ประวัติ ของ สหรัฐไทยเดิม

ความเดิม

ในการรับรู้ของรัฐบาลไทยสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม สหรัฐไทยเดิมหรือแคว้นสหรัฐไทยใหญ่คือดินแดนที่มีชนชาติไทอาศัยอยู่ และในอดีตอาณาจักรล้านนาเคยแผ่อิทธิพลไปครอบครอง[5] ก่อนหน้านี้ช่วงต้นรัตนโกสินทร์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยพยายามขยายอำนาจเข้าเมืองเชียงตุงถึงสามครั้งแต่ไม่ประสบความสำเร็จ[5] ก่อนที่เชียงตุงจะตกเป็นของพม่า และเป็นส่วนหนึ่งของอังกฤษตั้งแต่ พ.ศ. 2433

การเข้ายึดและรวมเข้าราชอาณาจักร

กระทั่งสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นขอให้รัฐบาลไทยสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ยกกำลังทหารขึ้นไปยึดดินแดนส่วนนี้จากทหารจีนก๊กมินตั๋ง ของจอมพลเจียงไคเช็กและกองทัพอังกฤษ เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485

วันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2486 กองบัญชาการทหารสูงสุดได้เปลี่ยนชื่อ "แคว้นสหรัฐไทยใหญ่" เป็น "สหรัฐไทยเดิม" อย่างเป็นทางการ[6] และวันที่ 18 พฤษภาคมจึงได้ประกาศยกเลิกกำหนดในทางอรรถคดีที่กองทัพทำสงครามทั่วราชอาณาจักรยกเว้นจังหวัดเชียงรายและสหรัฐไทยเดิม[7] วันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2486 พลเอกฮิเดกิ โทโจ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้มาพบจอมพล ป. พิบูลสงคราม เพื่อมอบพื้นที่จำนวน 12 เมือง ไทยจึงผนวกดินแดนแคว้นสหรัฐไทยใหญ่และรัฐเมืองพาน (เมืองปั่น) เป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย[5][8][9] ทั้งนี้ได้ประกาศจัดตั้งเป็นอำเภอ 12 อำเภอ เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2486 มีการสถาปนาเจ้าฟ้าสิริสุวรรณราช ยสสรพรหมลือ เป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงตุง และจัดการปกครองสหรัฐไทยเดิมเสมือนจังหวัดหนึ่ง[4]

ไทยได้มีการทำสนธิสัญญากับญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2486 หลังการประกาศมอบดินแดนทั้งหมดให้แก่ประเทศไทยเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2486 ราชกิจจานุเบกษาระบุว่า "ฉะนั้น กลันตัน ตรังกานู ไซบุรี ปะลิส และบันดาเกาะที่ขึ้นหยู่ กับทั้งเชียงตุงและเมืองพาน จึงเปนอันรวมเข้าไนราชอานาจักรไทยตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคม พุทธสักราช 2486 เปนต้นไป"[10]

สิ้นสุดการครอบครองของไทย

ทว่าหลังสิ้นสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นแพ้สงคราม ไทยจำต้องส่งมอบรัฐเชียงตุง รัฐกะยาและรัฐเมืองพาน ให้กับกองพลอินเดียที่ 7 เมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2488 รัฐบาลไทยสมัยควง อภัยวงศ์ ได้คืนดินแดนส่วนนี้ให้กับสหประชาชาติ และวันเดียวกันนั้นได้มีการประกาศจากกรมบัญชาการทัพใหญ่ ว่ามีการเปลี่ยนชื่อ "สหรัฐไทยเดิม" เปลี่ยนกลับเป็น "แคว้นสหรัฐไทยใหญ่" ตามเดิม โดยให้เหตุผลว่าประกาศเก่านั้นไร้ผลและยกเลิกเสีย[3] จนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2489 ไทยได้ตกลงทำสัญญาที่เรียกว่า สัญญาความตกลงสมบูรณ์แบบเพื่อเลิกสถานะสงคราม ระหว่างไทยกับสัมพันธมิตร ประกอบด้วยสัญญา 24 ข้อ[11] เป็นอันสิ้นสุดการครอบครองดินแดนสหรัฐไทยเดิม เจ้าฟ้าสิริสุวรรณราช ยสสรพรหมลือ และครอบครัวได้ติดตามกองทัพไทยเข้ามาพำนักในเชียงใหม่ จนกระทั่งพิราลัยในปี พ.ศ. 2498[12] ซึ่งหลังจากนี้อังกฤษได้เข้ามามีบทบาทในการผนวกดินแดนนี้เข้ากับประเทศพม่าในเวลาต่อมา

ใกล้เคียง

สหรัฐ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหรัฐต์ หิรัญญ์ธนภูวดล สหรัฐไทยเดิม สหรัฐในโอลิมปิกฤดูร้อน 2020 สหรัฐในโอลิมปิกเยาวชนฤดูหนาว 2020 สหรัฐในโอลิมปิกฤดูร้อน 2016 สหรัฐในโอลิมปิกฤดูร้อน 2012 สหรัฐในโอลิมปิก สหรัฐในโอลิมปิกฤดูร้อน 1904

แหล่งที่มา

WikiPedia: สหรัฐไทยเดิม http://www.mettadham.ca/thaiandasiaburapawar2.htm http://www.lannaworld.com/cgi/lannaboard/reply_top... http://iseehistory.socita.com/index.php?lay=show&a... http://www1.tv5.co.th/service/mod/heritage/nation/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2486/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2486/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2486/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2486/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2487/D/... https://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%...