การศึกษา ของ สุชีพ_ปุญญานุภาพ

ท่านสำเร็จการศึกษาเปรียญ 9 ประโยค วัดกันตมาตุยาราม ซึ่งขึ้นกับสำนักเรียนวัดเทพศิรินทราวาส ราชวรวิหาร อย่างไรก็ดี แม้ว่าท่านจะจบเปรียญ ๙ ประโยค แต่ท่านก็มีวิริยะอุตสาหะเรียนรู้วิชาสมัยใหม่อื่นๆ ด้วยตนเองเป็นหลัก จึงชำนาญหลายๆ วิชา อาทิ ภาษาอังกฤษ โหราศาสตร์ ดาราศาสตร์ ภาษาสันสกฤต และ ภาษาปรากฤต ท่านสามารถค้นวรรณคดีและพจนานุกรมภาษาเหล่านี้ได้อย่างละเอียด สำหรับภาษาสันสกฤตนั้น ท่านเป็นศิษย์ของ พระสารประเสริฐ (ตรี นาคะประทีป) ตอนหลัง ท่านได้ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จาก มหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยรามคำแหงและ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพเคยให้สัมภาษณ์ว่าบุคคลในพระพุทธศาสนาในอุดมคติที่ท่านถือเป็นแบบในการพัฒนาตนเป็นนักวิชาการทางพระพุทธศาสนาคือพระวชิรญาโณ ภิกฺขุ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ท่านเคยให้เหตุผลว่าสองท่านนี้เป็นคนไทยรุ่นบุกเบิกที่ประยุกต์พระพุทธศาสนาให้เข้ากับสังคมร่วมสมัยโดยนำเอาวิชาการสมัยใหม่มาใช้เป็นประโยชน์ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

อาจารย์สุชีพอยู่ในเพศพระภิกษุจนได้ตำแหน่งสมณศักดิ์ที่ ‘พระศรีวิสุทธิญาณ’ สมัยที่ท่านยังเป็นพระภิกษุนั้น ท่านมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วประเทศ ไม่มีใครยุคนั้นเทียบได้ ต่อมาได้ลาสิกขาสู่เพศฆราวาส ระหว่างที่ท่านลาสิกขาเมื่ออายุ 35 ปี มีพุทธศาสนิกชนจำนวนมากร้องไห้เพราะความเสียดาย หลังจากสึกหาลาเพศแล้ว ท่านเช่าห้องพักที่ถนนข้าวสาร บางลำภู ก่อนจะย้ายไปปลูกบ้านหลังใหม่บริเวณถนนสุขุมวิท

อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพได้รับการยกย่องว่าเป็นนักปราชญ์ที่สุภาพอ่อนโยน ในด้านความรู้ทางพระพุทธศาสนานั้น ท่านได้รับการยกย่องจาก ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ประธานองคมนตรีและประธานองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก ว่าเป็น พระไตรปิฎกเคลื่อนที่ หมายเลข 1 ของประเทศเพราะท่านสามารถอธิบายและตอบคำถามทาง พระพุทธศาสนา หรือหลัก พุทธธรรม ได้ทุกอย่างอย่างละเอียด พร้อมอ้างที่มาในพระไตรปิฎกให้เพื่อการค้นคว้าต่อไปอย่างแม่นยำอีกด้วย ด้วยเหตุนี้เองชาวพุทธจำนวนมากจึงได้กล่าวขานถึงท่านด้วยฉายา 'พระไตรปิฎกเคลื่อนที่' ตาม ศ.สัญญา ธรรมศักดิ์[ต้องการอ้างอิง]