รูปแบบการให้บริการของสายการบินราคาประหยัด ของ สายการบินราคาประหยัด

  • ราคาบัตรโดยสารเครื่องบินของสายการบินประเภทนี้มักจะต่ำกว่าบัตรโดยสารชั้นประหยัดของสายการบินใหญ่ๆ ประมาณ 40-50 %
  • ให้บริการแบบ Single Economy Class คือมีบริการที่นั่งเฉพาะชั้นประหยัด (สำหรับเส้นทางบินระยะไกลซึ่งใช้เครื่องบินขนาดใหญ่ อาจมีชั้นธุรกิจให้บริการด้วย)
  • มักใช้เครื่องบินโดยสารเพียงรุ่นเดียวหรือแบบเดียวในการให้บริการ เพื่อความสะดวกและประหยัดค่าบำรุงรักษา ตลอดจนค่าใช้จ่ายฝึกอบรมนักบิน เพราะการใช้เครื่องบินน้อยรุ่นทำให้ประหยัดค่าอะไหล่/อุปกรณ์ และง่ายต่อการดูแลรักษา นอกจากนี้ ยังอาจได้รับส่วนลดในการสั่งซื้อจากบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินเมื่อเหมาซื้อเครื่องบินแบบและรุ่นเดียวกันทั้งฝูงบิน นอกจากนี้เครื่องบินรุ่นที่เลือกใช้ก็เป็นรุ่นที่ประหยัดนํ้ามันเชื้อเพลิง มีขนาดเครื่องบินที่เหมาะสมกับระยะทางการบินและจำนวนผู้โดยสาร แต่ก็จัดวางที่นั่งให้เต็มลำที่สุด หรือเป็นที่นั่งชั้นประหยัดทั้งลำ เพื่อให้สามารถจุผู้โดยสารได้มากที่สุดในแต่ละเที่ยวบินด้วย (เช่น แอร์บัส เอ320 หรือโบอิง 737 เป็นต้น)
  • ส่วนใหญ่ให้บริการเส้นทางบินไม่ไกลนัก มักใช้เวลาบินไม่เกิน 3-4 ชั่วโมง เพื่อให้เหมาะสมกับพิสัยการบินของเครื่องบินรุ่นที่ประหยัดนํ้ามันเชื้อเพลิงดังกล่าว หรือหากเส้นทางบินไกล 5-12 ชั่วโมงก็จะใช้เครื่องบินลำใหญ่ขึ้น ที่ยังมีความประหยัดน้ำมัน และสามารถบินได้ไกลกว่าเพราะบรรจุน้ำมันเชื้อเพลิงได้มากกว่า แต่ก็จำเป็นต้องมีจำนวนผู้โดยสารที่ซื้อตั๋วที่มากขึ้นตามขนาดของเครื่องบินด้วยเพื่อให้เที่ยวบินนั้นเต็มลำหรือทำกำไรได้มากที่สุด (เช่น โบอิง 777 เป็นต้น)
  • ส่วนใหญ่จะไม่มีบริการแจกอาหารและเครื่องดื่มฟรีแก่ผู้โดยสารทุกคนบนเครื่องบิน ซึ่งจะช่วยลดภาระงานและจำนวนพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินได้ หากผู้โดยสารต้องการอาหารหรือเครื่องดื่ม สามารถเลือกซื้อได้ในกระบวนการจองตั๋วเครื่องบิน หรือแก้ไขข้อมูลตั๋วเพื่อเลือกซื้ออาหารและเครื่องดื่มเพิ่ม หรือซื้อได้โดยตรงจากพนักงานบนเครื่องบิน
  • ส่วนใหญ่จะไม่มีโควตาน้ำหนักสัมภาระบรรทุกใต้ท้องเครื่องบินให้ฟรีแก่ผู้โดยสารทุกคนบนเครื่องบิน หากผู้โดยสารต้องการบรรทุกสัมภาระใต้ท้องเครื่องบิน สามารถเลือกซื้อโควตาน้ำหนักสัมภาระได้ในกระบวนการจองตั๋วเครื่องบิน หรือในการแก้ไขข้อมูลตั๋วภายหลังการซื้อ (มักจะราคาแพงกว่าการซื้อพร้อมกระบวนการจองตั๋ว)
  • มักจะมีความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎที่เกี่ยวกับจำนวน น้ำหนัก และขนาด ของกระเป๋าหรือสัมภาระที่ถือติดตัวขึ้นเครื่องบิน มากกว่าสายการบินที่ให้บริการเต็มรูปแบบ (สายการบินระดับพรีเมียม หรือสายการบินฟูลเซอร์วิส) โดยทั่วไป ที่ผู้โดยสารจะได้รับโควตาน้ำหนักสัมภาระบรรทุกฟรี (ผู้โดยสารสายการบินเต็มรูปแบบจึงอาจไม่จำเป็นต้องถือกระเป๋าเดินทางขนาดใหญ่ติดตัวขึ้นไปบนเครื่องบิน)
  • เน้นบริการขึ้นและลงจอด ณ สนามบินระดับรอง ไม่ใช่สนามบินที่เป็นศูนย์กลางการบินหลัก ๆ ระหว่างประเทศ (Hub) เช่น การใช้ท่าอากาศยานดอนเมืองหรือท่าอากาศยานอู่ตะเภาแทนท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นต้น ทำให้ต้นทุนค่าใช้สนามบินต่ำกว่า ไม่ว่าจะเป็นค่าธรรมเนียมขึ้น–ลงจอด และการใช้พื้นที่จอดเครื่องบิน โดยพยายามบินให้มากที่สุด เพื่อลดต้นทุนให้กับสายการบินได้มากขึ้น และจอดเครื่องให้น้อยที่สุด เช่นไม่เกิน 45 นาทีถึง 1 ชั่วโมง เพื่อที่ค่าธรรมเนียมในการจอดที่สนามบินในเส้นทางนั้น ๆ จะได้มีราคาถูก
  • มีการพัฒนาระบบการจองและการขายบัตรโดยสารของสายการบินเองโดยไม่ผ่านตัวกลางหรือตัวแทนจำหน่าย เพื่อลดค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าคอมมิสชั่น เป็นต้น ส่วนใหญ่เป็นการขายบัตรโดยสารผ่านทางอินเทอร์เน็ต (e-ticketing) หรือทางโทรศัพท์ (Call Center) นอกจากนี้ เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการพิมพ์และค่ากระดาษ บางสายการบินออกบัตรโดยสารโดยใช้กระดาษบางคล้ายกระดาษใบเสร็จรับเงินของห้างสรรพสินค้า แทนการออกบัตรกระดาษแข็งอย่างตั๋วของสายการบินพรีเมียม และบางสายการบินมีการออกบัตรโดยสารแบบ Ticketless คือ ไม่มีการออกบัตรโดยสารเป็นกระดาษให้ แต่จะบอกรหัสบัตรโดยสารให้ผู้โดยสาร เมื่อ Check-in ผู้โดยสารเพียงแต่บอกรหัสและแสดงบัตรประจำตัวประชาชนให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเท่านั้น หรือผู้โดยสารสามารถ Check-in ออนไลน์ผ่านอินเทอร์เน็ตแล้วจึงพิมพ์ (พรินต์) ไฟล์บัตรโดยสารได้โดยไม่ต้องให้พนักงานพิมพ์ให้ หรือสามารถ Check-in ผ่านสมาร์ตโฟนโดยใช้แอปพลิเคชันของสายการบิน แล้วจะได้รับข้อมูลบัตรโดยสารในสมาร์ตโฟนซึ่งใช้แทนบัตรกระดาษได้เลย บางสายการบินยังอาจมีการคิดค่าธรรมเนียมการพิมพ์บัตรโดยสารที่สนามบินกับผู้โดยสารที่ไม่ได้พิมพ์บัตรโดยสารเตรียมมาล่วงหน้า
  • ไม่มีการบริการภาคพื้นดิน เช่น ไม่มีห้องรับรองพิเศษ (VIP Lounge) ไม่มีบริการจัดส่งหรือถ่ายโอนสัมภาระเลยเส้นทางบิน หรือจุดหมายปลายทาง (No Baggage Transferring Service) แต่อาจมีบริการตามความต้องการของผู้โดยสาร เช่น ห้องรับรอง, รถรับส่งจากสนามบินไปยังเมืองปลายทาง โดยผู้โดยสารต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
  • สายการบินราคาประหยัดมีนโยบายให้นักบินต้องเน้นการประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงให้กับสายการบิน นักบินจึงอาจใช้วิธีการต่าง ๆ ในการขับเครื่องบินให้ประหยัดน้ำมัน เช่น การบินไต่ระดับสูงขึ้นหรือบินลดระดับลงจะเป็นไปอย่างรวดเร็ว เป็นต้น อาจทำให้ความสบายในการนั่งโดยสารนั้นมีน้อยกว่าของสายการบินเต็มรูปแบบ แต่อย่างไรก็ตามไม่ได้เป็นการลดความปลอดภัยลงแต่อย่างใด[1]
  • สายการบินราคาประหยัดบางรายยังได้ขายโฆษณาบนลำตัวเครื่องบิน และ/หรือ โฆษณาจำนวนมากภายในห้องโดยสารของเครื่องบินอีกด้วยเพื่อเพิ่มรายได้ แม้อาจทำให้ผู้โดยสารเสียบรรยากาศ

ใกล้เคียง

สายการบินสกู๊ต สายการบินประจำชาติ สายกาจัง สายการบินเอทิฮัด สายการบินราคาประหยัด สายการบินทีเวย์ สายการบิน สายการบินไอเบกส์ สายการบินหลักของสหรัฐ สายการบินอัฟริคิยาห์ เที่ยวบินที่ 771