ผลจากการเกิดสายการบินต้นทุนต่ำ ของ สายการบินราคาประหยัด

ผลดี

  1. กระตุ้นให้นักท่องเที่ยวมีการเดินทางโดยเครื่องบินมากขึ้น และขยายเส้นทางท่องเที่ยวได้กว้างขวางขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากมาเลเซียซึ่งมักเดินทางเข้าประเทศไทยจากด่านทางบกที่อำเภอหาดใหญ่เป็นหลัก ราคาบัตรโดยสารเครื่องบินที่ถูกลงอย่างมากจะเป็นตัวจูงใจให้นักท่องเที่ยวเดินทางท่องเที่ยวไปยังแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ เช่น เชียงใหม่และภูเก็ตมากขึ้น แทนที่จะท่องเที่ยวอยู่ในกรุงเทพฯ เพียงอย่างเดียว จึงเป็นการกระจายนักท่องเที่ยว และทำให้สะดวกสบายในการบินตรงมากขึ้น สายการบินต้นทุนต่ำได้รับความนิยมในการใช้บริการจึงมีศักยภาพในการเปิดเส้นทางบินตรงใหม่ ๆ เช่นเที่ยวบินตรงระหว่างสองภูมิภาคของไทย (เช่น ไปกลับ เชียงใหม่-ขอนแก่น หรือไปกลับ ภูเก็ต-เชียงราย เป็นต้น) ซึ่งช่วยให้ผู้เดินทางสามารถเดินทางได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องเสียเวลารอเปลี่ยนเครื่องบินที่ท่าอากาศยานดอนเมืองหรือสุวรรณภูมิอีกต่อไป และสำหรับบางเส้นทางนั้นการบินตรงจะบินสั้นกว่าการบินอ้อมไปต่อเครื่องบินที่กรุงเทพฯ (รวมเวลาบินของทั้งสองเที่ยวบิน) อย่างเห็นได้ชัดอีกด้วย เช่น ขอนแก่น-เชียงใหม่ บินสั้นกว่าและใช้เวลานั่งบนเครื่องบินรวมน้อยกว่า ขอนแก่น-ดอนเมือง รวมกับ ดอนเมือง-เชียงใหม่ เป็นต้น รวมถึงบางกรณีอาจช่วยให้ไม่ต้องนั่งรถไกลข้ามจังหวัดเพื่อไปให้ถึงสนามบินหรือจุดหมายปลายทางอีกด้วย (เช่น เส้นทางบินตรงจากอุดรธานีสู่ท่าอากาศยานอู่ตะเภาทำให้สามารถนั่งเครื่องบินจากอุดรธานีไปถึงอู่ตะเภาได้โดยตรงภายในเที่ยวบินเดียว จากเดิมที่ต้องลงจอดที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิหรือดอนเมืองแล้วจึงหารถนั่งโดยสารไปต่อ)
  2. ทำให้เกิดการขยายตัวของนักท่องเที่ยวกลุ่มต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะตลาดนักท่องเที่ยวระดับกลางและระดับล่างที่มีงบจำกัดในการเดินทาง รวมทั้งทำให้มีการขยายตัวในกลุ่มนักท่องเที่ยวจากประเทศเพื่อนบ้านและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นการส่งเสริมให้เมืองหลักในประเทศไทย เช่น เชียงใหม่และภูเก็ต รวมทั้งเมืองใหญ่อื่นๆ เป็นศูนย์กลางทางการบิน และเป็นประตูสู่ประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ
  3. เพิ่มความถี่ในการเดินทางมากขึ้น โดยนักท่องเที่ยวมีโอกาสเดินทางได้บ่อยขึ้น จากเดิมอาจเดินทางเพียงปีละ 1 ครั้ง ราคาบัตรโดยสารเครื่องบินที่ถูกลงทำให้นักท่องเที่ยวมีโอกาสเลือกเดินทางได้มากกว่า 1 ครั้ง ต่อปี โดยส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวมาเลเซียและสิงคโปร์สามารถเดินทางมาประเทศไทยในช่วงสุดสัปดาห์ได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะการเดินทางเข้าภูเก็ตและเชียงใหม่ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้โดยรวมมากขึ้น แต่วันพักเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวสั้นลง
  4. ส่งผลดีต่อธุรกิจท่องเที่ยวอื่นๆ เช่น ตัวแทนจำหน่ายบริการทางการท่องเที่ยว บริษัทจัดนำเที่ยว และโรงแรมสามารถเสนอขายรายการนำเที่ยวหรือแพ็กเกจได้หลายรูปแบบในราคาที่ประหยัดหรือถูกลง ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการขยายตัวของภาคธุรกิจ เพราะเมื่อนักท่องเที่ยวสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนของการเดินทาง ก็จะมีเงินในการใช้จ่ายเป็นค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าของที่ระลึก และการจับจ่ายใช้สอยอื่นๆ ได้มากขึ้น นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดการขยายตัวของธุรกิจโรงแรมเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับกระแสการเดินทางของกลุ่มนักท่องเที่ยวระดับกลาง–ล่าง โดยในปีหน้า โรงแรม 1-3 ดาว มีแนวโน้มจะเติบโตมากขึ้น ทั้งด้านอัตราการเข้าพักเฉลี่ยและจำนวนโรงแรม ทั้งนี้ โรงแรมในเครือ ACCOR มีนโยบายที่จะเปิดโรงแรมระดับกลาง–ล่างในเมืองท่องเที่ยวหลักรองรับ เช่น โคราชและขอนแก่น เป็นต้น
  5. ทำให้เกิดการแข่งขันในภาคธุรกิจการบินและภาคการขนส่งอื่นๆ มากขึ้นไม่ว่าจะเป็นรถไฟหรือรถประจำทางทั้งในด้านราคา คุณภาพ และการบริการ ซึ่งธุรกิจต่างๆ ต้องมีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และพัฒนาประสิทธิภาพให้ดีขึ้น อันจะส่งผลดีต่อผู้บริโภคในการมีทางเลือกมากยิ่งขึ้น
  6. อาจเกิดสงครามราคาขึ้นมา โดยสายการบินต้นทุนตํ่าสายต่างๆจะแข่งกันลดราคากันเพื่อดึงลูกค้าให้มาใช้บริการ ผู้ที่ได้ประโยชน์คือผู้โดยสารที่ได้เดินทางโดยสารได้ในราคาที่ตํ่าลงมากขึ้น รวมถึงสายการบินที่ไม่ใช่สายการบินต้นทุนต่ำบางรายก็ได้ลดราคาลง หรือจัดโปรโมชัน เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในทางธุรกิจเช่นกัน[2]

ผลลบ

  1. ทางเลือกที่มากขึ้นทำให้นักท่องเที่ยวไทยเดินทางออกไปเที่ยวต่างประเทศมากขึ้นกว่าเดิม ส่วนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เคยเดินทางมาประเทศไทยได้ง่าย เช่น มาเลเซีย ซึ่งนิยมเดินทางโดยรถยนต์/รถโดยสารมาไทย ก็สามารถเดินทางไปประเทศอื่นๆ ได้ เช่น บรูไน หรือในเส้นทางอื่นๆ เนื่องจากราคาค่าบัตรโดยสารเครื่องบินถูกลงและมีความสะดวกรวดเร็ว ซึ่งอาจทำให้มีการดึงนักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งไปจากประเทศไทยได้
  2. สายการบินที่ให้บริการเต็มรูปแบบหรือสายการบินแบบดั้งเดิมบางราย ซึ่งรวมถึงสายการบินประจำชาติ อาจได้รับผลกระทบในด้านลบ เช่นจำนวนผู้โดยสารลดลง มีกำไรลดลงหรือขาดทุนมากขึ้น จึงอาจต้องลดต้นทุนต่าง ๆ ลง เช่น ลดระดับการให้บริการ, ลดจำนวนเส้นทางบิน, ลดจำนวนเครื่องบิน หรือลดจำนวนรุ่นหรือแบบของเครื่องบินลง เป็นต้น เพื่อให้ธุรกิจสายการบินดำเนินต่อไปได้ ซึ่งบางกรณีอาจทำให้คุณภาพของสายการบินลดต่ำลงไปด้วย หรืออาจถึงขั้นมีผลประกอบการย่ำแย่จนต้องปิดกิจการลง เมื่อไม่สามารถแข่งขันทางธุรกิจกับสายการบินอื่น ๆ ซึ่งรวมถึงสายการบินต้นทุนต่ำได้ (เช่น ราคาตั๋วแพงกว่าอย่างชัดเจน) นอกจากนี้สายการบินแบบเต็มรูปแบบบางรายก็ยังได้ลงทุนหรือเข้าถือหุ้นในสายการบินต้นทุนต่ำแห่งอื่น หรือก่อตั้งสายการบินใหม่แบบต้นทุนต่ำขึ้นมา เพื่อแข่งขันก้บสายการบินต้นทุนต่ำอื่นด้วย
  3. สายการบินต้นทุนต่ำในปัจจุบันมักนิยมใช้เครื่องบินขนาดแอร์บัส เอ320 หรือโบอิง 737 ซึ่งไม่สามารถบินไปลงจอดยังท่าอากาศยานบางแห่งที่มีรันเวย์ขนาดเล็กหรือสั้น หรือแคบ ทำให้บางสนามบินไม่อาจมีสายการบินต้นทุนต่ำมาให้บริการได้ หรือสายการบินที่มีเครื่องบินเล็กจะยังสามารถกุมความได้เปรียบในท่าอากาศยานเหล่านี้จนทำให้สามารถตั้งราคาค่าโดยสารสูง ๆ ได้

ใกล้เคียง

สายการบินสกู๊ต สายการบินประจำชาติ สายกาจัง สายการบินเอทิฮัด สายการบินราคาประหยัด สายการบินทีเวย์ สายการบิน สายการบินไอเบกส์ สายการบินหลักของสหรัฐ สายการบินอัฟริคิยาห์ เที่ยวบินที่ 771