ที่กรุงนิวเดลี ด้วยเล็งเห็นถึงโอกาสที่เป็นไปได้ ในการจัดแข่งขันกีฬาหลากประเภทในทวีปเอเชีย โดยการเชิญชวนให้ประเทศที่สนใจเข้าร่วม[1] ก่อนการประชุม กูรู ดัตท์ สนธิ สมาชิกคณะกรรมการโอลิมปิกสากลชาวอินเดีย สนับสนุนให้ ญาดาวินทร์ ซิงห์ มหาราชาแห่งปาเตียลา (Yadavindra Singh, Maharaja of Patiala) ซึ่งต่อมาเป็นประธานสมาคมโอลิมปิกแห่งอินเดีย (Indian Olympic Association) เป็นผู้ประสานงานจัดประชุมเพื่อก่อตั้งสหพันธ์กีฬาของเอเชีย[2] ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวไม่เป็นที่ยอมรับของผู้แทนบางกลุ่ม ทว่าอีกส่วนหนึ่งที่ให้การรับรองก็ปฏิเสธการพิจารณาต่อ[1]

ต่อมาในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน สมาคมโอลิมปิกแห่งอินเดีย ซึ่งแต่เดิมได้รับการสนับสนุนให้กำกับดูแลการแข่งขัน กลับตัดสินใจถอนตัวไปอย่างไม่ทราบสาเหตุ สนธิซึ่งเป็นประธานสหพันธ์กรีฑาสมัครเล่นแห่งอินเดีย (Amateur Athletic Federation of India; ปัจจุบันคือสหพันธ์กรีฑาของอินเดีย; Athletics Federation of India) จึงให้การรับรองแก่การแข่งขันกรีฑาชิงแชมป์เอเชีย (Asian Athletic Championships) ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2491 (ค.ศ. 1948) ซึ่งจัดเฉพาะกรีฑาประเภทลู่และลาน โดยสนธิเป็น Chairman และเชิญให้ญาดาวินทร์มาเป็น President ของการแข่งขันรายการนี้ จากนั้นราวต้นเดือนกรกฎาคม สหพันธ์กรีฑาสมัครเล่นแห่งอินเดีย ก็ส่งคำเชิญไปยังประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชีย แต่การตอบสนองไม่ค่อยดีนัก เพราะกำหนดการแข่งขันซ้อนทับกับกีฬาโอลิมปิกครั้งที่ 14 ซึ่งเริ่มต้นในวันที่ 29 กรกฎาคม ของปีเดียวกันนั้น[3]

การประชุมที่กรุงลอนดอน

ในวันที่ 8 สิงหาคม ระหว่างการแข่งขันที่สหราชอาณาจักร สนธิจัดประชุมที่โรงแรมเมานต์รอยัลในกรุงลอนดอน โดยเชิญคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติ ของทุกประเทศในเอเชียที่ร่วมการแข่งขันครั้งนั้น ซึ่งหมายถึง หัวหน้าคณะนักกีฬาทีมชาติ ของอัฟกานิสถาน พม่า ซีลอน (ปัจจุบันคือ ศรีลังกา) สาธารณรัฐประชาชนจีน อินเดีย อิหร่าน อิรัก เลบานอน ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และซีเรีย แต่มีเพียงผู้แทนจากพม่า ซีลอน จีน อินเดีย ฟิลิปปินส์ และเกาหลีใต้ เข้าร่วมเท่านั้น[3]

สนธิมีข้อเสนอสองทางคือ เดินหน้าจัดการแข่งขันกรีฑาชิงแชมป์เอเชีย ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 (ค.ศ. 1949) ที่กรุงนิวเดลีต่อไป หรือก่อตั้งสหพันธ์กีฬาตามรูปแบบของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล โดยจอร์จ บาร์โตโลเม วาร์กัส ผู้ก่อตั้งสหพันธ์กีฬาสมัครเล่นแห่งฟิลิปปินส์ (Philippine Amateur Athletic Federation; ปัจจุบันคือคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งฟิลิปปินส์; Philippine Olympic Committee) และสมาชิกคณะกรรมการโอลิมปิกสากลชาวฟิลิปปินส์คนแรก ให้การสนับสนุนอย่างแข็งขันแก่ข้อเสนอหลัง ซึ่งผู้ร่วมประชุมแปรญัตติให้การรับรองข้อเสนอแรก เพื่อส่งเสริมการพัฒนาสมาพันธ์ต่อไป โดยข้อตกลงดังกล่าวนำไปสู่การประชุม ระหว่างการแข่งขันกรีฑาชิงแชมป์เอเชีย และมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจาก 4 ประเทศ เพื่อร่างธรรมนูญและข้อบังคับของสมาพันธ์[4][1]

การประชุมที่กรุงนิวเดลี

ในที่สุด การแข่งขันกรีฑาชิงแชมป์เอเชียก็มิได้เกิดขึ้น เนื่องจากสภาวะที่ไม่แน่นอน และอุปสรรคทางเศรษฐกิจของประเทศที่ร่วมแข่งขัน แต่การประชุมยังจัดขึ้นที่พระราชวังในมหาราชาแห่งปาเตียลา (ปัจจุบันเป็นศาลปาเตียลา (Patiala House Courts Complex) หนึ่งในห้าศาลแขวงของมหานครเดลี) ชานกรุงนิวเดลี โดยมีผู้แทนจาก 9 ชาติในทวีปเอเชีย ประกอบด้วย อัฟกานิสถาน พม่า ซีลอน อินเดีย อินโดนีเซีย เนปาล ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ และไทย เมื่อวันที่ 12 และ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 คณะอนุกรรมการเสนอร่างธรรมนูญสหพันธ์ ซึ่งมีการพิจารณาปรับปรุงใหม่อีกครั้ง โดยอ้างอิงกับกฎบัตรโอลิมปิก ที่เป็นธรรมนูญของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล แล้วจึงให้การรับรอง[3]

หลังจากนั้น คณะอนุกรรมการเสนอขอแก้ไขชื่อสหพันธ์ จากเดิมคือสหพันธ์กีฬาสมัครเล่นแห่งเอเชีย (Asian Amateur Athletic Federation) เป็นสหพันธ์เอเชียนเกมส์ เพื่อหลีกเลี่ยงความเข้าใจคลาดเคลื่อนจากความหมายจริง ที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้คำว่า “Athletic” ซึ่งแปลได้ทั้ง “กีฬา” และ “กรีฑา” โดยอัฟกานิสถาน พม่า อินเดีย ปากีสถาน และฟิลิปปินส์ ถือเป็น 5 ชาติสมาชิกก่อตั้งสหพันธ์เอเชียนเกมส์ หลังจากลงนามในธรรมนูญสหพันธ์ฉบับสมบูรณ์ ซึ่งผู้แทนของอีก 4 ประเทศก็ร่วมลงนามเช่นกัน แต่ยังจำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐบาล หรือสมาคมกีฬาแห่งชาติเหล่านั้นเสียก่อน โอกาสเดียวกันนั้น สหพันธ์จัดการเลือกตั้งผู้บริหารชุดแรก โดยมีมหาราชาธิราช ญาดาวินทร์ ซิงห์ เป็นประธาน จอร์จ บาร์โตโลเม วาร์กัส เป็นรองประธาน และกูรู ดัตท์ สนธิ เป็นเลขาธิการกับเหรัญญิก[3]

วิกฤตการณ์และภาวะเปลี่ยนแปลง

ดูบทความหลักที่: เอเชียนเกมส์

ในยุคต่อมาเริ่มเกิดปัญหาขึ้น ตั้งแต่การแข่งขันครั้งที่ 4 เมื่อปี พ.ศ. 2505 (ค.ศ. 1962) เนื่องจากอินโดนีเซียซึ่งเป็นเจ้าภาพ ไม่ยินยอมให้สาธารณรัฐประชาชนจีนและอิสราเอลเข้าร่วมการแข่งขัน โดยอ้างปัญหาทางการเมืองและศาสนา เป็นผลให้คณะกรรมการโอลิมปิกสากล ประกาศงดสนับสนุนการแข่งขัน พร้อมทั้งปลดอินโดนีเซียพ้นจากสมาชิกภาพของโอลิมปิกสากล[5] ทั้งนี้ สมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย (The Asian Football Confederation; AFC)[6] สหพันธ์สมาคมกรีฑานานาชาติ (International Association of Athletics Federations; IAAF) และ สหพันธ์ยกน้ำหนักนานาชาติ (International Weightlifting Federation) (IWF) ยังเพิกถอนไม่รับรองการแข่งขันประเภทนั้นด้วย[7][8]

จากนั้นในปี พ.ศ. 2513 (ค.ศ. 1970) ญี่ปุ่นขอเป็นเจ้าภาพ ทว่าปฏิเสธในภายหลัง เนื่องจากนครโอซากาได้รับเลือกให้จัดงานแสดงสินค้าโลก (เอ็กซ์โป) ในปีเดียวกันนั้น[9] เกาหลีใต้ระงับแผนการเป็นเจ้าภาพจัดแข่งขัน เนื่องจากวิกฤตทางความมั่นคงของชาติ แต่เหตุผลที่แท้จริงเกิดจากวิกฤตทางการเงิน จึงกดดันให้ไทยซึ่งจัดการแข่งขันครั้งที่ 5 เมื่อปี พ.ศ. 2509 (ค.ศ. 1966) ไปแล้ว รับเป็นเจ้าภาพครั้งถัดมาที่กรุงเทพฯอีกครั้ง โดยใช้งบที่เกาหลีใต้โอนมา[10] อนึ่ง การแข่งขันครั้งนี้ ยังมีการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ไปทั่วโลกเป็นครั้งแรกด้วย[11] โดยในการแข่งขันครั้งที่ 7 เมื่อปี พ.ศ. 2517 (ค.ศ. 1974) ที่กรุงเตหะรานของอิหร่าน ยอมรับให้สาธารณรัฐประชาชนจีน ไต้หวันในนามจีนไทเป (แม้ที่ประชุมสหพันธ์เอเชียนเกมส์เมื่อปีที่แล้ว จะมีมติยกเลิกสถานะการเข้าแข่งขันก็ตาม) เกาหลีเหนือ มองโกเลีย อิสราเอล (แม้มีการต่อต้านจากโลกอาหรับ)[12]

ในปีถัดมา ปากีสถานขอยกเลิกการเป็นเจ้าภาพครั้งที่ 8 ในปี พ.ศ. 2521 (ค.ศ. 1978) เนื่องจากเกิดวิกฤตทางการเมืองและการเงิน[13] ซึ่งประเทศไทยเข้าให้ความช่วยเหลือ และจัดการแข่งขันที่กรุงเทพฯ เป็นครั้งที่สาม แต่สหพันธ์เอเชียนเกมส์ ออกมติไม่ยินยอมให้ จีนไทเปและอิสราเอล เข้าร่วมแข่งขัน อันมีสาเหตุมาจากปัญหาการเมืองภายในของทั้งสองชาติ ทำให้เกิดความกังวลต่อการรักษาความปลอดภัย[14] เป็นเหตุให้องค์กรกีฬาระดับนานาชาติหลายแห่ง ออกมาทักท้วงต่อต้าน โดยเฉพาะสหพันธ์สมาคมกรีฑานานาชาติ (International Association of Athletics Federations; IAAF) ถึงกับประกาศขู่ว่า หากนักกรีฑาของชาติใด เข้าร่วมแข่งขันเอเชียนเกมส์คราวนี้ สหพันธ์ฯจะกีดกันไม่ให้เข้าแข่งขัน ในกีฬาโอลิมปิกครั้งที่ 22 ประจำปี พ.ศ. 2523 (ค.ศ. 1980)[15] ซึ่งส่งผลกระทบให้นักกีฬาหลายชาติ ขอถอนตัวจากการแข่งขันครั้งนี้[16]

จากวิกฤตการณ์ดังกล่าว คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติในทวีปเอเชีย ตัดสินใจเปิดการประชุมร่วมกันในวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2524 (ค.ศ. 1981) โดยไม่มีการแจ้งให้ทางอิสราเอลเข้าร่วมด้วย เพื่อยกร่างแก้ไขธรรมนูญสหพันธ์เอเชียนเกมส์ มีสาระสำคัญคือ การจัดตั้งสมาคมบริหารจัดการกีฬาเอเชียนเกมส์ขึ้นใหม่ เรียกว่า สภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย[17] ซึ่งมีสมาชิกชุดก่อตั้ง เป็นคณะกรรมการโอลิมปิกของ 34 ชาติในเอเชีย และก่อตั้งอย่างเป็นทางการ ระหว่างการประชุมครั้งแรก ของสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2525 (ค.ศ. 1982) ที่กรุงนิวเดลี[18] ก่อนการแข่งขันครั้งที่ 9 ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองหลวงของอินเดียตามกำหนดเดิม โดยไม่มีการยกเลิกกำหนดการต่างๆ ซึ่งสหพันธ์เอเชียนเกมส์จัดทำไว้แล้ว จากนั้นสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย จึงเริ่มรับหน้าที่กำกับดูแลเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 10 ซึ่งโซลของเกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพ เมื่อปี พ.ศ. 2529 (ค.ศ. 1986) เป็นครั้งแรก[19] มาจนถึงปัจจุบัน

ใกล้เคียง

สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ สหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตรัสเซีย สหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยทรานส์คอเคเซีย สหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวีย สหพันธ์วอลเลย์บอลระหว่างประเทศ สหพันธ์ฟุตบอลอาเซียน สหพันธ์สมาคมนักประดิษฐ์นานาชาติ สหพันธรัฐ สหพันธ์ประวัติศาสตร์และสถิติฟุตบอลนานาชาติ สหพันธ์เอเชียนเกมส์

แหล่งที่มา

WikiPedia: สหพันธ์เอเชียนเกมส์ http://data.sports.163.com/match/history/0005000BB... http://data.sports.163.com/match/history/0005000BB... http://data.sports.163.com/match/history/0005000BB... http://data.sports.163.com/match/history/0005000BB... http://news.google.com/newspapers?id=Rr4yAAAAIBAJ&... http://news.google.com/newspapers?id=WwMuAAAAIBAJ&... http://news.google.com/newspapers?id=al8RAAAAIBAJ&... http://news.google.com/newspapers?id=kMESAAAAIBAJ&... http://news.google.com/newspapers?id=kP0NAAAAIBAJ&... http://news.google.com/newspapers?id=q3cjAAAAIBAJ&...