ลักษณะ ของ สัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้า

โกลด์ฟิวเจอร์ส หรือ สัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้า จึงเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ลงทุนในตลาดทุน ในการทำกำไรและกระจายความเสี่ยงของกลุ่มหลักทรัพย์ลงทุน และผู้ลงทุนที่เดิมเคยลงทุนในการเก็งกำไรในราคาทองคำในระบบตลาดปกติ ซึ่งจะต้องใช้เงินจำนวนมากในการซื้อ หรือลงทุนเมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนในสัญญาประเภทนี้ โดยผู้ลงทุนสามารถซื้อขายโกลด์ฟิวเจอร์สได้ง่าย สะดวก ผ่านระบบซื้อขายของตลาดอนุพันธ์ (TFEX ) โดยมีบริษัท สำนักหักบัญชี (ประเทศไทย) จำกัด (TCH) เป็นผู้ประกันการชำระราคาจากการซื้อขาย และมีสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นผู้กำกับดูแลการดำเนินงานของ ตลาดอนุพันธ์

สัญญาฟิวเจอร์สทองคำ นั้นได้เริ่มมีการซื้อขายกันวันแรกในตลาดอนุพันธ์ของประเทศไทยในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2552 โดยในช่วงแรกนี้ การลงทุนในโกลด์ฟิวเจอร์ส หรือ สัญญาฟิวเจอร์สทองคำ นี้อาจมีผู้ลงทุนจำนวนน้อย เพราะผู้ลงทุนโดยทั่วไปยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับกลไกการทำงานของการซื้อขายตราสารอนุพันธ์มากเท่าใดนัก แต่ในอนาคตอันใกล้ เครื่องมือทางการเงินชนิดใหม่นี้จะมีผู้ที่เข้ามาลงทุนในจำนวนที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยความสะดวกในการลงทุน และจำนวนเงินเริ่มต้นในการลงทุนไม่สูงมากนัก

โกลด์ฟิวเจอร์ส หรือ สัญญาฟิวเจอร์สทองคำ จะช่วยเพิ่มความคล่องตัวให้กับผู้ลงทุน ทำให้สามารถซื้อและขายทำกำไรได้ทั้งในภาวะราคาทองขาขึ้น และราคาทองขาลง โดยในการ ซื้อขายโกลด์ฟิวเจอร์สจะไม่มีการส่งมอบทองคำกันจริง ๆ ระหว่างคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย แต่ใช้วิธีจ่ายชำระเงินตามส่วนต่างกำไรขาดทุนที่เกิดขึ้นเท่านั้น วิธีการชำระกำไรขาดทุนแบบนี้เรียกว่า “ การชำระราคาเป็นเงินสด” (Cash Settlement) โดยผู้ลงทุนสามารถ “ ซื้อก่อนขาย” หรือ “ ขายก่อนซื้อ” ก็ได้ ซึ่งกำไรหรือขาดทุนที่เกิดขึ้นนั้น จะเท่ากับส่วนต่างระหว่างราคาขายและราคาที่ซื้อเอาไว้ เช่น หากผู้ลงทุนคาดว่าราคาทองคำจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต ผู้ลงทุนก็จะสามารถซื้อโกลด์ฟิวเจอร์สไว้ก่อน และเมื่อราคาทองคำในอนาคตปรับตัวขึ้นจริง ผู้ลงทุนก็จะก็สามารถขายโกลด์ฟิวเจอร์สได้ ทำให้ผู้ลงทุนได้รับกำไรเท่ากับส่วนต่างของราคาซื้อและขาย และในกรณีที่ผู้ลงทุนคาดว่าราคาทองจะปรับตัวลดลง ผู้ลงทุนก็จะสามารถขายโกลด์ฟิวเจอร์ส การขายทองคำล่วงหน้าในตลาดอนุพันธ์แบบนี้ ผู้ลงทุนไม่มีความจำเป็นจะต้องมีทองคำไว้ในมือ หรือจะต้องทำการซื้อไว้ก่อน เหมือนการซื้อทองในตลาดจริง เพียงแต่ผู้ลงทุนคาดว่าราคาทองคำนั้นจะลดลงในอนาคต ผู้ลงทุนก็ส่งคำสั่งขายล่วงหน้าไว้ เมื่อราคาทองคำในอนาคตลดลงจริง ผู้ลงทุนก็จะทำการขายได้ในราคาที่ได้ตกลงกันไว้ล่วงหน้า ซึ่งมีราคาสูงกว่า

การซื้อหรือขายโกลด์ฟิวเจอร์ส คือ การซื้อหรือขายทองคำล่วงหน้า ราคาของโกลด์ฟิวเจอร์สจึงเป็นราคาทองคำที่ผู้ลงทุนคาดการณ์ในอนาคต ซึ่งอาจจะแตกต่างจากราคาทองคำที่มีการซื้อขายและส่งมอบกันในปัจจุบัน (Spot Price) ในตลาดจริง การคาดการณ์ราคาทองที่แตกต่างกันนี้ เป็นโอกาสในการทำกำไรจากโกลด์ฟิวเจอร์ส เช่น ในภาวะทองราคาขึ้น ราคาทองในปัจจุบันอาจอยู่ที่ 14,000 บาทต่อทองคำหนัก 1 บาท แต่ราคาโกลด์ฟิวเจอร์สที่ครบกำหนดในอีก 6 เดือนข้างหน้า อาจมีราคาซื้อขายอยู่ที่ 14,500 บาทต่อทองคำหนัก 1 บาท สำหรับผู้ลงทุนที่ซื้อโกลด์ฟิวเจอร์สไว้ ก็คือ ผู้ลงทุนที่คาดว่าราคาทองคำในอีก 6 เดือนข้างหน้าจะสูงกว่า 14,500 บาท จึงทำการซื้อโกลด์ฟิวเจอร์ส โดยผู้ซื้อหรือผู้ลงทุนนี้คาดการณ์ว่าจะมีส่วนต่างราคาในกรณีที่ทองคำปรับตัวสูงขึ้นกว่าที่ได้กำหนดเอาไว้ เช่น หากในอนาคตราคาทองทำเป็น 15,500 บาท ผู้ลงทุนจะได้รับกำไรทันที 1,000 บาทต่อทองคำหนัก 1 บาท เป็นต้น

สำหรับผู้ขายโกลด์ฟิวเจอร์ส ก็คือ ผู้ลงทุนที่คาดว่าราคาทองคำจะปรับตัวขึ้นไม่ถึง 14,500 บาทต่อทองคำหนัก 1 บาท ในอีก 6 เดือนข้างหน้า ผู้ลงทุนจึงทำการขายล่วงหน้าในราคา 14,500 บาท และรอซื้อกลับเมื่อราคาถูกลง หากราคาทองคำในอนาคตเป็น 13,500 บาทต่อทองคำหนัก 1 บาท ผู้ลงทุนจะได้รับกำไรทันที 1,000 บาทต่อทองคำหนัก 1 บาท เพราะเปรียบเสมือนว่า ผู้ลงทุนสามารถซื้อทองคำได้ในราคา 13,500 บาท และขายตามที่ได้กำหนดล่วงหน้าไว้ 14,500 บาท ตามที่ได้ตกลงกันไว้ล่วงหน้า แต่การซื้อขายตราสารอนุพันธ์ประเภทนี้ไม่ได้มีการส่งมอบทองคำกันจริง เพียงแต่เป็นการ การชำระราคาเป็นเงินสด (Cash Settlement) เท่านั้น

การซื้อขายโกลด์ฟิวเจอร์สนั้นมีขั้นตอนและวิธีการที่แตกต่างจากการ ซื้อขายหุ้นสามัญโดยทั่วไป และซื้อขายทองคำ เพราะโกลด์ฟิวเจอร์สเป็นสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ที่ผู้ลงทุนจึงไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินทั้งจำนวน ในการซื้อทองคำ หรือหุ้นสามัญเช่นเดียวกับการซื้อทองเก็งกำไรทั่วไป หรือการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ผู้ลงทุนในโกลด์ฟิวเจอร์ส จะวางเงินส่วนหนึ่งซึ่งมีมูลค่าประมาณ 1 ใน 10 ของมูลค่าสัญญาทั้งจำนวนไว้กับโบรกเกอร์อนุพันธ์ก่อนส่งคำสั่งซื้อขายเพื่อ เป็นเงินมัดจำ ตามหลักการแล้วเงินจำนวนที่นำไปวางนี้เรียกว่า เงินหลักประกันขั้นต้น (Initial Margin)

เงินหลักประกันขั้นต้น เป็นเงินลงทุนจำนวนไม่มากนัก ทำให้ผู้ลงทุนมีโอกาสได้อัตราผลตอบแทนสูงจากการลงทุนเมื่อเทียบกับเงินทุน ที่ได้จ่ายเพื่อเป็นเงินหลักประกันขั้นต้น เช่น ผู้ลงทุนคาดว่าราคาทองคำจะปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 5% จึงลงทุนซื้อทองคำน้ำหนัก 50 บาท ในราคาบาทละ 14,000 บาท เพื่อเก็งกำไร โดยผู้ลงทุนจะต้องใช้เงินทุนเพื่อซื้อทองคำทั้งหมด โดยมีมูลค่ารวม 700,000 บาท แต่หากผู้ลงทุนซื้อโกลด์ฟิวเจอร์ส จะใช้เงินทุนเพื่อวางเป็นหลักประกันขั้นต้นประมาณ 50,000 บาท ซึ่งหากราคาทองคำสูงขึ้นจริง ผู้ลงทุนที่ซื้อโกลด์ฟิวเจอร์สก็มีโอกาสได้รับอัตราผลกำไรสูงกว่าการซื้อ ทองคำจริง เพราะการลงทุนในทองคำจริงนั้นต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากกว่า

ตัวอย่าง เช่น วันที่ 1 มีนาคม 2552 ราคาทองคำหนัก 1 บาท เท่ากับ 14,000 บาท หากลงทุนโดยการซื้อทองคำเพื่อเก็งกำไรจำนวนหนัก 50 บาท ผู้ลงทุนจะต้องจ่ายเงินซื้อทองมูลค่า 700,000 บาท และเมื่อครบสองเดือนในวันที่ 27 เมษายน 2552 ราคาทองคำหนัก 1 บาทในตลาดขยับเป็น 14,700 บาท หรือคิดเป็นมูลค่า 735,000 บาท ผู้ลงทุนจะได้กำไร 35,000 บาท จากการลงทุนทั้งหมด 700,000 บาท หรือคิดเป็นกำไรร้อยละ 5

แต่ถ้าผู้ลงทุนได้ทำการลงทุนใน โกลด์ฟิวเจอร์สที่จะครบกำหนดเดือนเมษายน ซึ่งมีราคาซื้อขายล่วงหน้า 14,500 บาท โดยวางเงินประกันเริ่มแรก 50,000 บาท และเมื่อครบสองเดือนในวันที่ 27 เมษายน 2552 ราคาทองคำหนัก 1 บาทในตลาดขยับเป็น 14,700 บาท หรือคิดเป็นมูลค่า 735,000 บาท ผู้ลงทุนจะได้กำไรในทองคำน้ำหนักบาทละ 200 บาท (ซื้อ 14,500 – ขาย 14,700) จำนวนทองคำหนัก 50 บาท คิดรวมเป็นเงิน 10,000 บาท จากการลงทุนทั้งหมด 50,000 บาท หรือคิดเป็นกำไรร้อยละ 20

กรณีราคาทองคำขาลง ผู้ลงทุนที่ต้องการเก็งกำไรจากทองคำ และมีทองคำอยู่ในมืออยู่แล้ว ผู้ลงทุนสามารถเร่งขายทองคำในช่วงที่ราคาทองคำยังสูง และค่อยซื้อทองคำกลับคืนหลังจากราคาทองปรับตัวลดลง สำหรับ ผู้ที่ไม่มีทองคำอยู่ในมือก็จะไม่สามารถใช้วิธีนี้สร้างกำไรได้

โกลด์ฟิวเจอร์สช่วยเพิ่ม โอกาสทำกำไรโดยใช้ต้นทุนที่ต่ำได้ เนื่องจากผู้ลงทุนสามารถวางเงินแค่หลักประกันขั้นต้น ก็สามารถทำการขายโกลด์ฟิวเจอร์สก่อน เพื่อทำกำไรในตลาดทองคำขาลงตัวอย่าง วันที่ 1 มิถุนายน ผู้ลงทุนคาดว่าราคาทองคำจะลดลงในอนาคต ผู้ลงทุนจึงขายทองคำที่มีอยู่ น้ำหนัก 50 บาท ในราคาทองคำน้ำหนักบาทละ 14,000 บาท และได้รับเงินจากการขาย 700,000 บาท และซื้อทองคำหนัก 50 บาท คืนในวันที่ 30 เมษายน น้ำหนักบาทละ 13,300 บาท มูลค่า 665,000 บาท ดังนั้นผู้ลงทุนจะได้กำไรจากการขายแล้วซื้อกลับ เท่ากับ 700,000 – 665,000 = 35,000 บาท (หรือคิดเป็นกำไร 5%)

แต่ถ้าผู้ลงทุนได้ทำการขายโกลด์ฟิวเจอร์สที่จะครบกำหนดเดือนกันยายน ในวันที่ 1 มิถุนายน ซึ่งมีราคาซื้อขายล่วงหน้า 13,700 บาท โดยวางเงินประกันเริ่มแรก 50,000 บาท ในในวันที่ 15 มิถุนายน 2552 ราคาทองคำหนัก 1 บาทในตลาดขยับเป็น 13,300 บาท หรือคิดเป็นมูลค่า 665,000 บาท ผู้ลงทุนจะได้กำไร (ขาย 13,700 – ซื้อ 13,300) * น้ำหนัก 50 บาท = 20,000 บาท (หรือคิดเป็นกำไร 40%)

ราคาซื้อขายโกลด์ฟิวเจอร์ส เป็นคาดการณ์ราคาทองคำในอนาคตของผู้ลงทุน แม้ว่าราคาที่ซื้อขาย จะไม่ใช่ราคาเดียวกับราคาทองคำที่ซื้อขายและส่งมอบกันจริงในตลาด แต่ก็มีการเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกัน โดยผลจากการศึกษาทางสถิติ ( ข้อมูลในช่วง ก.พ. 2541 – มิ.ย. 2550) (ข้อมูลจาก www.tfex.co.th) พบว่า ราคาทองคำมีทิศทางการ เคลื่อนไหวในทิศทางตรงกันข้ามกับหลักทรัพย์ชนิดอื่น ๆ โดยเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือนจะพบว่าทองคำมีค่าสหสัมพันธ์ (Correlation) ติดลบสูงสุดเท่ากับ -0.24 และเมื่อเทียบกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET Index) ทองคำมีค่าสหสัมพันธ์ติดลบเท่ากับ -0.09 (การที่มีค่า Correlation ติดลบ แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ในทิศทางตรงข้าม จึงเหมาะแก่การกระจายการลงทุน และลดความเสี่ยง) ดังนั้นโกลด์ฟิวเจอร์ส จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการกระจายการลงทุน

นอกจากนี้ ราคาทองคำยังเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับดัชนีราคาผู้บริโภคและราคาน้ำมัน การซื้อขายโกลด์ฟิวเจอร์ส จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกใน การกระจายการลงทุนที่เรียกว่า การลงทุนเพื่อลดความเสี่ยง จากภาวะเงินเฟ้อได้ (Inflation Hedge)

ใกล้เคียง

สัญญา สัญญา ธรรมศักดิ์ สัญญา คุณากร สัญญาณแจ้งเหตุร้าย สัญญาประชาคม สัญญากับมาร สัญญาณเรียกขาน สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ สัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้า สัญญาอนุญาตของสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์