สิงโตมาไซ
สิงโตมาไซ

สิงโตมาไซ

สิงโตมาไซ หรือ สิงโตแอฟริกาตะวันออก (อังกฤษ: Masai lion, East African lion; ชื่อวิทยาศาสตร์: Panthera leo nubica) เป็นชนิดย่อยของสิงโตชนิดหนึ่งในทวีปแอฟริกาพบกระจายพันธุ์ในแถบแอฟริกาตะวันออก โดยชนิดต้นแบบได้รับการอธิบายว่ามาจาก "นิวเบีย" รวมถึงชนิดย่อยที่เคยใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า massaica ซึ่งได้รับการอธิบายไว้ในขั้นต้นจากดินแดนแทนกันยีกาในแอฟริกาตะวันออก [2][3]สิงโตมาไซมีช่วงขาที่เรียวยาว แลดูปราดเปรียวและช่วงหลังโค้งน้อยกว่าสิงโตชนิดย่อยอื่น ๆ ตัวผู้มีกระจุกขนปานกลางบนข้อเข่าและขนแผงคอจะขึ้นไม่เต็ม แต่จะมีลักษณะเสยไปด้านหลังเหมือนผมที่ถูกหวี [4]ตัวผู้มีขนาดโดยทั่วไป 2.5-3.0 เมตร (8.2-9.8 ฟุต) รวมถึงหาง ตัวที่ยังไม่โตเต็มที่มักจะมีขนาดเล็กเพียง 2.3-2.6 เมตร (7.5-8.5 ฟุต) น้ำหนักตัวผู้อยู่ระหว่าง 145-205 กิโลกรัม (320-452 ปอนด์) และตัวเมียอยู่ที่ 100-165 กิโลกรัม (220-364 ปอนด์) มีความสูงตั้งแต่ปลายตีนถึงช่วงไหล่ของทั้งสองเพศอยู่ที่ 0.9-1.10 เมตร (3.0-3.6 ฟุต) สิงโตมาไซตัวผู้เป็นที่รู้จักเป็นอย่างดีถึงลักษณะของประเภทแผงคอ การพัฒนาแผงคอสัมพันธ์กับอายุ ตัวที่มีอายุมากกว่ามีแผงคอกว้างขวางมากขึ้นกว่าตัวที่อายุน้อยกว่า และแผงคอยังคงยาวไปได้ถึงอายุ 4-5 ปี ตัวผู้จะกลายเป็นสิงโตตัวเต็มวัยได้จากการผสมพันธุ์ ตัวผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่สูงกว่า 800 เมตร (2,600 ฟุต) มีแผงคอที่ใหญ่และกว้างกว่าสิงโตที่พบในแถบที่ราบลุ่มและอบอุ่นของทางตะวันออกและทางตอนเหนือของเคนยา ซึ่งพบว่ามีแผงคอที่ไม่สมบูรณ์และมีลักษณะบ่งบอกถึงทางเพศที่ไม่เต็มที่อีกด้วย.[5]