ประวัติ ของ สารหนู

คำ "arsenic" ยืมมาจากภาษาเปอร์เซียว่า "zarnik" แปลว่า หรดาลกลีบทอง (yellow orpiment) ชาวกรีกนำคำนี้ไปใช้ว่า "arsenikon"

สารหนูเป็นที่รู้จักกันดีในอิหร่านแต่โบราณครั้งที่ยังใช้ชื่อว่าเปอร์เซีย ในพุทธศตวรรษที่ 10 นักประวัติศาสตร์ชาวกรีกชื่อ "โซซิมัส" (Zosimus) รายงานถึงธาตุนี้เป็นครั้งแรก และยังมีการกล่าวอ้างว่าอัลแบร์ทุส มักนุส (Albertus Magnus) นักปรัชญาชาวเยอรมัน เป็นคนแรกที่ระบุว่าสารหนูเป็นธาตุเมื่อ พ.ศ. 1793 ต่อมาใน พ.ศ. 2193 นักวิทยาศาสตร์โยฮันน์ ชเรอเดอร์ (Johann Schroeder) ได้พิมพ์รายงานการเตรียมสารหนูสองวิธี

เมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ 26 ที่ประเทศบังกลาเทศเกิดสถานการณ์วิกฤติ คนจำนวนมากมีอาการได้รับพิษสารหนู ประมาณว่าชาวบังกลาเทศหลายสิบล้านคนดื่มน้ำที่มีสารหนูเจือปนอยู่เกินมาตรฐานองค์การอนามัยโลก คือ 50 ส่วนในพันล้านส่วน (ppm) ทั้งนี้ เป็นเพราะสารหนูในน้ำนั้นมาจากชั้นหินตะกอนโดยเกิดจากเหตุธรรมชาติทางธรณีวิทยาและซึมลงไปในน้ำใต้ดิน ขณะนั้นบังกลาเทศให้ประชาชนดื่มน้ำใต้ดินเพื่อหลีกเลี่ยงน้ำผิวดินที่มีเชื้อโรค ราชบัณฑิตยสถานแห่งประเทศไทยคาดว่า อาจมีประเทศอื่นอีกทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีสิ่งแวดล้อมทางธรณีวิทยาเช่นเดียวกับบังกลาเทศ ทางภาคใต้ของประเทศไทยก็เคยเกิดเหตุการณ์ในทำนองเดียวกันกับข้างต้น แต่มิได้เป็นข่าวแพร่หลาย สาเหตุมาจากน้ำใต้ดินที่มาจากเหมืองดีบุกเก่าปนเปื้อนสารหนู