ประวัติ ของ สัพแหยก

ชุมชนกุฎีจีนเป็นชุมชนของชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกสที่อพยพจากกรุงศรีอยุธยาหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้พระราชทานที่ดินแก่ลูกหลานชาวโปรตุเกสกลุ่มดังกล่าว มีศูนย์กลางที่โบสถ์ซางตาครู้ส ซึ่งได้ตกทอดสำรับอาหารไทย-โปรตุเกสมาจนถึงปัจจุบัน หนึ่งในนั้นคือสัพแหยก[5]

ชื่อ "สัพแหยก" บ้างว่ามาจากคำว่า "supject" ในภาษาอังกฤษแปลว่า "คนในบังคับ"[4] บ้างว่าเป็นคำโปรตุเกสว่า "สับเช่"[2] ที่แปลว่าการสับ[1][4]

สัพแหยกทำจากเนื้อวัวสับละเอียด (ปัจจุบันอาจใช้เป็นเนื้อหมูหรือเนื้อไก่แทน) ผัดกับพริกแกงที่ทำจากพริกชี้ฟ้าแดง เกลือสมุทร กระเทียมจีน หอมแดง ยี่หร่า ลูกผักชี และผงขมิ้น ผัดด้วยไฟกลาง ปรุงรสด้วยน้ำส้มสายชู น้ำปลา และน้ำตาลทราย ให้ได้รสเปรี้ยวนำ เค็มและหวานตาม หลังจากนั้นจึงใส่มันฝรั่งต้มสุกหั่นเต๋าผัดเข้าด้วยกัน ผัดจนงวดไม่แฉะมากเป็นอันเสร็จ[6]