ในรัชสมัยพระเจ้าเลนเต้ ของ สิบขันที

ในรัชสมัยพระเจ้าเลนเต้ (ครองราชย์ ค.ศ. 168–189) เตียวต๋งและเตียวเหยียงขึ้นมามีตำแหน่งเป็นจงฉางชื่อ (中常侍) และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นโหว (พระยา) ขันทีทั้งสองยังเป็นมิตรกับอีกสองขันทีผู้ทรงอิทธิพลได้แก่ เทาเจียด (曹節 เฉาเจี๋ย; เสียชีวิต ค.ศ. 181) และหวังฝู่ (王甫; เสียชีวิต ค.ศ. 179) หลังจากเทาเจียดเสียชีวิต เตียวต๋งได้รับการแต่งตั้งเป็นขุนนางมหาดเล็กของฮองเฮา (大長秋 ต้าฉางชิว).[3] ในขณะนั้น เตียวเหยียงและเตียวต๋ง พร้อมด้วยขุนนางขันทีอีกสิบคนได้แก่ เห้หุย (夏惲 เซี่ยยฺหวิน), ก๊กเสง (郭勝 กัวเซิ่ง), ซุนจาง (孫璋), ปี้หลัน (畢嵐), ลี่ซง (栗嵩), ต๋วนกุย (段珪 ตฺวั้นกุย), เกาว่าง (高望), จางกง (張恭), หันคุย (韓悝) และซ่งเตี่ยน (宋典) ต่างก็ดำรงตำแหน่งจงฉางชื่อ (中常侍) และอีกทั้งยังมีบรรดาศักดิ์เป็นโหว[4] ญาติสนิทมิตรสหายของขันทีเหล่านี้ซึ่งกระจายอยู่ในหลายเมืองของอาณาจักรฮั่นก็มีชื่อเสียงที่ไม่ดีจากการฉ้อราษฎร์บังหลวง [5]

กบฏโพกผ้าเหลือง

ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่: กบฏโพกผ้าเหลือง

เมื่อกบฏโพกผ้าเหลืองก่อการจลาจลในปี ค.ศ. 184 ขุนนางชื่อเตียวกิ๋น (張鈞 จางจฺวิน) เขียนฎีกาถวายพระเจ้าเลนเต้กล่าวโทษสิบขันทีและญาติสนิทมิตรสหายในความผิดฐานฉ้อราษฎร์บังหลวงอันเป็นเหตุทำให้ราษฎรไม่พอใจจนนำไปสู่การก่อกบฏ เตียวกิ๋นแนะนำพระเจ้าเลนเต้ให้ประหารสิบขันทีและประกาศความผิดของสิบขันทีให้ทั่วอาณาจักรฮั่นเพื่อระงับความไม่พอใจของราษฎร [6]

เมื่อพระเจ้าเลนเต้นำฎีกาของเตียวกิ๋นให้เหล่าขันทีอ่าน ขันทีเหล่านั้นถอดหมวกและรองเท้าออก แล้วคุกเข่าอ้อนวอนพระเจ้าเลนเต้ให้กักขังพวกตน อีกทั้งยังแสดงความเต็มใจที่จะบริจาคทรัพย์สมบัติของตนไว้เป็นทุนให้ทหารในการปราบปรามกบฏ พระเจ้าเลนเต้มีรับสั่งให้เหล่าขันทีสวมหมวกและรองเท้าและให้ยังคงตำแหน่งดังเดิม จากนั้นพระองค์ทรงตำหนิเตียวกิ๋นว่า "เหลวไหล สิบขันทีจะไม่มีคนดีสักคนเชียวหรือ" [7] เตียวกิ๋นถวายฎีกาอีกฉบับที่มีเนื้อความคล้ายคลึงกับฉบับก่อนหน้า แต่ฎีกาฉบับนี้ไม่ถูกส่งไปถึงพระเจ้าเลนเต้ [8] จากนั้นพระเจ้าเลนเต้มีรับสั่งให้เสนาบดีตุลาการ (廷尉 ถิงเว่ย์) และราชเลขาธิการ (御史 อฺวี่ฉื่อ) ทำการสืบเรื่องเตียวก๊กและลัทธิไท่ผิง (太平道 ไท่ผิงเต้า) ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มกบฏโพกผ้าเหลือง เตียวเหยียงและเหล่าขันทีได้ลอบสั่งขุนนางเหล่านั้นให้ใส่ร้ายเตียวกิ๋นฐานเข้ารีตกับลัทธิไท่ผิง เตียวกิ๋นถูกจับขังคุกและถูกทรมานจนกระทั่งตายในคุก [9]

ที่จริงแล้วเป็นเหล่าขันทีเองที่ลอบติดต่อร่วมมือกับเตียวก๊ก หลังจากขันทีสองคนชื่อฮองสี (封諝 เฟิงซฺวี) และสฺวีเฟิ่ง (徐奉) ถูกจับได้และถูกประหาร พระเจ้าเลนเต้ผู้ทรงพิโรธได้ตรัสตำหนิเหล่าขันทีว่า "พวกเจ้าพูดอยู่บ่อยครั้งว่าเหล่าขุนนางทำแต่ความผิด บ้างก็ถูกกักขัง บ้างก็ถูกประหาร บัดนี้ก็มีขุนนางที่พิสูจน์ตนแล้วว่ามีคุณงามความดีต่อแผ่นดิน ในขณะที่พวกเจ้าสมคบคิดกับเตียวก๊ก ใครกันแน่ที่ข้าควรประหาร" เหล่าขันทีอ้อนวอนร้องขอชีวิตและโยนความผิดให้ขันทีหวังฝู่ (王甫) และเหาลำ (侯覽 โหฺวหล่าน) ว่าเป็นผู้กระทำการ พระเจ้าเลนเต้จึงปล่อยเหล่าขันทีให้พ้นผิด [10]

การฉ้อราษฎร์บังหลวง

เตียวเหยียงมีบ่าวรับใช้หลายคนช่วยดูแลจัดการภายในบ้าน บ่าวเหล่านี้สร้างเครือข่ายกับผู้มีอิทธิพลคนอื่นและรับสินบน มีคนผู้หนึ่งชื่อเมิ่งถัว (孟佗) จากเมืองฝูเฟิง (扶風郡 ฝูเฟิงจฺวิ้น) ได้นำทรัพย์สมบัติทั้งหมดของตระกูลมาเป็นของกำนัลแก่บ่าวคนหนึ่งของเตียวเหยียง บ่าวของเตียวเหยียงเห็นเมิ่งถัวนำทรัพย์สมบัติมามอบให้ก็มีความยินดีแล้วถามเมิ่งถัวว่าต้องการสิ่งใดตอบแทน เมิ่งถัวตอบว่าต้องการพบกับเตียวเหยียง ในเวลานั้นมีผู้คนจำนวนมากที่กำลังแสวงหาหนทางเพื่อเข้าพบเตียวเหยียงซึ่งล้วนนำเกวียนที่เต็มไปด้วยของมาเป็นของกำนัลเข้าแถวเป็นแนวยาวนอกบ้านของเตียวเหยียง เมิ่งถัวมาถึงช้าจึงไม่อาจเข้าไปได้ แต่ก็ต้องประหลาดใจเมื่อบ่าวของเตียวเหยียงที่เมิ่งถัวตีสนิทด้วยได้ออกมาต้อนรับเมิ่งถัวเยี่ยงแขกผู้ทรงเกียรติแล้วสั่งคนใช้ให้พาเมิ่งถัวเข้าไปในบ้านของเตียวเหยียง แขกผู้มาเยี่ยมคนอื่นเห็นดังนั้นก็เข้าใจว่าเมิ่งถัวเป็นสหายคนสนิทของเตียวเหยียง จึงนำของกำนัลจำนวนมากมามอบให้เมิ่งถัวเพื่อประจบสอพลอ เมื่อเมิ่งถัวพบกับเตียวเหยียงในภายหลังจึงได้นำของกำนัลส่วนหนึ่งที่ได้รับมามอบให้แก่เตียวเหยียง เตียวเหยียงมีความยินดีภายหลังจึงได้ช่วยให้เมิ่งถัวได้ขึ้นมาเป็นผู้ว่าราชการ (刺史 ชื่อฉื่อ) แคว้นเลียงจิ๋ว (涼州 เหลียงโจว) [11]

ปี ค.ศ. 185 เกิดเหตุเพลิงไหม้ทางส่วนทิศใต้ของพระราชวัง สิบขันทีทูลแนะนำพระเจ้าเลนเต้ให้เก็บภาษีสิบเฉียน (錢; หน่วยน้ำหนัก) ต่อหนึ่งหมู่ (畝; หน่วยพื้นที่) ของทุกที่นาเพื่อรวบรวมเป็นทุนสำหรับก่อสร้างพระราชวังใหม่ พระเจ้าเลนเต้จึงมีพระราชโองการให้ขุนนางในเมืองไท่เหยฺวียน (太原) โฮตั๋ง (河東 เหอตง) และเต๊กโตเสีย (狄道 ตี๋เต้า) ให้ขนไม้และหินมีลวดลายเข้ามายังเมืองลกเอี๋ยง (ราชธานี) เพื่อเป็นวัสดุก่อสร้าง เมื่อวัสดุถูกจัดส่งมาถึงพระราชวัง เหล่าขันทีได้ต่อว่าคนงานที่ส่งวัสดุด้อยคุณภาพมาให้และยืนยันที่จะจ่ายด้วยราคาที่ต่ำเพียงหนึ่งในสิบของราคาตลาด จากนั้นจึงนำวัสดุเหล่านั้นมาขายให้กับขันทีคนอื่นซึ่งต่างก็ปฏิเสธที่จะซื้อ เวลาผ่านไปนานเข้า กองไม้ที่สะสมไว้ก็เริ่มผุพัง งานก่อสร้างจึงล่าช้าไปเป็นเวลาหลายปี ขุนนางท้องถิ่นบางคนจึงเรียกเก็บภาษีหนักขึ้นและบังคับราษฎรให้ผลิตวัสดุก่อสร้างที่มีคุณภาพสูงขึ้นเพื่อให้พระเจ้าเลนเต้ทรงโปรด ทำให้ราษฎรต่างไม่พอใจเป็นอันมาก[12]

พระเจ้าเลนเต้มักตรัสว่า "ขันทีจาง (เตียวเหยียง) เป็นบิดาของเรา ขันทีเจ้า (เตียวต๋ง) เป็นมารดาของเรา"[13][4] ด้วยความที่เหล่าขันทีเป็นที่ไว้วางพระทัยและได้รับการยกย่องจากพระเจ้าเลนเต้เป็นอย่างสูง เหล่าขันทีจึงประพฤติผิดจากกฎหมายบ้านเมืองและใช้อำนาจในทางมิชอบ ถึงขนาดสร้างคฤหาสน์ส่วนตนอย่างฟุ่มเพือยโดยมีลักษณะเฉกเช่นพระราชวังหลวง ครั้งหนึ่งพระเจ้าเลนเต้เสด็จเยี่ยมหอสูงหย่งอันโหฺว (永安侯臺 หย่งอันโหฺวไถ) เหล่าขันทีต่างกังวลว่าพระองค์จะทอดพระเนตรเห็นคฤหาสน์ของพวกตนและรู้สึกผิดสังเกต จึงทูลพระเจ้าเลนเต้ว่า "พระองค์มิควรเสด็จขึ้นที่สูง หาไม่แล้วราษฎรจะแตกตื่น" พระเจ้าเลนเต้ทรงเชื่อและยกเลิกการเสด็จเยี่ยมหอสูงทั้งปวง [14]

ปี ค.ศ. 186 พระเจ้าเลนเต้ทรงมอบหมายขันทีซ่งเตี่ยน (宋典) และปี้หลัน (畢嵐) ร่วมกับขุนนางคนอื่น ๆ ให้กำกับดูแลการก่อสร้างครั้งใหม่ อันได้แก่โถงพระโรงใหม่หนึ่งแห่ง รูปหล่อสำริดใหญ่สี่รูปหล่อ ระฆังสำริดใหญ่สี่ใบและรูปปั้นสัตว์พ่นน้ำได้ พระองค์ยังมีพระราชโองการให้สร้างเหรียญเงินและให้หมุนเวียนโดยกว้างขวาง หลายคนต่างเห็นว่านี่เป็นการแสดงถึงความสุรุ่ยสุร่ายของพระเจ้าเลนเต้และส่อเค้าว่าท้ายที่สุดแล้วเหรียญเงินเหล่านี้จะกระจัดกระจายไปทุกแห่งหน ซึ่งเกิดเป็นความจริงขึ้นมาเมื่อเกิดเหตุความวุ่นวายในเมืองลกเอี๋ยงหลังการสวรรคตของพระเจ้าเลนเต้ [15] พระเจ้าเลนเต้ทรงแต่งตั้งให้เตียวต๋งเป็น "ขุนพลรถรบ" (車騎將軍 เชอฉีเจียงจฺวิน) แต่หลังจากนั้นหนึ่งร้อยวันก็ทรงปลดเตียวต๋งจากตำแหน่ง [16]