ประวัติ ของ สำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน

แต่เดิมภารกิจในการดูแลรักษาและจัดเก็บทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน เป็นหน้าที่ของ "กรมเก็บ" ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งขึ้นในบริเวณพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2433 ต่อมาในปี พ.ศ. 2454 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "กรมพระคลังมหาสมบัติ" ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการคัดแยก "ทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน" ออกจาก "ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์" และเก็บรักษาไว้ใน "กรมพระคลังมหาสมบัติ" ต่อจากนั้นได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติจัดตั้งกระทรวง และกรม พ.ศ. 2476 โดยให้ยุบกรมพระคลังมหาสมบัติและจัดตั้งเป็น "กองคลังกลาง" ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น "กรมคลัง" และในภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น "กรมธนารักษ์" ในที่สุด

'หอรัษฎากรพิพัฒน์' ในพระบรมมหาราชวัง เป็นที่ทำการของ 'กรมพระคลังมหาสมบัติ' ในอดีต

ด้วยเหตุที่การเก็บรักษาทรัพย์สินมีค่า ที่มีความสำคัญของแผ่นดินเป็นภารกิจหลักของกรมธนารักษ์ ในปี พ.ศ. 2519 นายสุนทร เสถียรไทย อธิบดีกรมธนารักษ์ในขณะนั้น จึงมีดำริให้ กองคลังกลางดำเนินการคัดเลือกทรัพย์สิน เพื่อนำออกจัดแสดงในทำนองเดียวกับการจัดรูปแบบของพิพิธภัณฑ์ แต่เป็นเพียงการจัดแสดงทรัพย์สินเฉพาะอย่าง ซึ่งใช้พื้นที่ไม่กว้างขวางใหญ่โตเท่าใดนัก หลังจากที่ได้ทำการแบ่งทรัพย์สินออกเป็นหมวดต่างๆ เห็นว่าควรนำเหรียญกษาปณ์ไทยและเงินตราโบราณออกจัดแสดง เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้ทราบถึง 'วิวัฒนาการเหรียญกษาปณ์ไทย' เป็นลำดับแรก โดยได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ใช้ส่วนหนึ่งของอาคารสำนักงานพระคลังข้างที่ หลังศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง เป็นสถานที่จัดแสดง และเรียกชื่อตามทรัพย์สินที่จัดแสดงว่า “ศาลาเหรียญกษาปณ์ไทย”

  • พระราชวงศ์ทั้ง 4 พระองค์ ในพิธีเปิด 'ศาลาเหรียญกษาปณ์ไทย'
  • พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขณะทรงเปิดแพรคลุมป้าย 'ศาลาเหรียญกษาปณ์ไทย'
  • ข้าราชการกรมธนารักษ์ร่วมถ่ายภาพหน้าป้ายชื่อ 'ศาลาเหรียญกษาปณ์ไทย'

ต่อมาในปี พ.ศ. 2521 กรมธนารักษ์ได้ขอขยายพื้นที่เพื่อนำ “เครื่องราชอิสริยยศและเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย” ออกจัดแสดง โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถและสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงทำพิธีเปิดทั้งสองครั้ง เมื่อเดือนเมษายน 2519 และสิงหาคม 2521

  • บัตรเชิญงานวันเปิดศาลาเครื่องราชอิสริยยศ และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ในปี พ.ศ. 2521
  • พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขณะทรงเปิดแพรคลุมป้าย 'ศาลาเครื่องราชอิสริยยศและเครื่องราชอิสริยาภรณ์'
  • ป้ายชื่อศาลาเครื่องราชอิสริยยศและเครื่องราชอิสริยาภรณ์ หน้าอาคารสำนักงานพระคลังข้างที่

ในปี พ.ศ. 2526 หน่วยงานที่รับผิดชอบการจัดแสดงได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น “กองเครื่องราชอิสริยยศและเหรียญกษาปณ์” จนกระทั่งมีการรวม ‘กองคลังกลาง’ และ ‘กองเครื่องราชอิสริยยศและเหรียญกษาปณ์’ เข้าด้วยกันเพื่อจัดตั้งเป็น “สำนักบริหารเงินตรา” ในปี พ.ศ. 2540 ต่อมาในปี พ.ศ. 2545 กรมธนารักษ์ได้ปรับโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการอีกครั้ง โดยได้จัดตั้ง “สำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน” ขึ้นตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ลงวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2545 เพื่อดูแลรับผิดชอบในการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน ตราบจนทุกวันนี้

ใกล้เคียง

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ไทย) สำนักพระราชวัง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานสอบสวนกลาง สำนักนายกรัฐมนตรี (ประเทศไทย) สำนักงานราชบัณฑิตยสภา สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ สำนักข่าวไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ